บาลีวันละคำ

ขัดสมาธิ (บาลีวันละคำ 2,602)

ขัดสมาธิ

อ่านพลาดกันทั่วประเทศ

ภาษาไทยอ่านว่า ขัด-สะ-หฺมาด

ไม่ใช่ ขัด-สะ-มา-ทิ

ขัด” เป็นคำไทย “สมาธิ” เป็นคำบาลี อ่านว่า สะ-มา-ทิ รากศัพท์มาจาก –

(1) สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน, ดี) + อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + ธา (ธาตุ = ตั้งขึ้น, ยกขึ้น) + อิ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น (สํ > สม), ลบสระหน้า คือ อา ที่ ธา (ธา > )

: สํ > สม + อา = สมา + ธา = สมาธา > สมาธ + อิ = สมาธิ แปลตามศัพท์ว่า “การตั้งจิตไว้ด้วยดีในอารมณ์เดียว

(2) สมุ (ธาตุ = สงบ, ระงับ) + อาธิ ปัจจัย, ลบสระหน้า คือ อุ ที่ สมุ (สมุ > สม)

: สมุ > สม + อาธิ = สมาธิ แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ยังความฟุ้งซ่านแห่งจิตให้สงบ”

สมาธิ” (ปุงลิงค์) หมายถึง ความสงบ, จิตตั้งมั่น

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลและขยายความ “สมาธิ” ว่า concentration; a concentrated, self-collected, intent state of mind and meditation, which, concomitant with right living, is a necessary condition to the attainment of higher wisdom and emancipation. (การสำรวมใจ; สมาธิ, ความตั้งใจแน่วแน่และสำรวมตั้งตนกับสมาธิ ซึ่งร่วมกับสัมมาอาชีวะ เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะนำไปสู่การบรรลุปัญญาชั้นสูงขึ้นและความหลุดพ้น)

ในภาษาไทย คำว่า “สมาธิ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกคำอ่านว่า สะ-มา-ทิ บอกความหมายไว้ว่า –

สมาธิ : (คำนาม) ความตั้งมั่นแห่งจิต; ความสํารวมใจให้แน่วแน่เพื่อให้จิตใจสงบหรือเพื่อให้เกิดปัญญาเห็นแจ้ง. (ป., ส.).”

ขัด + สมาธิ = ขัดสมาธิ เป็นคำผสมแบบไทย

ขัดสมาธิ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกบอกคำอ่านว่า ขัด-สะ-หฺมาด บอกความหมายไว้ว่า –

“ขัดสมาธิ : (คำวิเศษณ์) นั่งคู้เข่าทั้ง ๒ ข้างให้แบะลงที่พื้นแล้วเอาขาไขว้กันทับฝ่าเท้า, ถ้าเอาขาซ้อนทับกันเรียกว่า ขัดสมาธิสองชั้น, ถ้าเอาขาขวาทับขาซ้าย เรียกว่า ขัดสมาธิราบ, ถ้าเอาฝ่าเท้าทั้ง ๒ ข้างขึ้นข้างบน เรียกว่า ขัดสมาธิเพชร, ขัดสมาธิราบและขัดสมาธิเพชรนั้น เป็นท่าพระพุทธรูปนั่ง. (คำนาม) ชื่อพระพุทธรูปปางหนึ่ง อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้ง ๒ วางซ้อนกันบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย.

อภิปราย :

ในแง่ความเข้าใจ: คนทั่วไปมักนึกภาพไปว่า “สมาธิ” คือการนั่ง ดังคำที่ชอบพูดกันว่า “นั่งสมาธิ”

ตามความเป็นจริงแล้ว คำว่า “สมาธิ” ไม่ได้แปลว่า “นั่ง” แต่หมายถึงสภาพจิตที่ดิ่งนิ่งแน่วแน่อยู่ในอารมณ์เดียว ถ้าฝึกจนถึงขนาดแล้วไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถยืน เดิน นั่ง นอน ก็สามารถทำจิตให้เป็นสมาธิได้ทั้งสิ้น

ในแง่ภาษาไทย: ตามพจนานุกรมฯ เป็นอันได้หลักว่า –

๑ “สมาธิ” อ่านว่า สะ-มา-ทิ ไม่ใช่ สะ-หฺมาด

๒ ถ้ามีคำว่า “ขัด” มาประกอบเข้าข้างหน้าเป็น “ขัดสมาธิ” ต้องอ่านว่า ขัด-สะ-หฺมาด ไม่ใช่ ขัด-สะ-มา-ทิ

๓ “ขัดสมาธิราบ” อ่านว่า ขัด-สะ-หฺมาด-ราบ ไม่ใช่ ขัด-สะ-ทิ-ราบ

๔ “ขัดสมาธิเพชร” อ่านว่า ขัด-สะ-หฺมาด-เพ็ด ไม่ใช่ ขัด-สะ-ทิ-เพ็ด

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ความโง่ไม่เป็นเหตุให้เสียสิทธิ์

ที่จะแสวงหาความรู้

: แต่ความไม่ใฝ่รู้นั่นต่างหาก

ที่เป็นเหตุให้โง่

#บาลีวันละคำ (2,602)

28-7-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย