บาลีวันละคำ

จุลพน (บาลีวันละคำ 2,078)

จุลพน

กัณฑ์ที่ 6 ในมหาเวสสันดรชาดก 13 กัณฑ์

อ่านว่า จุน-ละ-พน

ประกอบด้วยคำว่า จุล + พน

(๑) “จุล

บาลีเป็น “จุลฺล” อ่านว่า จุน-ละ (แผลงเป็น “จูฬ” ก็มี) รากศัพท์มาจาก จิ (ธาตุ = สะสม) + ปัจจัย, แปลง อิ ที่ จิ เป็น อุ, ซ้อน ลฺ

: จิ > จุ + = จุล + = จุลฺล แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาสะสม” หมายถึง เล็ก, น้อย, บาง, ผอม

จุลฺล” ในบาลีมิได้หมายถึงจำนวนหรือปริมาณน้อย แต่หมายถึงขนาดหรือระดับ

ถ้าดูคำแปลในพจนานุกรมบาลี-อังกฤษจะเข้าใจชัด คือ “จุลฺล” แปลว่า small, minor คำตรงข้ามก็คือ “มหา” หรือ great, major

จุลฺล” ในบาลีมักใช้คู่กับ “มหา” เป็นชื่อคัมภีร์หรือชื่อพระสูตร เช่น จุลฺลวคฺค คู่กับ มหาวคฺค, จุลฺลนิทฺเทส คู่กับ มหานิทฺเทส กับใช้ประกอบชื่อบุคคลเพื่อแสดงถึงความแตกต่างเหมือนเป็นเอกลักษณ์ เช่น จุลลปันถก คู่กับ มหาปันถก (จุลลปันถก เป็นน้อง มหาปันถก เป็นพี่)

กรณีเป็นชื่อบุคคลนี้ถ้าเทียบในภาษาไทยพอให้เข้าใจง่ายแบบขำๆ ก็อย่างเช่น ตี๋เล็ก กับ ตี๋ใหญ่

ตี๋เล็ก คือ “จุลตี๋”

ตี๋ใหญ่ ก็คือ “มหาตี๋”

บาลี “จุลฺล” ภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “จุล” แต่ยังคงอ่านว่า จุน-ละ-

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

จุล– : (คำวิเศษณ์) เล็ก, น้อย, (มักใช้นําหน้าคําสมาส) เช่น จุลศักราช จุลพน. (ป. จุลฺล).”

(๒) “พน

บาลีเป็น “วน” (วะ-นะ) รากศัพท์มาจาก วนฺ (ธาตุ = เสพ, คบหา, ส่งเสียง) + ปัจจัย

: วนฺ + = วน (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่เป็นที่เสพสุขแห่งเหล่าสัตว์” (2) “ที่เป็นที่ส่งเสียงแห่งเหล่าสัตว์” (3) “ที่อันผู้ต้องการวิเวกเสพอาศัย

วน” นักเรียนบาลีนิยมแปลกันว่า “ป่า

คำว่า “ป่า” ในภาษาไทยมักรู้สึกกันว่าเป็นสถานที่รกทึบ มีอันตรายจากสัตว์ป่า และเป็นสถานที่น่ากลัว

คำว่า “วน” ในภาษาบาลีมีความหมายดังนี้ –

(1) สถานที่อันน่ารื่นรมย์และเป็นที่เล่นกีฬา (as a place of pleasure & sport) : wood = ป่าไม้

(2) สถานที่มีอันตรายและน่าสะพรึงกลัว (as well as of danger & frightfulness) : jungle = ไพรสณฑ์

(3) สถานที่อาศัยของนักบวช มีชื่อเสียงในทางวิเวก (as resort of ascetics, noted for its loneliness) : forest = ป่าดงพงไพร

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

วน : (คำนาม) อรัณย์, ป่า; น้ำ; ที่อยู่, ที่อาศรัย, บ้าน, เรือน; น้ำตก; a forest, a wood, a grove; water; a residence, a dwelling or abode, a house; a cascade or waterfall.”

บาลี “วน” ในภาษาไทยแผลง เป็น ตามหลักนิยม ใช้เป็น “พน” อ่านว่า พน แต่ถ้าเป็นส่วนหน้าของสมาสอ่านว่า พะ-นะ-

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

พน, พน– : (คำนาม) ป่า, พง, ดง. (ป., ส. วน).”

จุลฺล + วน = จุลฺลวน (จุน-ละ-วะ-นะ) แปลว่า “ป่าเล็ก

จุลฺลวน” ใช้ในภาษาไทยเป็น “จุลพน” (จุน-ละ-พน)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

จุลพน : (คำนาม) ชื่อกัณฑ์ที่ ๖ ของมหาชาติ.”

ขยายความ :

จุลพน” เป็นชื่อกัณฑ์ที่ 6 ของมหาเวสสันดรชาดก

ในคัมภีร์ชาดก (พระไตรปิฎกเล่ม 28 ข้อ 1139-1143 หน้า 402-405) เรียกชื่อกัณฑ์นี้ว่า “จุลฺลวนวณฺณนา” (ดูภาพประกอบ) แต่ภาษาไทยตัดสั้นเหลือแค่ “จุลฺลวน” แล้วแผลงเป็น “จุลพน

เรื่องราวในกัณฑ์ “จุลพน” ว่าด้วยพรานเจตบุตรอันกรุงเจตราษฎร์ตั้งให้เป็นนายด่านประตู่ป่าพบชูชกกำลังจะเข้าป่าไปหาพระเวสสันดรก็สกัดไว้ แต่ถูกชูชกลวงว่าตนเป็นทูตจากกรุงสีพีนำสารมาทูลเชิญพระเวสสันดรเสด็จคืนพระนครก็หลงเชื่อ ต้อนรับชูชกเป็นอันดี ให้บริโภคโภชนาหารแล้วยังจัดหาเสบียงให้เดินทางต่อไปอีกด้วย เจตบุตรเป็นมัคคุเทศก์นำชมป่าและชี้ทางต่อไปยังเขาวงกต

เนื้อหาตลอดทั้งกัณฑ์เป็นการพรรณนาชมป่าเขาลำเนาไพร แต่ตลอดระยะทางในเขตรับผิดชอบของพรานเจตบุตรเป็นป่าขนาดย่อมๆ หรืออีกนัยหนึ่งเป็นการพรรณนาอย่างย่อๆ จึงได้ชื่อกัณฑ์ว่า “จุลพน

สำนวนชมป่าในกัณฑ์ “จุลพน” มีเป็นประการใด เชิญอ่านได้จากภาพประกอบ

ข้อสังเกต :

ดูตามท้องเรื่อง มักจะพูดกันว่า พรานเจตบุตรเสียท่าถูกชูชกหลอก แต่นักวิจารณ์มองลึกกว่านั้น คือมองว่ากรุงเจตราษฎร์คงไม่ตั้งคนเซ่อๆ ซ่าๆ ให้เป็นนายด่านประตูป่าซึ่งมีภารกิจสำคัญยิ่งยวดอันเกี่ยวกับความปลอดภัยของบ้านเมือง

อันที่จริงแล้ว พรานเจตบุตรฉลาดมาก อาจเรียกได้ว่าฉลาดกว่าชูชกเสียอีก คืออ่านเกมออกว่าชูชกจะไปหาพระเวสสันดรทำไม ซ้ำยังอ่านแผนต่อไปได้อย่างลึกซึ้งว่า ถ้าชูชกไปขอสองกุมารได้สำเร็จ จะส่งผลกระทบทำให้พระเวสสันดรได้กลับเข้าบ้านเมืองได้อย่างแน่นอน

เจตบุตรเป็นพันธมิตรกับพระเวสสันดรอยู่แล้ว จึงแสร้งทำเป็นโง่ เชื่อคำลวง เสมือนว่าตกเป็นเครื่องมือของชูชก

อันที่จริงชูชกต่างหากที่ตกเป็นเครื่องมือของพรานเจตบุตร คือถูกพรานเจตบุตรส่งไปเป็นผู้ปฏิบัติการให้แผนช่วยพระเวสสันดรกลับเมืองดำเนินไปได้ด้วยดี โดยที่ชูชกก็ไม่รู้ตัวว่าถูกหลอก หลงคิดว่าตัวหลอกพรานเจตบุตรได้สำเร็จ

……..

กัณฑ์ที่ 6 จุลฺลวนวณฺณนา 35 พระคาถา

เพลงประจำกัณฑ์: เพลงคุกพาทย์

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ฉลาดแท้ต้องใจเย็น

: และโง่เป็นเมื่อถึงเวลา

#บาลีวันละคำ (2,078)

19-2-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย