บาลีวันละคำ

สัญญาบัตร (บาลีวันละคำ 752)

สัญญาบัตร

อ่านว่า สัญญาบัตร

ประกอบด้วย สัญญา + บัตร

สัญญา” บาลีเขียน “สญฺญา” ประกอบด้วย สํ (= พร้อมกัน) + ญา (ธาตุ = รู้) แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น

: สํ > สญฺ + ญา = สญฺญา มีความหมายหลายอย่าง คือ –

(1) ความรู้สึก, ความรับรู้, ความจำได้, ความหมายรู้ (sense, consciousness, perception)

(2) ความสังเกตจดจำ, ความสุขุม, ความตระหนัก (sense, perception, discernment, recognition)

(3) แนวความคิด, ความคิด, ความเข้าใจ (conception, idea, notion)

(4) สัญญาณ, กิริยาท่าทาง, เครื่องแสดง, เครื่องหมาย (sign, gesture, token, mark)

(5) ความประทับใจที่เกิดจากความรู้สึกและการจำได้, ความรู้สึกว่ามีบางสิ่งที่เหมือนกัน (เช่นเห็นคนหนึ่งแล้วนึกถึงอีกคนหนึ่ง) (sense impression and recognition)

บัตร” บาลีเป็น “ปตฺต” (ปัด-ตะ) สันสกฤตเป็น “ปตฺร” แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะร่วงหล่นโดยไม่นาน” หมายถึง ใบไม้, ใบ, แผ่น, ใบหนังสือ, จดหมาย, ลายลักษณ์อักษรทั่วไป

ปตฺต > ปตฺร ภาษาไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “บัตร

เดิมเราขีดเขียนอักษรลงบนใบไม้เพื่อใช้ส่งสารติดต่อถึงกัน ต่อมาเมื่อพัฒนาขึ้นเป็นแผ่นกระดาษ จึงเรียกกระดาษหรือสิ่งที่เป็นแผ่นใช้เขียนลายลักษณ์อักษรว่า “ปตฺตปตฺรบัตร

ในภาษาไทย คำว่า “บัตร” ใช้ต่อท้ายคำศัพท์ที่เป็นบาลีสันสกฤตด้วยกัน เช่น นามบัตร สิทธิบัตร ประกาศนียบัตร มรณบัตร อนุโมทนาบัตร

สัญญา + บัตร = สัญญาบัตร แปลตามศัพท์ว่า “หนังสือ (ที่ประกาศ) เพื่อให้จำได้

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สัญญาบัตร : (คำนาม) ใบตั้งยศ บรรดาศักดิ์ หรือสมณศักดิ์ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินทรงตั้ง เช่น นายทหารสัญญาบัตร พระราชาคณะสัญญาบัตร พระครูสัญญาบัตร, ถ้าเป็นใบที่เจ้ากระทรวงตั้ง เรียกว่า ใบประทวน”

สันนิษฐาน : ทำไมจึงเรียกว่า “สัญญาบัตร

(1) คำว่า “สัญญา” อาจตัดมาจากคำเต็มคำใดคำหนึ่งที่หมายถึงพระเจ้าแผ่นดิน หรือคำประกาศของพระเจ้าแผ่นดิน “สัญญาบัตร” = หนังสือที่แสดงคำประกาศของพระเจ้าแผ่นดิน

(2) “สัญญาบัตร” แปลได้ว่า “หนังสือที่ประกาศให้รู้” การออกหนังสือประกาศให้รู้ทั่วราชอาณาจักรเป็นพระราชอำนาจของพระเจ้าแผ่นดิน (เจ้านายหรือผู้ใหญ่อื่นๆ มีอำนาจประกาศให้รู้เฉพาะแต่กรมกองในสังกัดของตนเท่านั้น ที่ลดระดับลงมาเป็นชั้น “ประทวน”) เมื่อพระเจ้าแผ่นดินประกาศแต่งตั้งยศตำแหน่งฐานะใดๆ ให้แก่ผู้ใด ก็จะออกเป็น “สัญญาบัตร” (= หนังสือที่ประกาศให้รู้) จึงเรียกผู้นั้นว่ามียศตำแหน่งฐานะเป็นชั้น “สัญญาบัตร”

: ประทวนและสัญญาบัตร เป็นเพียงระเบียบที่จัดขึ้นในสังคม

: ความสามารถและความดี เป็นศักดิ์ศรีในสังคม

——————–

(เนื่องมาจากหนังสือ พิธีกรควรรู้ (พิมพ์ครั้งที่ 2) ซึ่งกำลังแจกจ่ายแก่ญาติมิตรอยู่ในเวลานี้ ในหน้า 173 คำว่า “พระครูสัญญาบัตร” พิมพ์ผิดเป็น “พระครูสัญญาบัติ” (-บัตร ไม่ใช่ -บัติ) จึงขอปลงอาบัติไว้ ณ ที่นี้)

#บาลีวันละคำ (752)

9-6-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *