บาลีวันละคำ

กิตติมศักดิ์ (บาลีวันละคำ 751)

กิตติมศักดิ์

อ่านว่า กิด-ติ-มะ-สัก

ประกอบด้วย กิตติม + ศักดิ์

กิตติม” คำเดิมในบาลีเป็น “กิตฺติมา” ส่วนประกอบมาจาก กิตฺติ + มนฺตุ (ปัจจัย แทนความหมายว่า “มี”)

กิตฺติ” แปลตามศัพท์ว่า “ความดีอันเขากล่าวถึง” หมายถึง คําเล่าลือ, คําสรรเสริญ, ชื่อเสียง, เกียรติยศ, ความรุ่งโรจน์ (fame, renown, glory, honour)

กิตฺติ + มนฺตุ แปลง –นฺตุ เป็น อา : + อา = มา : กิตฺติ + มา = กิตฺติมา แปลว่า ผู้มีเกียรติ, ผู้มีชื่อเสียง, ผู้ควรแก่การยกย่อง

ศักดิ์” บาลีเป็น “สตฺติ” (สัด-ติ) สันสกฤตเป็น “ศกฺติ” แปลว่า ความสามารถ, กำลัง, อำนาจ (ability, power) ภาษาไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ศักดิ” และนิยมออกเสียงว่า “สัก” จึงสะกดเป็น “ศักดิ์

พจน.54 บอกไว้ว่า –

ศักดิ์ : (คำนาม) อํานาจ, ความสามารถ, เช่น มีศักดิ์สูง ถือศักดิ์; กำลัง; ฐานะ เช่นมีศักดิ์และสิทธิแห่งปริญญานี้ทุกประการ.”

กิตติมา + ศักดิ์ ลบสระ อา ที่ –มา (ภาษาไวยากรณ์ว่า “รัสสะ อา เป็น อะ”)

: กิตติมา > กิตติม + ศักดิ์ = กิตติมศักดิ์ แปลตามศัพท์ว่า “ความสามารถของผู้มีชื่อเสียง” หรือ “ความสามารถของผู้ควรแก่การยกย่อง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กิตติมศักดิ์ : (คำวิเศษณ์) ยกย่องเพื่อเป็นเกียรติยศ เช่น ปริญญากิตติมศักดิ์ สมาชิกกิตติมศักดิ์.”

: ปริญญาบัตรอาจหยิบยื่นให้แก่กันได้

: แต่ความสามารถและศักดิ์ศรี ต้องทำเอาเอง

——————

(เนื่องมาจากข้อความบนปกหนังสือ พิธีกรควรรู้ (พิมพ์ครั้งที่ 2) ซึ่งกำลังแจกจ่ายแก่ญาติมิตรอยู่ในเวลานี้ คำว่า “กิตติมศักดิ์” พิมพ์พลาดเป็น “กิตติมศักด์” (ไม่มีสระ อิ ที่ ด) จึงขอปลงอาบัติไว้ ณ ที่นี้)

#บาลีวันละคำ (751)

8-6-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *