บาลีวันละคำ

ธรรมะธัมโม (บาลีวันละคำ 2,601)

ธรรมะธัมโม

เส้นแบ่งเขตระหว่างมนุษย์กับสัตว์

อ่านว่า ทำ-มะ-ทำ-โม

ประกอบด้วยคำว่า ธรรมะ + ธัมโม

ธรรมะ” และ “ธัมโม” เป็นคำเดียวกัน แต่เขียนคนละแบบ “ธรรมะ” เขียนอิงสันสกฤต “ธัมโม” เป็นรูปคำบาลี

ธรรมะ” และ “ธัมโม” รูปคำเดิมในบาลีเป็น “ธมฺม” อ่านว่า ทำ-มะ รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ) และ ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)

: ธรฺ > + รมฺม > มฺม : + มฺม = ธมฺม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “กรรมที่ทรงไว้ซึ่งความดีทุกอย่าง” (หมายถึงบุญ)

(2) “สภาวะที่ทรงผู้ดำรงตนไว้มิให้ตกไปในอบายและวัฏทุกข์” (หมายถึงคุณธรรมทั่วไปตลอดจนถึงโลกุตรธรรม)

(3) “สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งสัตว์ผู้บรรลุมรรคเป็นต้นมิให้ตกไปในอบาย” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

(4) “สภาวะที่ทรงลักษณะของตนไว้ หรืออันปัจจัยทั้งหลายทรงไว้” (หมายถึงสภาพหรือสัจธรรมทั่วไป)

(5) “สภาวะอันพระอริยะมีโสดาบันเป็นต้นทรงไว้ ปุถุชนทรงไว้ไม่ได้” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

คำแปลตามศัพท์ที่เป็นกลางๆ “ธมฺม” คือ “สภาพที่ทรงไว้

ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เรานิยมเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –

(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม

(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า

(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม

(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม

(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม

(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ

(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ

(8) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม

ในที่นี้ “ธรรม” มีความหมายเน้นที่-คําสั่งสอนและหลักประพฤติปฏิบัติอันดีงามของมนุษย์

ในที่นี้ “ธมฺม” เขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรมะ” และเขียนตามบาลีเป็น “ธัมโม” เอามาผสมกันเป็น “ธรรมะธัมโม

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ธรรมะธัมโม : (คำวิเศษณ์) เรียกคนที่เคร่งครัดในศาสนาว่า คนธรรมะธัมโม.”

อภิปราย :

คำว่า “ธรรมะธัมโม” เป็นการสะกดคำที่ค่อนข้างแปลก คำเดียวกันเอามาซ้อนกัน คำหน้าเป็นสันสกฤต คำหลังเป็นบาลี

ทำไมไม่เป็นสันสกฤตทั้งคู่ คือสะกดเป็น “ธรรมะธรรโม

สะกดอย่างนี้ “-ธรรโม” ก็ยังคงอ่านว่า ทำ-โม เหมือนคำว่า “กรรมาธิการ” “กรรมา-” ก็อ่านว่า กำ-มา- ได้

หรือ-ทำไมไม่เป็นบาลีทั้งคู่ คือสะกดเป็น “ธัมมะธัมโม

ถ้าสะกดอย่างนี้ก็อ่านได้ชัดเจน รูปคำ “ธัมมะ-” ก็มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฯ อยู่แล้ว

ราชบัณฑิตยฯ คงมีคำอธิบาย แต่ชาวบ้านทั่วไปไม่เคยได้ยิน

…………..

คำว่า “ธรรมะธัมโม” นี้เคยเป็นคำที่ใช้กล่าวถึงบุคคลอย่างยกย่อง แต่สังเกตเห็นว่าตั้งแต่หลังกึ่งพุทธกาลเป็นต้นมา คำว่า “ธรรมะธัมโม” มีกระแสเสียงเอียงไปในทางล้อเลียนนิดๆ แถมเย้ยหยันอีกหน่อยๆ เป็นทำนองว่าเป็นคนหัวโบราณ ออกไปทางคร่ำครึ ไม่ทันสมัย ไม่ทันโลกเหมือนคนสมัยใหม่

มีคำที่นักปราชญ์กล่าวเป็นโศลกไว้ว่า –

อาหารนิทฺทา  ภยเมถุนญฺจ

สามญฺญเมตปฺปสุภี  นรานํ

ธมฺโมว  เตสํ  อธิโก  วิเสโส

ธมฺเมน  หีนา  ปสุภี  สมานา.

กิน นอน กลัว สืบพันธุ์

มีเสมอกันทั้งคนและสัตว์

ธรรมะทำให้คนประเสริฐเหนือสัตว์

ทิ้งธรรมะ คนก็ต่ำเท่ากับสัตว์

ดังนี้ จึงกล่าวได้ว่า “ธรรมะ” คือเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างความเป็นคนกับความเป็นสัตว์

คน “ธรรมะธัมโม” คือคนที่ช่วยรับรองว่า มนุษย์ที่ต่างจากสัตว์ยังมีอยู่

กล่าวอีกโวหารหนึ่ง “ธรรมะ” อุปมาเหมือนห้ามล้อช่วยชะลอรถคือความเป็นมนุษย์ไม่ให้แล่นไปหาความตกต่ำทางจิตใจนั่นเอง

…………..

ดูก่อนภราดา!

เมื่อใดที่มีคนเรียกท่านด้วยอารมณ์ล้อเลียนว่า อ๋อ นั่นน่ะคน “ธรรมะธัมโม” คือไม่ทันสมัยเหมือนเขา

เมื่อนั้นโปรดรู้ทันว่า นั่นคือเขากำลังเหยียบท่าน

อย่าโกรธเขา แต่จงดีใจเถิดว่า เขากำลังเหยียบห้ามล้อตัวเองไม่ให้ความเป็นมนุษย์ในตัวเขาแล่นไปหาความเป็นสัตว์เร็วเกินไป

#บาลีวันละคำ (2,601)

27-7-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย