วิสาขบูชา (บาลีวันละคำ 1,797)
วิสาขบูชา
ทำได้มากกว่าเวียนเทียน
อ่านว่า วิ-สา-ขะ-บู-ชา
แยกศัพท์เป็น วิสาข + บูชา
(๑) “วิสาข”
ศัพท์เดิมเป็น “วิสาขา” (วิ-สา-ขา) (เป็น “วิสาข” ก็มี) รากศัพท์มาจาก –
(1) วิส (ตัดมาจาก “วิสทิส” = แตกต่างกัน) + ขณฺ (ธาตุ = ทำลาย) + ณ ปัจจัย, ทีฆะ อะ ที่ (วิ)-ส เป็น อา (วิส > วิสา), ลบ ณฺ ที่สุดธาตุและ ณ ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: วิส + ขณฺ = วิสขณ + ณ = วิสขณณ > วิสขณ > วิสข > วิสาข + อา = วิสาขา แปลตามศัพท์ว่า “กลุ่มดาวที่จำแนกผลให้แตกต่างกัน”
(2) วิ (ตัดมาจาก “วิวิธ” = หลากหลาย) + สขา (เพื่อน), ทีฆะ อะ ที่ –ส-(ขา) เป็น อา (สขา > สาขา)
: วิ + สขา = วิสขา > วิสาขา แปลตามศัพท์ว่า “กลุ่มดาวที่มีเพื่อนมาก” (คือมีหลายดวงรวมกันเป็นกลุ่ม)
“วิสาขา” เป็นชื่อของดาวฤกษ์ (นกฺขตฺต – a lunar mansion) คือกลุ่มดาววิสาขา
บาลี “วิสาขา” สันสกฤตเป็น “วิศาขา” ภาษาไทยใช้เป็น “วิสาขะ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วิศาขา ๒, วิสาขะ ๑ : (คำนาม) ดาวฤกษ์ที่ ๑๖ มี ๕ ดวง เห็นเป็นรูปแขนนาง หนองลาด เหมือง หรือไม้ฆ้อง, ดาวคันฉัตร หรือ ดาวศีรษะกระบือ ก็เรียก. (ส.; ป. วิสาข, วิสาขา).”
ช่วงเวลาที่ดวงจันทร์โคจรผ่านกลุ่มดาววิสาขา จึงเรียกว่า “เดือนวิสาขะ” หรือ “เดือนวิสาขา” ที่เราแปลกันว่า เดือนหก
พจน.54 บอกไว้ว่า –
“วิสาข-, วิสาขะ ๒, วิสาขา : (คำนาม) ชื่อเดือนที่ ๖ แห่งจันทรคติ ตกราวเดือนพฤษภาคม, ถ้าในปีอธิกมาสจะตกราวเดือนมิถุนายน. (ป.).”
คำบาลีว่า “วิสาข” นั้น ภาษาไทยคำเก่าใช้ตามสันสกฤตเป็น “วิศาข” ก็มี แผลงเป็น “เวสาข” และ “ไพศาข” ก็มี
(๒) “บูชา”
บาลีเป็น “ปูชา” (ปู– ป ปลา) รากศัพท์มาจาก ปูชฺ (ธาตุ = บูชา) + อ ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: ปูชฺ + อ = ปูช + อา = ปูชา แปลตามศัพท์ว่า “การบูชา” หมายถึง การบูชา, การนับถือ, การแสดงความภักดี (honour, worship, devotional attention)
บาลี “ปูชา” ภาษาไทยใช้ว่า “บูชา” (บู– บ ใบไม้)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บูชา : (คำกริยา) แสดงความเคารพบุคคลหรือสิ่งที่นับถือด้วยเครื่องสักการะ มีดอกไม้ ธูป เทียน เป็นต้น เช่น บูชาพระ บูชาเทวดา บูชาไฟ, ยกย่องเทิดทูนด้วยความนับถือหรือเลื่อมใสในความรู้ความสามารถ เช่น บูชาวีรบุรุษ บูชาความรู้ บูชาฝีมือ; ซื้อพระพุทธรูป วัตถุมงคล หรือสิ่งที่ถือว่าขลังหรือศักดิ์สิทธิ์ เช่น พระพุทธรูปองค์นี้บูชามาเท่าไร, เช่า ก็ใช้. (ป., ส. ปูชา).”
วิสาขา (วิสาข) + ปูชา = วิสาขปูชา > วิสาขบูชา แปลตามศัพท์ว่า “การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วิสาขบูชา : (คำนาม) การบูชาในวันเพ็ญเดือน ๖ ซึ่งเป็นวันประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า, โบราณใช้ว่า วิศาขบูชา ก็มี. (ป.).”
…………..
โดยการเสนอของประเทศศรีลังกา องค์การสหประชาชาติโดยที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ — ธันวาคม พ.ศ. 2542 ได้กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็น “วันสำคัญสากล”
คำว่า “วิสาข” นั้น พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ เขียนด้วยอักษรโรมันเป็น visākha แต่คำที่องค์การสหประชาชาติใช้ สะกดเป็น Vesak ถอดเป็นอักษรไทยก็ต้องเป็น “เวสาก” นับว่าชอบกลอยู่
…………..
ดูก่อนภราดา!
: โลกเขายกย่องให้เป็นวันสำคัญทั้งที
: อย่าทำดีแค่วันเดียว
—————
หมายเหตุ:
ขอแรงญาติมิตรช่วยตรวจสอบหลักฐานที่ถูกต้องว่า วันที่องค์การสหประชาชาติลงมติให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากลนั้นเป็นวันที่เท่าไรแน่ ระหว่าง 13 ธันวาคม กับ 15 ธันวาคม ผู้เขียนบาลีวันละคำยังมึนๆ อยู่
10-5-60