บาลีวันละคำ

นวัตวิถี (บาลีวันละคำ 2,342)

นวัตวิถี

เส้นทางสายใหม่

นวัตวิถี” เป็นคำเกิดใหม่ ยังไม่มีในพจนานุกรมฯ เมื่อเทียบกับคำว่า “นวัตกรรม” คำนี้น่าจะอ่านว่า นะ-วัด-ตะ-วิ-ถี

คำว่า “นวัตกรรม” พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกคำอ่านไว้ แต่คนทั่วไปอ่านกันว่า นะ-วัด-ตะ-กำ

แต่ “นวัตวิถี” คงมีคนที่ “รักง่าย” อ่านว่า นะ-วัด-วิ-ถี (ไม่มี -ตะ-) และเมื่อมีคนรักง่ายอ่านเช่นนี้กันมากๆ พจนานุกรมฯ ก็คงจะต้องบอกว่า “นวัตวิถี” อ่านว่า นะ-วัด-ตะ-วิ-ถี ก็ได้ อ่านว่า นะ-วัด-วิ-ถี ก็ได้ อันเป็นบุคลิกอย่างหนึ่งของพจนานุกรมฯ ของเรา คือคำที่อ่านผิดนั่นเองถ้ามีคนอ่านผิดกันมากๆ ท่านก็ยอมรับว่าเป็นการอ่านถูก โดยท่านเรียกอย่างไพเราะเพราะพริ้งว่า “อ่านตามความนิยม

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

นวัตกรรม : (คำนาม) การกระทำหรือสิ่งที่ทำขึ้นใหม่หรือแปลกจากเดิมซึ่งอาจจะเป็นความคิด วิธีการ หรืออุปกรณ์ เป็นต้น. (ป. นวตา + ส. กรฺม; อ. innovation).”

เมื่อเทียบกับ “นวัตกรรม” ที่พจนานุกรมฯ บอกว่ามาจาก “นวตา” ในบาลี + “กรฺม” ในสันสกฤต “นวัตวิถี” ก็ต้องมาจาก นวตา + วิถี

(๑) “นวตา” อ่านว่า นะ-วะ-ตา รากศัพท์มาจาก นว + ตา ปัจจัย

(ก) “นว” (นะ-วะ) รากศัพท์มาจาก นุ (ธาตุ = ชื่นชม) + ปัจจัย, แผลง อุ ที่ นุ เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อว (นุ > โน > นว)

: นุ > โน > นว + = นว แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันคนชื่นชม

นว” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ใหม่, สด; ยังไม่ช้ำหรือเสื่อมเสีย, สะอาด, เร็ว ๆ นี้, ที่ได้มาหรือปฏิบัติเมื่อเร็ว ๆ นี้เอง (new, fresh; unsoiled, clean; of late, lately acquired or practiced)

(2) หนุ่ม, ยังไม่มีความชำนาญ, ไม่มีประสบการณ์; สามเณร (young, unexperienced, newly initiated; a novice)

หมายเหตุ : ในบาลีมีคำว่า “นว” รูปคำเหมือนกันอีกคำหนึ่ง แปลว่า เก้า (จำนวน 9)

(ข) นว + ตา (ปัจจัยในภาวตัทธิต แปลว่า “ความเป็น-”)

: นว + ตา = นวตา (นะ-วะ-ตา) แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นสิ่งใหม่” หรือ “ความแปลกใหม่

(๒) “วิถี

บาลีเป็น “วีถิ” (โปรดสังเกต ไทยกับบาลีสลับสระกัน ไทย-วิถี บาลี-วีถิ) รากศัพท์มาจาก วี (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ถิ ปัจจัย

: วี + ถิ = วีถิ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ดำเนินไป” หมายถึง ถนน, หนทาง, วิถี, ทางเดิน, รอยทาง (street, way, road, path, track)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วิถี : (คำนาม) สาย, แนว, ถนน, ทาง, มักใช้ประกอบกับคำอื่น เช่น วิถีทาง วิถีชีวิต บาทวิถี. (ป., ส. วีถิ).”

นวตา + วีถิ รัสสะ อา ที่ ตา เป็น อะ (ตา > )

: นวตา + วีถิ = นวตาวีถิ > นวตวีถิ (นะ-วะ-ตะ-วี-ถิ) แปลตามศัพท์ว่า “หนทางอันเป็นความใหม่

นวตวีถิ” ในภาษาไทย :

นวต-” ออกเสียงเป็น นะ-วัด จึงสะกดเป็น “นวัต-”

“-วีถิ” สลับเสียงเป็น “-วิถี

: นวตวีถิ > นวัตวิถี หมายถึง เส้นทางสายใหม่, ทางดำเนินชีวิตแบบใหม่, วิถีชีวิตแบบใหม่, สิ่งใหม่ๆ ที่เข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิต

ผู้เขียนบาลีวันละคำยังไม่ได้สืบค้นว่า ผู้บัญญัติคำว่า “นวัตวิถี” มีเจตนาจะให้คำนี้มีความหมายว่าอย่างไร หรือบัญญัติขึ้นจากคำอังกฤษว่าอย่างไร ที่แสดงความหมายไว้ข้างต้นนั้นจึงเป็นความเข้าใจส่วนตัว ขอท่านผู้รักความรู้โปรดสืบค้นต่อไป

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ของเก่าก็ไม่คิดจะรักษา

: ของใหม่ก็ไม่มีปัญญาจะสร้างสรรค์

: วันหนึ่งเถอะวันหนึ่งจะถึงวัน

: เหลือแต่ตัวไส้ตันอยู่โตงเตง

#บาลีวันละคำ (2,342)

10-11-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *