บาลีวันละคำ

ศรัทธาประสาทะ (บาลีวันละคำ 1,795)

ศรัทธาประสาทะ

อ่านว่า สัด-ทา-ปฺระ-สา-ทะ

ประกอบด้วย ศรัทธา + ประสาทะ

(๑) “ศรัทธา

บาลีเป็น “สทฺธา” (สัด-ทา) รากศัพท์มาจาก –

(1) สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + ธา (ธาตุ = เชื่อถือ, นับถือ) + ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น นฺ แล้วแปลง นฺ เป็น ทฺ (สํ > สนฺ > สทฺ)

: สํ > สนฺ > สทฺ + ธา = สทฺธา + = สทฺธา แปลตามศัพท์ว่า (1) “กิริยาที่เชื่อถือ” (2) “ธรรมชาติเป็นเหตุให้เชื่อถือ

(2) (ตัดมาจาก “สมฺมา” = ด้วยดี, ถูกต้อง) + นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง) + ธา (ธาตุ = มอบไว้, ฝากไว้) + ปัจจัย, แปลง นิ เป็น ทฺ

: + นิ + ธา = สนิธา + = สนิธา > สทฺธา แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติเป็นเหตุให้มอบจิตไว้ด้วยดี

สทฺธา” หมายถึง ความเชื่อ (faith)

บาลี “สทฺธา” สันสกฤตเป็น “ศฺรทฺธา

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

ศฺรทฺธา : (คำนาม) ‘ศรัทธา,’ ความเชื่อ; faith, belief.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ศรัทธา : (คำนาม) ความเชื่อ, ความเลื่อมใส, เช่น สิ้นศรัทธา ฉันมีศรัทธาในความดีของเขา บางทีก็ใช้เข้าคู่กับคำ ประสาทะ เป็น ศรัทธาประสาทะ. (คำกริยา) เชื่อ, เลื่อมใส, เช่น เขาศรัทธาในการรักษาแบบแพทย์แผนโบราณ. (ส. ศฺรทฺธา; ป. สทฺธา).”

(๒) “ประสาทะ

บาลีเป็น “ปสาท” (ปะ-สา-ทะ) รากศัพท์มาจาก (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + สทฺ (ธาตุ = ยินดี, ชื่นชม; เลื่อมใส, ผ่องใส) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ อะ ต้นธาตุเป็น อา (สทฺ > สาท)

: + สทฺ = ปสทฺ + = ปสทณ > ปสท > ปสาท แปลตามศัพท์ว่า (1) “ภาวะที่ทำให้ยินดีโดยพิเศษ” (2) “ภาวะเป็นเครื่องผ่องใสแห่งนัยน์ตา” (คือทำให้ตาผ่องใส)

ปสาท” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ความชัด, ความแจ่มใส, ความบริสุทธิ์ (clearness, brightness, purity)

(2) ความดีใจ, ความพอใจ, ความสุขหรือความครึ้มใจ, ความดี, ศรัทธา (joy, satisfaction, happy or good mind, virtue, faith)

(3) การพักผ่อน, ความสำรวมใจ, ความสงบเยือกเย็น, ความราบรื่นไม่ไหวหวั่น (repose, composure, allayment, serenity)

บาลี “ปสาท” สันสกฤตเป็น “ปฺรสาท

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ปฺรสาท น. ‘ประสาท,’ ความแจ่มใสหรือเข้าใจง่าย, ความสะอาด, ความสุกใส; ความอนุเคราะห์, ความกรุณา; ความสุข, ความอยู่เย็นเปนสุข; วสังกรม, ประศานติหรือความสงบอารมณ์; กาพย์อันรจนาตามพฤตติ์ที่งามแต่ง่าย; ไวศัทย์, ความเข้าใจง่าย; สังโยค, สมาคม; อาหารอันพึงบูชาแต่ประติมาหรือบูชาครู; clearness, cleanliness, brightness; favour, kindness; well-being, welfare; composure, calmness of mind; poetry written in an elegant but easy style; perspicuity; connection, association; food offered to an idol or to a spiritual teacher.”

ในที่นี้ภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ประสาท

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) ประสาท ๑, ประสาท– ๑ : (คำนาม) ส่วนของร่างกาย มีลักษณะคล้ายเส้นใย มีหน้าที่นําคําสั่งและความรู้สึกไปสู่หรือออกจากสมองหรืออวัยวะส่วนอื่นของร่างกาย, โดยปริยายหมายความว่า จิตใจ, ความรู้สึก. (ส. ปฺรสาท; ป. ปสาท).

(2) ประสาท ๒, ประสาท– ๒ : (คำนาม) ความเลื่อมใส. (ส. ปฺรสาท; ป. ปสาท).

…………..

อภิปราย :

ที่คำว่า “ศรัทธา” พจนานุกรมฯ บอกไว้ว่า บางทีก็ใช้เข้าคู่กับคำ ประสาทะ เป็น “ศรัทธาประสาทะ

แต่พจนานุกรมฯ ก็ไม่ได้เก็บคำว่า “ศรัทธาประสาทะ” ไว้ แม้คำว่า “ประสาทะ” (-ทะ มีสระ อะ) ก็ไม่ได้เก็บไว้เช่นกัน มีแต่ที่สะกดเป็น “ประสาท” (- ไม่มีสระ อะ)

คำว่า “ศรัทธา” เป็นอีกคำหนึ่งที่ภาษาเดิมเป็นคำนาม แต่เราเอามาใช้เป็นคำกริยา

ผู้รู้ท่านกำหนดเป็นข้อสังเกตกันมาว่า หลักคำสอนในพระพุทธศาสนานั้น เมื่อสอนเรื่อง “ศรัทธา” จะต้องมี “ปัญญา” ควบคู่ไว้ด้วยเสมอ ถือเป็นหลักว่าศรัทธากับปัญญาต้องสมดุลกัน

ศรัทธาที่ไม่มีปัญญากำกับ มักเชื่องมไป เป็นเหตุให้ถูกหลอกได้ง่าย

ปัญญาที่ไม่มีศรัทธากล่อมเกลา มักก้าวร้าวดื้อรั้น เป็นเหตุให้ปฏิเสธบุญบาปทุกอย่าง

ท่านจึงว่า ศรัทธากับปัญญาต้องสมดุลกัน

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ไม่เชื่ออย่าลบหลู่

: ไม่รู้อย่าเพิ่งเชื่อ

8-5-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย