อิริยาบถ (บาลีวันละคำ 2,343)
อิริยาบถ
ถ ถุงสะกด ไม่ใช่ ท ทหาร
อ่านว่า อิ-ริ-ยา-บด
“อิริยาบถ” บาลีเป็น “อิริยาปถ” อ่านว่า อิ-ริ-ยา-ปะ-ถะ แยกคำเป็น อิริยา + ปถ
(๑) “อิริยา” (อิ-ริ-ยา)
รากศัพท์มาจาก อิริย (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อ ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: อิริยฺ + อ = อิริย + อา = อิริยา แปลตามศัพท์ว่า “กิริยาเป็นเหตุเป็นไปแห่งอัตภาพ” หรือ “กิริยาเป็นเหตุเป็นไปแห่งกิจทางร่างกาย” หมายถึง การเคลื่อนไหว, กิริยาอาการ, ท่าทาง (movement, posture, deportment)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อิริยา : (คำนาม) อาการเคลื่อนไหว, กิริยา, ท่าทาง. (ป.; ส. อีรฺยา).”
(๒) “ปถ” (ปะ-ถะ)
รากศัพท์มาจาก ปถฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + อ ปัจจัย
: ปถฺ + อ = ปถ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่เป็นเครื่องเดินไป” (2) “ที่เป็นที่ไป” (3) “ที่อันผู้มีกิจน้อยใหญ่เกิดขึ้นดำเนินไป” หมายถึง หนทาง, ถนน, ทาง (path, road, way)
: อิริยา + ปถ = อิริยาปถ แปลตามศัพท์ว่า “ครรลองแห่งการเคลื่อนไหว” หมายถึง อิริยาบถ, อาการของการเคลื่อนไหว; ความประพฤติดี (way of deportment; mode of movement; good behaviour)
“อิริยาปถ” ที่เป็นหลักหรืออิริยาบถใหญ่มี 4 อย่าง คือ การเดิน (walking), การยืน (standing), การนั่ง (sitting), การนอน (lying down)
“อิริยาปถ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อิริยาบถ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อิริยาบถ : (คำนาม) อาการที่ร่างกายอยู่ในท่าใดท่าหนึ่ง เช่น วิ่ง กระโดด เดิน ยืน นั่ง นอน, ถ้าตามมหาสติปัฏฐานสูตร กำหนดไว้ ๔ อย่าง คือ เดิน ยืน นั่ง นอน. (ป.).”
อภิปราย :
โปรดอ่านข้อความข้างล่างนี้ —
“นั่งกันมานานพอสมควรแล้ว ขอเชิญออกไปผลัดเปลี่ยนอริยบทตามอัธยาศัยสัก 15 นาทีนะครับ”
คำว่า “อริยบท” ในข้อความนี้เป็นคำผิดทับซ้อน
คำที่ถูกต้องในความหมายที่ต้องการพูดคือ “อิริยาบถ” (อาการที่ร่างกายอยู่ในท่าใดท่าหนึ่ง คือ ยืน เดิน นั่ง นอน)
“ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ” แปลว่า เปลี่ยนจากท่าหนึ่งไปเป็นอีกท่าหนึ่ง เช่นจากท่านั่งเป็นยืน หรือเดิน อย่างที่พูดว่า ยืดเส้นยืดสาย ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวเพื่อผ่อนคลายความเมื่อยขบจากการที่อยู่ในท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานาน
คำว่า “อริยบท” ในข้อความนี้จึงเป็นคำผิดทับซ้อน
(1) ผิดซ้อนแรก คือ เขียน “-บถ” เป็น “-บท”
พอได้ยินเสียงว่า “บด” เป็นต้องใช้ ท ทหาร สะกด ตามความถนัดมือ
“อิริยาบถ” กลายเป็น “อิริยาบท” (ท ทหาร สะกด-ผิด)
บถ (ถ ถุง สะกด) แปลว่า ทาง (path, road, way)
บท (ท ทหาร สะกด) แปลว่า เท้า (foot, step)
“อิริยาบถ” ใช้ “บถ” ถ ถุง ไม่ใช่ “บท” ท ทหาร
(2) ผิดซ้อนที่ 2 คือ “อิริยา-” เขียนเป็น “อริยา-” อาจเพราะไม่คุ้นกับเสียง อิริ–
(3) ผิดซ้อนที่ 3 จาก “อริยา-” (ซึ่งผิดมาจาก “อิริยา”) ยังหดเสียงลงมาเป็น “อริย-” เข้าอีก
เบ็ดเสร็จแล้ว “อิริยาบถ” ก็กลายเป็น “อริยบท” เป็นอีกคำหนึ่งไปเลย
“อริยบท” แปลตามศัพท์ว่า “ทางของพระอริยะ” หรือ “ทางอันประเสริฐ” ซึ่งไม่ใช่ความหมายที่ต้องการจะพูด เป็นคำที่พูดผิดเขียนผิด จากคำถูกคือ “อิริยาบถ”
แต่เมื่อผิดเป็น “อริยบท” เข้าแล้ว เกิดเป็นคำที่มีความหมายขึ้นมา แต่ความหมายนั้นก็ไม่ใช่ความหมายที่ต้องการจะพูด จึงเป็นการใช้คำผิดความหมายอีกลักษณะหนึ่ง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เพิ่งรู้ว่าผิด
: ดีกว่าไม่รู้ว่าผิด
#บาลีวันละคำ (2,343)
11-11-61