บาลีวันละคำ

มหาพน (บาลีวันละคำ 2,079)

มหาพน

กัณฑ์ที่ 7 ในมหาเวสสันดรชาดก 13 กัณฑ์

อ่านว่า มะ-หา-พน

ประกอบด้วยคำว่า มหา + พน

(๑) “มหา” (มะ-หา)

รูปคำเดิมในบาลีเป็น “มหนฺต” (มะ-หัน-ตะ) รากศัพท์มาจาก มหฺ (ธาตุ = เจริญ) + อนฺต ปัจจัย

: มหฺ + อนฺต = มหนฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายตัว” มีความหมายว่า ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต; มาก; สำคัญ, เป็นที่นับถือ (great, extensive, big; much; important, venerable)

มหนฺต” เป็นคำเดียวกับที่ใช้ในภาษาไทยว่า “มหันต์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มหันต-, มหันต์ : (คำวิเศษณ์) ใหญ่, มาก, เช่น โทษมหันต์. (เมื่อเข้าสมาสกับศัพท์อื่น เป็น มห บ้าง มหา บ้าง เช่น มหัคฆภัณฑ์ คือ สิ่งของที่มีค่ามาก, มหาชน คือ ชนจำนวนมาก). (ป.).”

ในที่นี้ มหันต– เข้าสมาสกับ –พน เปลี่ยนรูปเป็น “มหา

(๒) “พน

บาลีเป็น “วน” (วะ-นะ) รากศัพท์มาจาก วนฺ (ธาตุ = เสพ, คบหา, ส่งเสียง) + ปัจจัย

: วนฺ + = วน (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่เป็นที่เสพสุขแห่งเหล่าสัตว์” (2) “ที่เป็นที่ส่งเสียงแห่งเหล่าสัตว์” (3) “ที่อันผู้ต้องการวิเวกเสพอาศัย

วน” นักเรียนบาลีนิยมแปลกันว่า “ป่า

คำว่า “ป่า” ในภาษาไทยมักรู้สึกกันว่าเป็นสถานที่รกทึบ มีอันตรายจากสัตว์ป่า และเป็นสถานที่น่ากลัว

คำว่า “วน” ในภาษาบาลีมีความหมายดังนี้ –

(1) สถานที่อันน่ารื่นรมย์และเป็นที่เล่นกีฬา (as a place of pleasure & sport) : wood = ป่าไม้

(2) สถานที่มีอันตรายและน่าสะพรึงกลัว (as well as of danger & frightfulness) : jungle = ไพรสณฑ์

(3) สถานที่อาศัยของนักบวช มีชื่อเสียงในทางวิเวก (as resort of ascetics, noted for its loneliness) : forest = ป่าดงพงไพร

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

วน : (คำนาม) อรัณย์, ป่า; น้ำ; ที่อยู่, ที่อาศรัย, บ้าน, เรือน; น้ำตก; a forest, a wood, a grove; water; a residence, a dwelling or abode, a house; a cascade or waterfall.”

บาลี “วน” ในภาษาไทยแผลง เป็น ตามหลักนิยม ใช้เป็น “พน” อ่านว่า พน แต่ถ้าเป็นส่วนหน้าของสมาสอ่านว่า พะ-นะ-

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

พน, พน– : (คำนาม) ป่า, พง, ดง. (ป., ส. วน).”

มหา + วน = มหาวน (มะ-หา-วะ-นะ) แปลว่า “ป่าใหญ่

มหาวน” ใช้ในภาษาไทยเป็น “มหาพน” (มะ-หา-พน)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มหาพน : (คำนาม) ชื่อกัณฑ์ที่ ๗ ของมหาชาติ ว่าด้วยเรื่องป่า.”

ขยายความ :

มหาพน” เป็นชื่อกัณฑ์ที่ 7 ของมหาเวสสันดรชาดก

ในคัมภีร์ชาดก (พระไตรปิฎกเล่ม 28 ข้อ 1144-1157 หน้า 405-414) เรียกชื่อกัณฑ์นี้ว่า “มหาวนวณฺณนา” (ดูภาพประกอบ) แต่ภาษาไทยตัดสั้นเหลือแค่ “มหาวน” แล้วแผลงเป็น “มหาพน

เรื่องราวในกัณฑ์ “มหาพน” ว่าด้วยชูชกลาพรานเจตบุตรออกเดินทางต่อไป จนถึงอาศรมของอัจจุตฤๅษีตามที่พรานเจตบุตรแนะนำ อัจจุตฤๅษีก็ต้อนรับชูชกเป็นอันดี ชูชกหลอกอัจจุตฤๅษีว่าคุ้นเคยกับพระเวสสันดร คิดถึงจึงตั้งใจจะไปเยี่ยมเยียน อัจจุตฤๅษีก็ทำหน้าที่มัคคุเทศก์นำชมป่าและชี้ทางต่อไปยังอาศรมบทที่พระเวสสันดรประทับ

เนื้อหาตลอดทั้งกัณฑ์เป็นการพรรณนาชมป่าเขาลำเนาไพรทำนองเดียวกับกัณฑ์จุลพน ตลอดระยะทางที่อัจจุตฤๅษีชี้ชวนให้ชูชกชมเป็นป่าที่มีบริเวณกว้างใหญ่ หรืออีกนัยหนึ่งเป็นการพรรณนาอย่างละเอียด จึงได้ชื่อกัณฑ์ว่า “มหาพน

สำนวนชมป่าในกัณฑ์ “มหาพน” มีเป็นประการใด เชิญอ่านได้จากภาพประกอบ

ข้อสังเกต :

ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดกนั้น ว่ากันว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรสตั้งพระทัยว่าจะทรงนิพนธ์ขึ้นใหม่ให้ครบทั้ง 13 กัณฑ์ แต่เมื่อได้ทรงตรวจสำนวนร่ายยาวของเดิมที่มีอยู่ในเวลานั้น ทรงเห็นว่าบางกัณฑ์สำนวนเดิมวิเศษอยู่แล้ว ถึงจะทรงนิพนธ์ขึ้นใหม่ก็คงสู้ไม่ได้ จึงทรงเว้นไว้ถึง 6 กัณฑ์ คือ ทานกัณฑ์ ชูชก มหาพน กุมาร มัทรี และมหาราช

กัณฑ์มหาพนนี้จดกันไว้ว่า “ความพระเทพโมลี (กลิ่น)” คือเป็นสำนวนของพระเทพโมลี (กลิ่น) แต่งไว้

สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรสไม่ทรงหาญสู้กัณฑ์มหาพนของเดิม แต่ก็ทรงนิพนธ์กัณฑ์จุลพนขึ้นใหม่

แต่กัณฑ์จุลพนกับกัณฑ์มหาพนเป็นบทพรรณนาป่าเหมือนกัน สำนวนใน 2 กัณฑ์นี้จึงมีลีลาเหมือนกับจะประชันกันอยู่ในที

ผู้เขียนบาลีวันละคำขอแนะนำญาติมิตรให้พยายามอ่านเทียบกันทั้ง 2 กัณฑ์เพื่อศึกษาว่าสำนวนเดิมกับสำนวนใหม่มีลีลาเป็นอย่างไร

ในที่นี้จะขอคัดสำนวนที่พรรณนาถึงสถานที่เดียวกันในกัณฑ์ทั้ง 2 มาเทียบกันดูเพื่อให้เห็นลีลาเป็นที่บันเทิงใจพอเป็นตัวอย่าง ดังนี้ –

กัณฑ์จุลพน : หน้า 140-142

มหาพฺรเหฺม ดูกรมหาพราหมณ์พฤฒาเฒ่าผู้ถือสาส์น เอส เมาะ เอโส ปพฺพโต อันว่าเขาหิมพานต์ภูมิพนัสบรรพตพิสัยสูงเสมอเมฆ เสโล เมาะ เสลมโย เทียรย่อมศิลาลายแลอดิเรกอร่ามรุ่ง ราวกับรายรัตนมณีนพเก้าแกมเกิดกับก้อนผา บ้างก็เรื่อเรืองเหลืองบุศยโมราจรัสจรูญร่วงเป็นสีรุ้งพุ่งพ้นอัมพรพื้นนภากาศ บ้างก็เด่นแดงเป็นแสงดาดดุจดวงประพาฬเพชรประภัสสร ที่สีแสดก็สอดซ้อนสลับซับกับส่านเสน มรกตพุกามแกมกับโกเมนเห็นพิจิตรดังเจียระไนอุไรเรียบ ไพฑูรย์ทับทิมประเทืองเทียบปัทมราชรัตนนิลแนมแกมพลอยผลึกเลื่อมเมลืองแสง ที่เขียวขาบก็คาบแข่งขจิตขจาย บ้างเป็นสีอัญชนะช่อวิเชียรฉายโชติช่วงชัชวาลวาว ประดุจดาวประกายพรึกพรายพร้อยประพร่างพรับ เมื่อต้องแสงสุริยะก็ระยับวับวาบเป็นวุ้งแวววามวาวสว่างตา ที่ผุดเผินเป็นแผ่นผาภูตระเพิงพอก บางแห่งเห็นนี่ก็เงื้อมงอกเป็นแง่ง้ำงุ้มชะโงกชะงันหงาย ลางเหล่าทลายลิลั่นสะบั้นบิ่นหินเห็นกระเด็นเดาะ เหมือนบุคคลมาเข่นเคาะเราะร่อร่อนให้หรอร่อย เป็นรอยรานร้าวระคายควรจะพิศวง ที่เวิ้งวุ้งชะวากวงเวียนไศลไตรตรวยห้วยหุบคูหาเหว เห็นเป็นปล่องเปลวโปร่งปลอดตลอดแลละลิบละลานตา ที่ภาคพื้นเป็นน้ำผาพุพุ่งฟุ้งขจายเป็นสายโปรย ดุจไขสุหร่ายโรยร่วงเป็นเรณูน่าสรงสนาน ที่หินห้อยย้อยยานเป็นน้ำหยัดหยาดหยดยะเยือกเย็นอย่างอมฤตยวารี ในท้องถ้ำนั้นก็เป็นแท่นที่รโหฐานกาญจนแก้วเก็จประกอบกัน เป็นหลั่นล้วนมโนศิลาลาด ย่อมเป็นที่อาศัยไกรสรสิงหราชเริงแรง แสนสนุกทุกหนแห่งห้องเหมหิรัญรัตนไพโรจน์ เป็นที่ภิรมยปราโมทย์อมรพิมานมรุคณานิกรปีศาจสิง ทุกมิ่งไม้บรรดามีในคิรียประเทศ พิเศษทรงทศเสาวคนธ์คันธขจรขจายฟุ้งจรุงใจเป็นอาจิณ คนฺธมาทโน จึงเรียกนามชื่อศีขรินทร์คันธมาทน์บรรพต เหตุปรากฏกอปรด้วยไม้หอมสิบประการมี เชิญธชีจงครรไลเลียบระเบียบไม้ละเมาะมุ่งภิมุขมาดหมายอย่าเหม่อเมิน โดยทิศอุดรเดินข้างเฉียงเหนือสำเหนียกไป

กัณฑ์มหาพน : หน้า 156-157

พฺรเหฺม ดูกรมหาพราหมณ์พรหมบุตรบรรพชาชาติทิชงคพิสัย เอส เสโล แลถนัดในเบื้องหน้านั้นก็เขาใหญ่ยอดเยี่ยมโพยมอย่างพะยับเมฆ มีพรรณเขียวขาวแดงดูอดิเรกดังรายรัตนนพมณีแนมน่าใคร่ชม ครั้งแสงพระสุริยะส่องระดมก็ดูเด่นดังดวงดาววาวแวววะวาบๆ ที่เวิ้งวุ้ง วิจิตรจำรัสจำรูญรุ่งเป็นสีรุ้งพุ่งพ้นเพียงคัคนัมพรพื้นนภากาศ บ้างก็เกิดก่อก้อนประหลาดศิลาลายแลละเลื่อมๆ ที่งอกง้ำเป็นแง่เงื้อมก็ชะงุ้มชะโงกชะง่อนผาที่ผุดเผินเป็นแผ่นภูตะเพิงพัก บางแห่งเล่าก็เหี้ยนหักหินเห็นเป็นรอยร้าวรานระคายควรจะพิศวง ด้วยธารอุทกที่ตกลงเป็นหยาดหยัดหยดย้อยเย็นเป็นเหน็บหนาว ในท้องถ้ำที่สถิตไกรสรราชสถาน บังเกิดแก้วเก้าประการกาญจนประกอบกัน ตลอดโล่งโปร่งปล่องเป็นช่องชั้นวิเชียรฉายโชติช่วงชัชวาลสว่างตา แสนสนุกในห้องเหมคูหาทุกหนแห่งรโหฐาน เป็นที่เสพอาศัยสำราญแห่งสุรารักษ์รากษสสรรพปีศาจมากกว่าหมื่นแสน สะพรั่งพฤกษ์พิมานแมนทุกหมู่ไม้บรรดามีในเขานั้น ย่อมทรงทศพิธสุคันธขจรอาจจะจับใจเป็นอาจิณ คนฺธมาทโน จึงเรียกนามว่าศีขรินทร์คันธมาทน์มหิมา เหตุประดับด้วยพฤกษาทรงสุคนธรสชาติสิบประการมี เชิญธชีจงไต่เต้าตามตีนเขาข้างอุตราภิมุขเขม้นหมายเฉียงเหนืออย่านอนใจ

……..

กัณฑ์ที่ 7 มหาวนวณฺณนา 80 พระคาถา

เพลงประจำกัณฑ์: เพลงเชิดกลอง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ป่าใหญ่ป่าเล็กไม่เคยทำให้โลกรก

: คนใจสกปรกนั่นแหละที่รกโลก

#บาลีวันละคำ (2,079)

20-2-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย