บาลีวันละคำ

เปรียญธรรม [2] (บาลีวันละคำ 1,796)

เปรียญธรรม [2]

เป็นมากกว่าการศึกษาของผู้ยากไร้

อ่านว่า ปะ-เรียน-ทำ

แยกศัพท์เป็น เปรียญ + ธรรม

(๑) “เปรียญ

มีผู้สันนิษฐานว่า คำว่า “เปรียญ” น่าจะมีที่มาจาก 2 ทาง คือ –

(1) กลายรูปและเสียงมาจากคำว่า “ปริญญา

คือ อิ ที่ –ริ– เป็น เอีย เทียบกับคำว่า “วชิรอิ ที่ –ชิ– เป็น เอีย = วเชียร > วิเชียร

: ปริญญา > ปเรียญญา แล้วกร่อนเหลือเพียง ปเรียญ > เปรียญ

ปริญญา” บาลีเขียน “ปริญฺญา” (มีจุดใต้ ญฺ เป็นตัวสะกด) แปลว่า ความกําหนดรู้, ความหยั่งรู้, ความเข้าใจ, ความรู้รอบ (knowing, recognising, understanding)

(2) เลือนมาจากคำว่า “บาเรียน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) บา : (คำนาม) ครู, อาจารย์; ชายหนุ่ม.

(2) บาเรียน : (คำนาม) ผู้เล่าเรียน, ผู้รู้ธรรม, ผู้คงแก่เรียน, เปรียญ.

: บาเรียน > บเรียน > ปเรียน > เปรียน > เปรียญ

คำว่า “เปรียญ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

เปรียญ : (คำนาม) ผู้สอบความรู้พระปริยัติธรรมสายบาลีได้ตามหลักสูตรตั้งแต่ ๓ ประโยคขึ้นไป.”

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปลคำว่า “เปรียญ” เป็นอังกฤษไว้ดังนี้ –

เปรียญ (Pariññū*, Pāliññū*) : one versed or learned in Pali studies; one who has passed the examination of any of the seven higher (3 to 9) grades of Pali studies; eccl. graduate of Pali studies; Pali graduate; Pali scholar.”

(๒) “ธรรม

บาลีเป็น “ธมฺม” (ทำ-มะ) รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ) และ ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)

: ธรฺ > + รมฺม > มฺม : + มฺม = ธมฺม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “กรรมที่ทรงไว้ซึ่งความดีทุกอย่าง” (หมายถึงบุญ)

(2) “สภาวะที่ทรงผู้ดำรงตนไว้มิให้ตกไปในอบายและวัฏทุกข์” (หมายถึงคุณธรรมทั่วไปตลอดจนถึงโลกุตรธรรม)

(3) “สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งสัตว์ผู้บรรลุมรรคเป็นต้นมิให้ตกไปในอบาย” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

(4) “สภาวะที่ทรงลักษณะของตนไว้ หรืออันปัจจัยทั้งหลายทรงไว้” (หมายถึงสภาพหรือสัจธรรมทั่วไป)

(5) “สภาวะอันพระอริยะมีโสดาบันเป็นต้นทรงไว้ ปุถุชนทรงไว้ไม่ได้” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

คำแปลตามศัพท์ที่เป็นกลางๆ “ธมฺม” คือ “สภาพที่ทรงไว้

ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –

(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม

(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า

(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม

(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม

(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม

(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ

(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ

(8) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม

เปรียญ + ธรรม = เปรียญธรรม

มีผู้อธิบายว่า คำว่า “เปรียญธรรม” เป็นคำที่พูดลัดตัดมาจากคำว่า “เปรียญผู้รู้ธรรม

คำว่า “เปรียญธรรม” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน ทั้งๆ ที่คำนี้มีใช้มานานแล้ว

…………..

ขยายความ :

การศึกษาที่เป็นพื้นฐานของพระภิกษุสามเณรในประเทศไทย คณะสงฆ์จัดไว้ 2 แผนก เรียกว่า พระปริยัติธรรมแผนกธรรม และพระปริยัติธรรมแผนกบาลี

พระปริยัติธรรมแผนกบาลีจัดระดับชั้นไว้ 9 ระดับ เรียกว่า “ประโยค” คือ ประโยค 1-2 และเปรียญธรรม 3 ประโยค ถึง เปรียญธรรม 9 ประโยค

ตั้งแต่เปรียญธรรม 3 ประโยคขึ้นไป ใช้อักษรย่อว่า “ป.ธ.” อ่านว่า “เปรียญธรรม – ประโยค” เช่น “ป.ธ.3” อ่านว่า “เปรียญธรรมสามประโยค”

พระภิกษุหรือสามเณรที่ศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีจนสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยคขึ้นไป จึงจะมีสิทธิ์ได้รับคำเรียกขานว่าเป็น “เปรียญ” ถ้าเป็นพระภิกษุจะเรียกว่า “พระมหา-” หลังจากมีพิธี “ตั้งเปรียญ” แล้วโดยพระมหากษัตริย์จะพระราชทานพัดยศให้

การตั้งเปรียญในปัจจุบัน พระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานพัดยศเฉพาะพระภิกษุและสามเณรที่สอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยคและ 9 ประโยคเท่านั้น ส่วนประโยคอื่นๆ ทรงพระกรุณาโปรดให้สมเด็จพระสังฆราชประทานพัดยศแทนพระองค์

พิธีตั้งเปรียญจะทำ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง ก่อนวันวิสาขบูชา 1 วัน (ปี 2560 คือในวันอังคารที่ 9 พฤษภาคม)

พิธีตั้งเปรียญมีศักดิ์และสิทธิ์เช่นเดียวกับพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษานั่นเอง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เปรียญธรรมงามด้วยความรู้คู่จริยาวัตร

: ปริญญาบัตรเป็นเพียงใบรับรองว่าสอบได้

9-5-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย