บาลีวันละคำ

กัปปิยภูมิ (บาลีวันละคำ 3,809)

กัปปิยภูมิ

ลองภูมิกันอีกที-คำนี้คืออะไร

อ่านว่า กับ-ปิ-ยะ-พูม

ประกอบด้วยคำว่า กัปปิย + ภูมิ

(๑) “กัปปิย”

เขียนแบบบาลีเป็น “กปฺปิย” อ่านว่า กับ-ปิ-ยะ ประกอบขึ้นจาก กปฺป + อิย ปัจจัย

(1) กปฺป รากศัพท์มาจาก กปฺปฺ (ธาตุ = กำหนด) + อ (อะ) ปัจจัย

: กปฺปฺ + อ = กปฺป แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะอันเขากำหนดขึ้น”

(2) กปฺป + อิย = กปฺปิย มีความหมายว่า เหมาะสม, สมควร, ถูกต้อง, เหมาะเจาะ (fitting, suitable, proper)

“กปฺปิย” เขียนแบบไทยเป็น “กัปปิย-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) และ “กัปปิยะ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“กัปปิย-, กัปปิยะ : (คำวิเศษณ์) สมควร. (ป.).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “กัปปิยะ” ไว้ว่า –

…………..

กัปปิยะ : สมควร, ควรแก่สมณะที่จะบริโภค, ของที่สมควรแก่ภิกษุบริโภคใช้สอย คือพระพุทธเจ้าอนุญาตให้ภิกษุใช้หรือฉันได้ เช่น ข้าวสุก จีวร ร่ม ยาแดง เป็นกัปปิยะ แต่สุรา เสื้อ กางเกง หมวก น้ำอบ ไม่เป็นกัปปิยะ สิ่งที่ไม่เป็นกัปปิยะ เรียกว่า อกัปปิยะ

…………..

(๒) “ภูมิ”

ภาษาไทยอ่านว่า พูม บาลีอ่านว่า พู-มิ รากศัพท์มาจาก ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + มิ ปัจจัย

: ภู + มิ = ภูมิ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สถานที่มีอยู่เป็นอยู่แห่งสัตว์โลก” มีความหมายหลายอย่าง กล่าวคือ พื้นดิน, ดิน, แผ่นดิน, สถานที่, ถิ่น, แคว้น, แถบ, ภูมิภาค, พื้น, พื้นราบ, ขั้นตอน, ระดับ (ground, soil, earth, place, quarter, district, region, plane, stage, level)

ในภาษาไทยใช้ทับศัพท์ว่า “ภูมิ” เหมือนบาลี ถ้าอยู่ท้ายคำอ่านว่า พูม ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย อ่านว่า พู-มิ-

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “ภูมิ” ในภาษาไทยไว้ว่า (1) แผ่นดิน, ที่ดิน (2) พื้น, ชั้น, พื้นเพ; ความรู้ (3) สง่า, โอ่โถง, องอาจ, ผึ่งผาย

“ภูมิ” ในที่นี้ หมายถึง แผ่นดิน, ที่ดิน, พื้นที่

กปฺปิย + ภูมิ = กปฺปิยภูมิ (กับ-ปิ-ยะ-พู-มิ) แปลว่า “พื้นที่สำหรับเก็บของอันสมควร”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กปฺปิยภูมิ” ว่า a plot of ground set apart for storing (allowable) provisions (สถานที่ซึ่งจัดไว้ต่างหากให้เก็บอาหารได้)

“กปฺปิยภูมิ” เขียนแบบไทยเป็น “กัปปิยภูมิ” อ่านว่า กับ-ปิ-ยะ-พูม

คำว่า “กัปปิยภูมิ” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “กัปปิยภูมิ” ไว้ว่า –

…………..

กัปปิยภูมิ : ที่สำหรับเก็บเสบียงอาหารของวัด, ครัววัด มี ๔ อย่าง คือ

๑. อนุสสาวนันติกา กัปปิยภูมิที่ทำด้วยการประกาศให้รู้กันแต่แรกสร้างว่าจะทำเป็นกัปปิยภูมิ คือพอเริ่มยกเสาหรือตั้งฝาก็ประกาศให้ได้ยินว่า “กปฺปิยกุฏึ กโรม” แปลว่า “เราทั้งหลายทำกัปปิยกุฎี”

๒. โคนิสาทิกา กัปปิยภูมิขนาดเล็กเคลื่อนที่ได้ ดุจเป็นที่โคจ่อม

๓. คหปติกา เรือนของคฤหบดีเขาสร้างถวายเป็นกัปปิยภูมิ

๔. สัมมติกา กัปปิยภูมิที่สงฆ์สมมติ ได้แก่กุฎีที่สงฆ์เลือกจะใช้เป็นกัปปิยกุฎี แล้วสวดประกาศด้วยญัตติทุติยกรรม

…………..

ขยายความ :

ชีวิตของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนานั้นพระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาตให้ภิกษุสะสมอาหารที่ได้ในวันนี้เพื่อเอาไว้ฉันในวันอื่น ท่านกำหนดให้บิณฑบาตเลี้ยงชีพวันต่อวัน มีคำกล่าวถึงการเที่ยวบิณฑบาตของพระว่า “อาหารพระเหมือนอาหารเสือ” คือบางวันอิ่ม บางวันอด ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ภิกษุต้องมีภาระกังวลกับการดูแลอาหารที่เก็บไว้ คือให้เสียเวลากับเรื่องขบฉันให้น้อยที่สุด ใช้เวลาเพื่อการศึกษาและปฏิบัติธรรมให้มากที่สุด

ในคัมภีร์เล่าเรื่องไว้ว่า คฤหบดีคนหนึ่งชื่อ “จิตตคฤหบดี” บรรลุธรรมเป็นอนาคามีบุคคล แต่ยังไม่เคยได้เห็นพระพุทธเจ้าเลย อยู่มาคราวหนึ่งจิตตคฤหบดีเตรียมการเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่เมืองสาวัตถี โดยเดินทางไปพร้อมกับพุทธบริษัทนับพัน จิตตคฤหบดีเตรียมเสบียงบรรทุกเกวียนไปด้วยเป็นจำนวนมาก (คัมภีร์บอกว่า 500 เล่มเกวียน)

เนื่องจากท่านคฤหบดีเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง ระหว่างเดินทางแวะพักที่เมืองไหน ชาวเมืองนั้นก็จัดเลี้ยงรับรองทุกแห่งไป ใช้เวลาเดินทางเดือนหนึ่งโดยไม่ต้องใช้เสบียงที่เตรียมไปนั่นเลย

เมื่อไปถึงพระเชตวัน เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านคฤหบดีก็ประกาศขอรับเป็นเจ้าภาพเลี้ยงพระเป็นเวลา 1 เดือน ปรากฏว่ามีชาวเมืองนำสิ่งของมาช่วยทำอาหารเลี้ยงพระตลอดทั้งเดือนโดยไม่ต้องใช้เสบียงของท่านคฤหบดีเลยแม้แต่น้อย

เมื่อจะเดินทางกลับ ท่านคฤหบดีจึงถวายเสบียงที่ตนเตรียมมาทั้งหมดให้เป็นของสงฆ์ เป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้สงฆ์มี “กัปปิยภูมิ” คือครัววัดหรือครัวสงฆ์ได้ โดยให้มีไวยาวัจกรหรือกัปปิยการกคือชาวบ้านที่มีศรัทธาสละเวลามาช่วยปรุงเสบียงที่เก็บไว้ในโรงครัวถวายพระเป็นวันๆ ไป (พระหุงต้มฉันเอง ผิดวินัย)

สมัยก่อน ชาวบ้านไถนาอยู่ข้างวัด พอใกล้เพลก็จะร้องบอกกันว่า “ไปดูหน่อยซิ เพลนี้พระมีอะไรฉันหรือยัง” แล้วก็จะมีโยมผู้หญิงเข้าไปที่ “กัปปิยภูมิ” เอาเสบียงที่เก็บไว้ในนั้นออกมาปรุงอาหารถวายพระตามแต่จะพอมีเวลาทำได้

ปัจจุบันก็ยังมี “กัปปิยภูมิ” อยู่ในวัดทั่วไป แต่ก็มักเรียกกันเป็นคำไทยว่า ครัววัด ครัวสงฆ์ แทบจะไม่มีใครรู้จักคำว่า “กัปปิยภูมิ” กันแล้ว

คนส่วนมากใส่บาตรเป็นอาหารสดพระฉันวันต่อวัน คนเห็นการณ์ไกลน่าจะชวนกันถวายอาหารแห้งเข้าโรงครัวสงฆ์หรือ “กัปปิยภูมิ” กันบ้างก็น่าจะดี

น้ำปลาหนึ่งขวด ใส่บาตร พระได้ฉันรูปเดียว

น้ำปลาหนึ่งขวด ถวายเข้าครัวสงฆ์ พระได้ฉันทั้งวัด

…………..

หมายเหตุ :

มูลเหตุให้เกิดกัปปิยภูมิ มีกล่าวไว้เภสัชชขันธกะ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 2 พระไตรปิฎกเล่ม 5 ข้อ 82 ในที่นั้นเล่าเรื่องว่า “ชานปทา มนุสฺสา” แปลว่า “มนุษย์ชาวชนบท” จอดเกวียนบรรทุกเสบียงใกล้ซุ้มประตูอาราม รอเวลาที่จะใช้เสบียงทำอาหารถวายพระ แต่ยังไม่ถึงโอกาส พอดีฝนตั้งเค้า คนพวกนั้นเกรงเสบียงจะเสียหายจึงขอให้พระอานนท์ช่วยหาที่สถานที่เก็บเสบียง พระอานนท์กราบทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาตให้ใช้อาคารที่อยู่ท้ายอารามเป็นที่เก็บเสบียง

ตามเรื่องดังกล่าวนี้ไม่ได้ระบุว่า “มนุษย์ชาวชนบท” มาจากไหน แต่ได้ความจากที่อื่นๆ ว่า ทรงอนุญาตกัปปิยภูมิแก่จิตตคฤหบดีเป็นคนแรก ขบวนเกวียนบรรทุกเสบียงที่กล่าวถึงนี้จึงน่าจะเป็นคณะของจิตตคฤหบดีนั่นเอง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เรื่องกินเป็นเรื่องสำคัญ

: แต่จงเสียเวลากับมันให้น้อยที่สุด

#บาลีวันละคำ (3,809)

16-11-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *