ปเวณิ (บาลีวันละคำ 269)
ปเวณิ
อ่านว่า ปะ-เว-นิ (เป็น “ปเวณี” ก็มีบ้าง แต่น้อย)
ประกอบด้วย ป + วี (ธาตุ = ถัก, ทอ, สืบต่อ)+ ณี = ปเวณิ แปลตามศัพท์ว่า “การสืบต่อไปเรื่อยๆ” มีความหมายหลายนัย คือ –
1- ม้วนผม, มวยผม, ผมเปีย, ผมที่ถักยาว
2- เสื่อ หรือสิ่งทอ, เครื่องลาด
3- ประเพณี, ขนบธรรมเนียม, ความเคยชินหรือกิจวัตร, ประเพณีที่มีมานาน
4- การสืบสกุล, เชื้อสาย, พันธุ์, เชื้อชาติ
ภาษาไทยใช้คำนี้ในรูปต่างๆ คือ
– ปเวณี = ขนบธรรมเนียม, แบบแผน; เชื้อสาย, การเป็นสามีภรรยากันตามธรรมเนียม
– ประเวณี = การเสพสังวาส, การร่วมรส ในคําว่า ร่วมประเวณี; ประเพณี
– ประเพณี = สิ่งที่นิยมถือประพฤติปฏิบัติสืบ ๆ กันมาจนเป็นแบบแผน ขนบธรรมเนียม หรือจารีตประเพณี
โปรดสังเกตว่า ในภาษาบาลี “ปเวณี” ไม่ได้มีความหมายว่าร่วมเพศ
ภาษาไทยตีความว่า การสืบสกุลจะมีได้ก็โดยการร่วมเพศ จึงเรียกการร่วมเพศว่า “ร่วมประเวณี”
——-
ถาม : ร่วมประเวณีกับคนที่ไม่ใช่คู่ครองของตน ผิดปเวณี ใช่หรือไม่ ?
ตอบ : ใช่ เพราะผิดประเพณี
ถาม : ร่วมประเวณีกับคู่ครองของตน แต่มิได้มีเจตนาจะให้เกิดปเวณี (เชื้อสายสืบสกุล) ถือว่า ผิดปเวณี ใช่หรือไม่ ?
ตอบ : ไม่ใช่ เพราะเป็นประเพณี
????
บาลีวันละคำ (269)
2-2-56
ปเวณิ, ปเวณี (ศัพท์วิเคราะห์)
ปกาเรน วีนาตีติ ปเวณี ผมที่ถักไปเรื่อย, การสืบต่อไปเรื่อยๆ
ป บทหน้า วี ธาตุ ในความหมายว่าทอ ถัก สืบต่อ ณี ปัจจัย
ปเวณิ (บาลี-อังกฤษ)
ม้วนผม คือผมที่ถักเฉยๆ โดยไม่มีการตกแต่งอย่างใด
a braid of hair, i.e. the hair twisted & unadorned
เสื่อ หรือสิ่งทอ, เครื่องลาด
a mat, cover
ประเพณี, ขนบธรรมเนียม, ความเคยชินหรือกิจวัตร, ประเพณีที่มีมานาน
custom, usage, wont, tradition
การสืบสกุล, เชื้อสาย, พันธุ์, เชื้อชาติ
succession, lineage, breed, race
ปเวณิ อิต.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)
ช้องผม, ผมที่ผูกไว้หรือมวยผม;เชื้อสาย, ประเวณี, ประเพณี; เสื่อ, เครื่องลาด.
ปเวณี
[ปะ-] น. ขนบธรรมเนียม, แบบแผน; เชื้อสาย, การเป็นสามีภรรยากันตามธรรมเนียม. (ป.; ส. ปฺรเวณิ).
ประเวณี
น. การเสพสังวาส, การร่วมรส, ในคําว่า ร่วมประเวณี; ประเพณี เช่น ประเวณีตีงูให้หลังหัก มันก็มักทําร้ายเมื่อภายหลัง. (อภัย).ก. ประพฤติผิดเมียผู้อื่น เรียกว่า ล่วงประเวณี. (ส. ปฺรเวณิ; ป. ปเวณิ).
ประเพณี
น. สิ่งที่นิยมถือประพฤติปฏิบัติสืบ ๆ กันมาจนเป็นแบบแผน ขนบธรรมเนียม หรือจารีตประเพณี. (ส. ปฺรเวณิ; ป. ปเวณิ).