อุทกทาน (บาลีวันละคำ 2,576)
อุทกทาน
กรุณาอย่าอ่านตามสะดวกปากว่า อุ-ทก-ทาน
โปรดช่วยกันอ่านตามหลักภาษาว่า อุ-ทก-กะ-ทาน
ประกอบด้วยคำว่า อุทก + ทาน
(๑) “อุทก”
บาลีอ่านว่า อุ-ทะ-กะ รากศัพท์มาจาก อุทิ (ธาตุ = ไหลไป; เปียก, ชุ่ม) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ), ลบสระที่สุดธาตุ (อุทิ > อุท)
: อุทิ + ณฺวุ = อุทิณฺวุ > อุทิก > อุทก (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ไหลไป” (2) “สิ่งที่ทำให้เปียก” หมายถึง น้ำ (water)
(๒) “ทาน”
บาลีอ่านว่า ทา-นะ รากศัพท์มาจาก ทา (ธาตุ, = ให้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: ทา + ยุ > อน = ทาน (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การให้” “สิ่งของสำหรับให้”
“ทาน” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) การให้, ยกมอบแก่ผู้อื่น, ให้ของที่ควรให้ แก่คนที่ควรให้ เพื่อประโยชน์แก่เขา, สละให้ปันสิ่งของของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น
(2) สิ่งที่ให้, ทรัพย์สินสิ่งของที่มอบให้หรือแจกออกไป
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ทาน” ว่า giving, dealing out, gift; almsgiving, liberality, munificence (การให้, การแจกให้, ของขวัญ; การให้ทาน, การมีใจคอกว้างขวาง)
“ทาน” ใช้ในรูปเดียวกันทั้งบาลีและสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ทาน : (คำนาม) ‘ทาน’, การให้, การบริจาค; มันเหลวซึ่งเยิ้มออกจากขมับช้างตกน้ำมัน; การอุปถัมภ์, การบำรุง; วิศุทธิ, นิรมลีกรณ์; การตัด, การแบ่ง; ทักษิณา, ของถวาย, ของให้เปนพิเศษ; การตี, การเฆาะ; อรัณยมธุ, น้ำผึ้งป่า; giving, gift, donation; fluid that flows from the temples of an elephant in rut; nourishing, cherishing; a present, a special gift; striking, beating; wild honey.”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “ทาน” ไว้ดังนี้ –
ทาน : การให้, ยกมอบแก่ผู้อื่น, ให้ของที่ควรให้ แก่คนที่ควรให้ เพื่อประโยชน์แก่เขา, สละให้ปันสิ่งของของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น; สิ่งที่ให้, ทรัพย์สินสิ่งของที่มอบให้หรือแจกออกไป;
ทาน 2 คือ
1. อามิสทาน ให้สิ่งของ
2. ธรรมทาน ให้ธรรม;
ทาน 2 อีกหมวดหนึ่ง คือ
1. สังฆทาน ให้แก่สงฆ์ หรือให้เพื่อส่วนรวม
2. ปาฏิบุคลิกทาน ให้เจาะจงแก่บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งโดยเฉพาะ”
…………..
อุทก + ทาน = อุทกทาน แปลว่า “การให้ซึ่งน้ำ” หมายถึง การให้น้ำเป็นทาน โดยเฉพาะการให้น้ำสำหรับดื่มในเวลากระหาย
ขยายความ :
“อุทกทาน” ไม่ใช่คำที่ใช้พูดกันในชีวิตประจำวัน แต่ความหมายของคำเป็นสิ่งที่สังคมไทยในอดีตได้เคยประพฤติกันมา นั่นคือธรรมเนียมการตั้งตุ่มน้ำไว้ที่หน้าบ้าน มีกระบวยสำหรับตักดื่มวางไว้ด้วย เป็นที่รู้กันว่าตุ่มน้ำหน้าบ้านนี้ใครผ่านไปมาสามารถตักดื่มได้ เพราะเจ้าของบ้านตั้งไว้เป็น “อุทกทาน”
การบำเพ็ญ “อุทกทาน” ที่น่ารู้ในประวัติศาสตร์ชาติไทยระยะใกล้ๆ นี้ ก็คือการสร้างแม่พระธรณีบีบมวยผมในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (อ่านเมื่อ 2 กรกฎาคม 2562 เวลา 20:30 น.) บรรยายคำว่า “อุทกทาน” ไว้ตอนหนึ่งดังนี้ –
…………..
อุทกทาน มีความหมายว่า ให้ทานด้วยน้ำ (หรือให้น้ำเป็นทาน) เป็นศาลตั้งอยู่ริมถนนราชดำเนินใน ใกล้โรงแรมรัตนโกสินทร์และสะพานผ่านพิภพลีลา สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นปูนปั้นรูปพระแม่ธรณีกำลังบีบมวยผม มีน้ำสะอาดไหลออกมาจากปลายมวยผม สามารถใช้ดื่มกินได้
อุทกทาน สร้างจากพระราชดำริของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เพื่อแจกจ่ายน้ำดื่มสะอาดบริสุทธิ์ให้ผู้คนทั่วไป โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะกำลังทรงพระยศเป็นเจ้าฟ้าวชิราวุธฯ อยู่นั้น ได้พระราชทานคำแนะนำให้สร้างอุทกทาน เป็นรูปพระแม่ธรณีบีบมวยผม ปั้นขึ้นด้วยฝีพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ร่วมกับพระยาจินดารังสรรค์ (พลับ) แล้วเสร็จทำพิธีเปิดในวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2460 อันเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ
…….
หมายเหตุ: วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี เขียนว่า “สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ขอแรงท่านผู้รู้ตรวจสอบให้ด้วยว่าสร้างในสมัยไหนกันแน่
…………..
“อุทกทาน” หรือธรรมเนียมตั้งตุ่มน้ำหน้าบ้าน บัดนี้นับได้ว่าสูญสิ้นไปหมดแล้ว คนรุ่นเก่าจากไป คนรุ่นใหม่ไม่สืบต่อ มิหนำซ้ำอ้างข้อเสียต่างๆ ขึ้นมาขวางทาง เช่นความสกปรก การแพร่เชื้อโรค เป็นต้น และส่วนมากแสดงความรังเกียจ
แต่ก็ยังดีที่มีผู้แสดงความเห็นว่า สภาพสังคมเปลี่ยนไป แสดงน้ำใจด้วยวิธีอื่นดีกว่า
ก็คงต้องรอดูกันไปว่า คนรุ่นใหม่จะแสดงน้ำใจต่อเพื่อนร่วมแผ่นดินด้วยวิธีไหน
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เพราะไม่ศึกษาสืบสานวัฒนธรรมไทย
: น้ำในหัวใจจึงแห้งลงไปทุกวัน-ทุกวัน
#บาลีวันละคำ (2,576)
2-7-62