อัจฉริยะ (บาลีวันละคำ 1,688)
อัจฉริยะ
อ่านว่า อัด-ฉะ-ริ-ยะ
“อัจฉริยะ” บาลีเขียน “อจฺฉริย” อ่านว่า อัด-ฉะ-ริ-ยะ เช่นเดียวกับในภาษาไทย
“อจฺฉริย” รากศัพท์มาจาก –
(1) อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ, รัสสะ อา เป็น อะ (อา > อ), แปลง จรฺ เป็น จฺฉริย
: อา + จรฺ = อาจรฺ + กฺวิ = อาจรกฺวิ > อาจร > อจร > อจฺฉริย แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันบุคคลพึงประพฤติให้ยิ่ง”
(2) อจฺฉร (นิ้วมือ) + อิย ปัจจัย
: อจฺฉร + อิย = อจฺฉริย แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ควรดีดนิ้วให้”
“อจฺฉริย” หมายถึง อัศจรรย์, แปลก, ประหลาด, น่าพิศวง (wonderful, surprising, strange, marvelous)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความเห็นว่า “อจฺฉริย” ตามตัวหนังสือมีความหมายว่า that which happens without a moment’s notice, at the snap of a finger (สิ่งซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าสักนิดเลย, ชั่วดีดนิ้วมือ)
บาลี “อจฺฉริย” สันสกฤตเป็น “อาศฺจรฺย”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“อาศฺจรฺยฺย, อาศฺจรฺย : (คำคุณศัพท์) อัศจรรย์, ปลาด; astonishing, wonderful; – (คำนาม) ความอัศจรรย์, ความปลาด; astonishment, surprise.”
“อจฺฉริย” ในภาษาไทย ใช้อิงสันสกฤตเป็น “อัศจรรย์” ก็มี
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อัศจรรย์ : (คำวิเศษณ์) แปลก, ประหลาด. (คำนาม) ปรากฏการณ์อันเนื่องแต่บุญญาภินิหารของพระโพธิสัตว์และพระพุทธเจ้า เช่นเมื่อพระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้แสดงปฐมเทศนา ปลงอายุสังขาร และปรินิพพาน จะมีความหวั่นไหวปั่นป่วนของโลกธาตุบังเกิดขึ้น. (ส. อาศฺจรฺย; ป. อจฺฉริย).”
ใช้แบบบาลีเป็น “อัจฉริยะ” ก็มี
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อัจฉริย-, อัจฉริยะ : (คำวิเศษณ์) วิเศษน่าอัศจรรย์, มีความรู้ความสามารถเกินกว่าระดับปรกติมาก. (ป.; ส. อาศฺจรฺย).”
…………..
อภิปราย :
“อจฺฉริย” แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “สิ่งอันบุคคลพึงประพฤติให้ยิ่ง” หมายความว่า ปกติกิริยาอาการเป็นแบบหนึ่ง แต่พอมี “อจฺฉริย” เกิดขึ้น กิริยาอาการเปลี่ยนเป็นยิ่งกว่าปกติ
(2) “สิ่งที่ควรดีดนิ้วให้” คำแปลนี้ไทยกับฝรั่งมองต่างกัน
– ไทยตีความเป็น “ยกนิ้วให้” คือยอดเยี่ยม ดีเลิศกว่าธรรมดาสามัญ
– ส่วนฝรั่งแปลว่า at the snap of a finger. “สิ่งซึ่งเกิดขึ้นชั่วดีดนิ้วมือ” = เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันไม่ทันรู้ตัว
เป็นที่น่าสังเกตว่า “อัจฉริยะ” ในภาษาไทยมักเล็งไปที่ “ความรู้ความสามารถเกินกว่าระดับปรกติมาก” เช่น เด็กอายุ 4 ขวบสามารถเล่นเปียโนได้เท่ากับนักดนตรีที่ชำนาญ ก็เรียกกันว่า “เด็กอัจฉริยะ” เป็นต้น
อนึ่ง “อัจฉริยะ” ในภาษาไทยไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นไปในทางใดทางหนึ่งโดยเฉพาะ ดังนั้น แม้เก่งในทางทำเรื่องเลวร้าย ก็ยังเรียกกันว่า “อัจฉริยะ” ด้วยเหมือนกัน
…………..
: ปัญญาน้อยในทางพระ
: ประเสริฐกว่าอัจฉิยะในทางมาร
17-1-60