บาลีวันละคำ

ลาสิกขาบท (บาลีวันละคำ 750)

ลาสิกขาบท

(คำที่วิปริต)

อ่านว่า ลา-สิก-ขา-บด

สิกขาบท” บาลีเป็น “สิกฺขาปท” อ่านว่า สิก-ขา-ปะ-ทะ

ประกอบด้วย สิกฺขา + ปท

สิกฺขา” มีรากศัพท์ คือ สิกฺข (ธาตุ = ศึกษา, เรียนรู้) + ปัจจัย + อา (ปัจจัยทำศัพท์ให้เป็นอิตถีลิงค์)

: สิกฺข + + อา = สิกฺขา

สิกฺขา” แปลตามศัพท์ว่า “ข้อปฏิบัติอันบุคคลพึงศึกษา” หมายถึง การศึกษา, การฝึก, สิกขาหรือวินัย (study, training, discipline)

ในภาษาไทย “สิกฺขา” นิยมใช้ตามรูปสันสกฤต คือ “ศิกฺษา” แล้วเสียงกลายเป็น “ศึกษา” และพูดทับศัพท์ว่า “ศึกษา” จนเข้าใจกันทั่วไป

ศึกษา” ในความเข้าใจทั่วไป มักหมายความเพียงแค่ “เรียนวิชาความรู้

แต่ “สิกฺขา” ในภาษาบาลีหมายถึง การฝึกฝนปฏิบัติ, การเล่าเรียนให้รู้เข้าใจและฝึกหัดปฏิบัติให้เป็นคุณสมบัติที่เกิดมีขึ้นในตนหรือให้ทำได้ทำเป็น ตลอดจนแก้ไขปรับปรุงหรือพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปจนถึงความสมบูรณ์

สำหรับบรรพชิต “สิกฺขา” หมายถึงระบบวิถีชีวิตทั้งชีวิต เช่น คฤหัสถ์บวชเป็นภิกษุ นั่นคือการเข้าสู่ระบบสิกขา คือใช้ชีวิตเยี่ยงบรรพชิตตามที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้

ปท” แปลว่า เท้า, รอยเท้า, ทาง, ตำแหน่ง, สถานที่, กรณี, หลักการ, ส่วนประกอบ (foot, footstep, track, position, place, case, principle, ingredient)

ปท” ในภาษาไทยมักใช้ทับศัพท์ว่า “บท

สิกฺขา + ปท = สิกฺขาปท > สิกขาบท

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สิกขาบท : (คำนาม) ข้อศีล, ข้อวินัย, บทบัญญัติในพระวินัยที่พึงศึกษาปฏิบัติ”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

สิกขาบท : ข้อที่ต้องศึกษา, ข้อศีล, ข้อวินัย, บทบัญญัติข้อหนึ่งๆ ในพระวินัยที่ภิกษุพึงศึกษาปฏิบัติ, ศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 ศีล 227 ศีล 311 แต่ละข้อๆ เรียกว่าสิกขาบท เพราะเป็นข้อที่จะต้องศึกษา หรือเป็นบทฝึกฝนอบรมตนของสาธุชน อุบาสก อุบาสิกา สามเณร สามเณรี ภิกษุ และภิกษุณี ตามลำดับ”

ความแตกต่างระหว่าง สิกขา กับ สิกขาบท :

– “สิกขา” คือ ระบบวิถีชีวิตทั้งปวงตามที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้

– “สิกขาบท” คือ บทบัญญัติ หรือศีลข้อหนึ่งๆ อันเป็นส่วนย่อยในสิกขา เทียบกับกฎหมาย “สิกขาบท” ก็คือ “มาตรา” แต่ละมาตราในตัวบทกฎหมายนั่นเอง

บรรพชิต เมื่อไม่สามารถอยู่ในระบบสิกขาได้ ก็มีสิทธิ์ที่จะออกไป เรียกว่า “ลาสิกขา

ลาสิกขา” มักมีผู้พูดหรือเขียนว่า “ลาสิกขาบท” ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะ “สิกขาบท” หมายถึงศีลแต่ละข้อเท่านั้น ไม่ใช่ระบบวิถีชีวิต

เช่นไม่ดื่มสุราเป็นสิกขาบทข้อหนึ่ง ถ้าภิกษุ “ลาสิกขาบท” ข้อนี้ ก็จะแปลว่าภิกษุรูปนั้นฉันสุราได้ เพราะลาสิกขาบทข้อนี้ไปแล้ว แต่ถือว่ายังเป็นพระอยู่เพราะยังไม่ได้ลาออกจากวิถีชีวิตของบรรพชิต (คือ “ลาสิกขา”)

แม้จะอธิบายว่า “ลาสิกขาบททั้งหมด” ก็ยังผิดอยู่นั่นเอง เพราะวิถีชีวิตของบรรพชิตในพระพุทธศาสนาไม่ได้มีเฉพาะ “สิกขาบท” แต่ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งรวมอยู่ในคำว่า “สิกขา” (ไม่ใช่เฉพาะ “สิกขาบท”)

อนึ่ง ในคำลาสิกขา (ลาสึก) ก็บ่งชัดเพราะกล่าวว่า “สิกฺขํ ปจฺจกฺขามิ” (สิกขัง ปัจจักขามิ) แปลว่า “ข้าพเจ้าขอลาสิกขา” ไม่ได้กล่าวว่า สิกฺขาปทํ ปจฺจกฺขามิ (ข้าพเจ้าขอลาสิกขาบท)

: ความชั่ว ไม่มีใครสั่งให้หนี

: ความดี ไม่มีใครบังคับให้ทำ

นอกจากหัวใจของตัวเอง

#บาลีวันละคำ (750)

7-6-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *