บาลีวันละคำ

มุทิตา – นางมณโฑไม่ต้องมานะจ๊ะ (บาลีวันละคำ 4,066)

มุทิตา – นางมณโฑไม่ต้องมานะจ๊ะ

วิธีจำแบบสนุกๆ เพื่อเขียนไม่ผิด

คำว่า “มุทิตา” –ทิ– ใช้ ทหาร ไม่ใช่ ฑ มณโฑ

มุทิตา” เป็นรูปคำบาลี อ่านว่า มุ-ทิ-ตา มีรากศัพท์มา 2 นัย คือ – 

(1) มุทฺ (มุ-ทะ, ธาตุ = ยินดี, เบิกบาน) + อิ อาคม + ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: มุทฺ + อิ + = มุทิต + อา = มุทิตา แปลตามศัพท์ว่า “กิริยาที่ยินดี” หมายถึง ชื่นชม, ยินดี, พอใจ (pleased, glad, satisfied)

ความหมายตามนัยนี้ ถ้าเป็นคุณศัพท์ มีความหมายว่า มีใจชื่นชม, มีใจปราโมทย์, ดีใจ (with gladdened heart, pleased in mind)

(2) มุทุ (อ่อนโยน) + ตา ปัจจัย, แปลง อุ ที่ (มุ)-ทุ เป็น อิ (มุทุ > มุทิ)

: มุทุ + ตา = มุทุตา > มุทิตา แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นผู้อ่อนโยน” หมายถึง ความมีใจอ่อน, ความกรุณา, ความเห็นอกเห็นใจ (soft-heartedness, kindliness, sympathy) 

ความหมายตามนัยนี้ ในทางปฏิบัติก็คือ ใครจะสุขหรือจะทุกข์ ก็รู้สึกเป็นพวกเดียวกัน ถ้าสุขก็พลอยยินดี ถ้าทุกข์ก็พลอยเดือดร้อนใจไปด้วย

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกความหมายของ “มุทิตา” ไว้ว่า –

…………..

มุทิตา : ความพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี, เห็นผู้อื่นอยู่ดีมีสุข ก็แช่มชื่นเบิกบานใจด้วย เห็นเขาประสบความสำเร็จเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป ก็พลอยยินดีบันเทิงใจ พร้อมที่จะส่งเสริมสนับสนุน ไม่กีดกันริษยา; ธรรมตรงข้ามคือ อิสสา (ข้อ ๓ ในพรหมวิหาร ๔).

…………..

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มุทิตา : (คำนาม) ความมีจิตพลอยยินดีในลาภยศสรรเสริญสุขของผู้อื่น เป็น ๑ ในพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา. (ป.).”

ขยายความ :

มุทิตา” เป็นธรรมข้อที่ 3 ในพรหมวิหาร 4

พึงทราบความหมายของพรหมวิหารทั้ง 4 ข้อ ตามที่แสดงไว้ในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [161] ดังนี้ –

…………..

1. เมตตา ความรัก ปรารถนาดีอยากให้เขามีความสุข มีจิตอันแผ่ไมตรีและคิดทำประโยชน์แก่มนุษย์สัตว์ทั่วหน้า

2. กรุณา ความสงสาร คิดช่วยให้พ้นทุกข์ ใฝ่ใจในอันจะปลดเปลื้องบำบัดความทุกข์ยากเดือดร้อนของปวงสัตว์ 

3. มุทิตา ความยินดี ในเมื่อผู้อื่นอยู่ดีมีสุข มีจิตผ่องใสบันเทิง กอปรด้วยอาการแช่มชื่นเบิกบานอยู่เสมอ ต่อสัตว์ทั้งหลายผู้ดำรงในปกติสุข พลอยยินดีด้วยเมื่อเขาได้ดีมีสุข เจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป

4. อุเบกขา ความวางใจเป็นกลาง อันจะให้ดำรงอยู่ในธรรมตามที่พิจารณาเห็นด้วยปัญญา คือมีจิตเรียบตรงเที่ยงธรรมดุจตราชู ไม่เอนเอียงด้วยรักและชัง พิจารณาเห็นกรรมที่สัตว์ทั้งหลายกระทำแล้ว อันควรได้รับผลดีหรือชั่ว สมควรแก่เหตุอันตนประกอบ พร้อมที่จะวินิจฉัยและปฏิบัติไปตามธรรม รวมทั้งรู้จักวางเฉยสงบใจมองดู ในเมื่อไม่มีกิจที่ควรทำ เพราะเขารับผิดชอบตนได้ดีแล้ว เขาสมควรรับผิดชอบตนเอง หรือเขาควรได้รับผลอันสมกับความรับผิดชอบของตน

…………..

อภิปราย : 

คำว่า “มุทิตา” (-ทิ– ท ทหาร) นี้ ยังมีคนชอบเขียนผิดเป็น “มุฑิตา” (-ฑิ– ฑ มณโฑ) กันอยู่ทั่วไป แบบ-ไม่ยอมรับรู้อะไร ไม่อ่าน ไม่ฟังคำอธิบายชี้แจงใดๆ ยึดความเข้าใจของตัวเองเป็นเกณฑ์ 

ไม่ทราบว่าไปเอาความเข้าใจผิดๆ มาจากไหนว่า มุทิตา ใช้ ฑ มณโฑ 

อาจจะอ้างว่า ก็-เห็นใครๆ เขาเขียนกันอย่างนี้ คือเห็นใครๆ เขาสะกดเป็น “มุฑิตา” (-ฑิ– ฑ มณโฑ)

ส่วนที่ใครๆ เขาเขียนถูก สะกดถูกเป็น “มุทิตา” (-ทิ– ท ทหาร) มีอยู่ทั่วบ้านทั่วเมือง กลับมองไม่เห็น ไม่เอาไปเป็นตัวอย่าง 

สะกดถูก ไม่เอาไปอ้างเป็นตัวอย่าง

สะกดผิด กลับเอาไปอ้างเป็นตัวอย่าง

ชอบกลแท้ๆ

ผู้เขียนบาลีวันละคำขอเสนอแนะว่า ทุกครั้งที่จะเขียนคำว่า “มุทิตา” ให้ท่องออกมาว่า “มุทิตา – นางมณโฑไม่ต้องมานะจ๊ะ” 

หรือจะท่องไว้เสมอๆ ให้ติดปากได้ก็ยิ่งดี เขียนทุกทีจะได้ไม่ผิด

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เขียนผิดก็มีมุทิตาได้

: แต่มีมุทิตาด้วย เขียนถูกด้วย ดีกว่านะจ๊ะ

#บาลีวันละคำ (4,066)

31-7-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *