บาลีวันละคำ

ไมตรีจิต (บาลีวันละคำ 2,577)

ไมตรีจิต

เครื่องมือสร้างมิตร สลายศัตรู

อ่านว่า ไม-ตฺรี-จิด

ประกอบด้วยคำว่า ไมตรี + จิต

(๑) “ไมตรี

อ่านว่า ไม-ตฺรี ตรงกับบาลีว่า “เมตฺติ” (เมด-ติ) รากศัพท์มาจาก –

(1) มิทฺ (ธาตุ = รักใคร่) + ติ ปัจจัย, ลบ ทฺ ที่สุดธาตุ (มิทฺ > มิ), ซ้อน , แผลง อิ ที่ มิ– เป็น เอ (มิ– > เม-)

: มิทฺ > มิ + ตฺ + ติ = มิตฺติ > เมตฺติ แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่รักใคร่

(2) มิตฺต (มิตร, เพื่อน) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อิ ที่ มิ-(ตฺต) เป็น เอ (มิตฺต > เมตฺต) + อิ ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: มิตฺต + = มิตฺตณ > มิตฺต > เมตฺต + อิ > เมตฺติ แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่มีอยู่ในมิตร

เมตฺติ” หมายถึง ความรัก, ความเป็นมิตร (love, friendship)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีศัพท์สันสกฤตที่ตรงกับ “ไมตรี” ดังนี้ –

(1) ไมตร : (คุณศัพท์) แห่งมิตร; belonging to a friend, friendly.

(2) ไมตร : (คำนาม) ไมตรี; ทวารหนัก; นามของนักษัตรที่สิบเจ็ด; พราหมณ์; friendship; the anus; a name of the seventeenth lunar; Brāhmaṇ.

(3) ไมเตรย (คุณศัพท์) อันเกี่ยวแก่มิตร; relating to a friend.

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกว่า บาลี “เมตฺติ” วรรณคดีสันสกฤตเป็น “ไมตฺรี” (Epic Sk. maitrī) ซึ่งก็ตรงกับรูปคำ “ไมตรี” ที่ไทยเราใช้อยู่

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ไมตรี : (คำนาม) ความเป็นเพื่อน, ความหวังดีต่อกัน. (ส.; ป. เมตฺติ).”

(๒) “จิต

บาลีเป็น “จิตฺต” (จิด-ตะ) รากศัพท์มาจาก จินฺต (ธาตุ = คิด) + ปัจจัย, ลบ นฺ ที่ จินฺตฺ (จินฺต > จิต)

: จินฺต + = จินฺตต > จิตฺต แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ทำหน้าที่คิด” (2) “สิ่งที่ทำหน้าที่รู้อารมณ์” หมายถึง จิต, ใจ, ความคิด (the heart, mind, thought)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “จิตฺต” ไว้ดังนี้ –

The heart (psychologically), i. e. the centre & focus of man’s emotional nature as well as that intellectual element which inheres in & accompanies its manifestations; i. e. thought. (หัวใจ [ทางจิตวิทยา] คือศูนย์และจุดรวมของธรรมชาติที่เกี่ยวกับความรู้สึกของมนุษย์ กับส่วนของสติปัญญาซึ่งอยู่ในการแสดงออกเหล่านั้น; กล่าวคือ ความคิด)

จิตฺต” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “จิต

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

จิต, จิต– : (คำนาม) ใจ, สิ่งที่มีหน้าที่รู้ คิดและนึก, (โบราณ เขียนว่า จิตร), ลักษณนามว่า ดวง. (ป. จิตฺต).”

ไมตรี + จิต = ไมตรีจิต แปลว่า “จิตที่เป็นไมตรี” หมายถึง น้ำใจที่หวังดีปรารถนาดีต่อกัน

อภิปรายขยายความ :

นักภาษาบอกว่า จะรู้ความหมายของ “ไมตรีจิต” ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ให้ดูความหมายของ “เมตตา” ด้วย

เมตตา” เป็นธรรมข้อที่ 1 ในพรหมวิหาร 4 มีความหมายว่า “ธรรมชาติที่รักใคร่” “ธรรมชาติที่มีอยู่ในมิตร” หรือ “ธรรมชาติของมิตร” หมายถึง ความรัก, ความเป็นเพื่อน, ความเห็นอกเห็นใจกัน, ความเป็นมิตร, การเอาใจใส่ช่วยเหลือผู้อื่น (love, amity, sympathy, friendliness, active interest in others)

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

(1) เมตตา : ความรัก, ความปรารถนาให้เขามีความสุข, แผ่ไมตรีจิตคิดจะให้สัตว์ทั้งปวงเป็นสุขทั่วหน้า

(2) แผ่เมตตา : ตั้งจิตปรารถนาดีขอให้ผู้อื่นมีความสุข; คำแผ่เมตตาที่ใช้เป็นหลักว่า

“สพฺเพ สตฺตา อเวรา อพฺยาปชฺฌา อนีฆา สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ”

แปลว่า “ขอสัตว์ทั้งหลาย, (ที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน) หมดทั้งสิ้น,

(จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด), อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย,

(จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด), อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย,

(จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด), อย่าได้มีทุกข์กายทุกข์ใจเลย, จงมีความสุขกายสุขใจ, รักษาตน (ให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้น) เถิด.”

[ข้อความในวงเล็บเป็นส่วนที่เพิ่มเข้ามาในคำแปลเป็นไทย]

เมตตา > ไมตรีจิต แผ่ให้กันตามแบบพิธีการ ก็เป็นการดี แต่เนื้อแท้ที่ต้องการคือหัวใจที่มองเห็นทุกคนเป็นเพื่อนรักของเรา เพื่อนทำดีก็ชื่นชมเพื่อน เพื่อนทำอะไรไม่ถูกก็เห็นใจเพื่อน ช่วยทักท้วงติงเตือนด้วยน้ำใจอันงาม – ง่ายๆ แค่นี้ ไม่ต้องสิ้นต้องเปลืองต้องเสียอะไรทั้งสิ้น

อยากให้เขาได้รับสิ่งที่ปรารถนา

อยากให้เขาพ้นจากปัญหาที่กำลังเผชิญ

อยากให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป

อยากให้เขามีคุณธรรมประจำใจกระทำแต่สิ่งที่ดีงาม

นี่คือนิยามของ “ไมตรีจิต

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อนาถาที่สุดในบรรดาสิ่งมีชีวิต

: คือคนที่ไม่มีไมตรีจิตจะให้ใคร

#บาลีวันละคำ (2,577)

3-7-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย