สัญจรโรค (บาลีวันละคำ 2,600)
สัญจรโรค
อ่านว่า สัน-จอน-โรก
ประกอบด้วยคำว่า สัญจร + โรค
(๑) “สัญจร”
เขียนแบบบาลีเป็น “สญฺจร” อ่านว่า สัน-จะ-ระ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน, เนื่องกัน) + จรฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น ญฺ (สํ > สญฺ)
: สํ + จรฺ = สํจรฺ + อ = สํจร > สญฺจร แปลตามศัพท์ว่า “การเที่ยวไปพร้อมกัน” “ที่เที่ยวไปพร้อมกัน” หมายถึง ทาง, หนทาง, สื่อกลาง (passage, way, medium)
ศัพท์ที่มีรากเดียวกันอีกคำหนึ่ง “สญฺจรณ” (สัน-จะ-ระ-นะ) หมายถึง การสัญจรไป, การพบ, สถานที่นัดพบกัน (wandering about, meeting, meeting-place)
“สญฺจร” และ “สญฺจรณ” เป็นคำนาม คำกริยาเป็น “สญฺจรติ” (สัน-จะ-ระ-ติ) มีความหมายดัง นี้ –
(1) สัญจร, ท่องเที่ยวไป (to go about, to wander)
(2) พบกัน, รวมเป็นกลุ่ม, มาด้วยกัน (to meet, unite, come together)
(3 เคลื่อนไป, แกว่งไกว (to move, to rock)
(4) ผ่านไป (to pass)
ที่เป็นคำนามในคัมภีร์ พบคำว่า “สญฺจาร” (สัน-จา-ระ) และ “สญฺจรณ” เป็นพื้น
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สัญจร : (คำกริยา) ผ่านไปมา เช่น ทางสัญจร. (คำนาม) ช่องทาง, ถนน; การผ่านไปมา. (ป., ส.).”
(๒) “โรค”
บาลีอ่านว่า โร-คะ รากศัพท์มาจาก รุชฺ (ธาตุ = เสียดแทง, ทำลาย) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อุ ที่ รุ-(ชฺ) เป็น โอ (รุชฺ > โรช), แปลง ชฺ เป็น ค
: รุชฺ + ณ = รุชณ > รุช > โรช > โรค แปลตามศัพท์ว่า (1) “อาการที่เสียดแทง” (2) “อาการที่ทำลายอวัยวะน้อยใหญ่” หมายถึง ความเจ็บป่วย, ความไข้ (illness, disease)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“โรค, โรค– : (คำนาม) ภาวะที่ร่างกายทํางานได้ไม่เป็นปรกติเนื่องจากเชื้อโรคเป็นต้น. (ป., ส.).”
สัญจร + โรค = สัญจรโรค แปลว่า “การเดินทางไปมาของโรค” หรือ “ผู้เดินทางไปมาพร้อมกับโรค” หมายถึง ผู้เป็นสื่อนำโรคในตัวติดต่อไปยังผู้อื่น
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สัญจรโรค : (คำนาม) กามโรค. (คำวิเศษณ์) เรียกหญิงโสเภณีว่า หญิงสัญจรโรค.”
ขยายความ :
“สัญจรโรค” เป็นคำเก่าที่เอาคำบาลีมาใช้และให้ความหมายแบบไทย ถ้าเรียกตามสมัยนี้ก็ว่าเป็นศัพท์บัญญัติชนิดหนึ่ง พบว่ามีใช้สมัยรัชกาลที่ 5 ในชื่อพระราชบัญญัติฉบับหนึ่ง คือ “พระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค รัตนโกสินทรศก ๑๒๗”
ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ไม่ได้บอกว่า คำว่า “สัญจรโรค” มีความหมายว่าอย่างไร อาจจะเป็นเพราะเป็นคำที่เข้าใจกันดีอยู่แล้ว นั่นหมายถึงอาจเป็นคำที่ใช้กันมานานแล้วก่อนสมัยรัชกาลที่ 5
อย่างไรก็ตาม ในพระราชบัญญัติฉบับนี้มีคำปรารภอยู่ตอนหนึ่งที่น่าจะครอบคลุมความหมายของคำว่า “สัญจรโรค” ความว่าดังนี้ (สะกดตามต้นฉบับ) –
… ทุกวันนี้ หญิงบางจำพวกประพฤติตน อย่างที่เรียกว่าหญิงนครโสเภณี มีหัวหน้ารวบรวมกัน ตั้งโรงหาเงินขึ้นหลายตำบล …. ในท้องที่อันควรบ้าง มิควรบ้าง กระทำให้มีเหตุเกิดการวิวาทขึ้นเนืองๆ อีกประการหนึ่งหญิงบางคนป่วยเปนโรค ซึ่งอาจจะติดต่อเนื่องไปถึงผู้ชายที่คบหาสมาคมได้ ก็มิได้มีแพทย์ตรวจตรารักษา โรคร้ายนั้นอาจจะติดเนื่องกันไป จนถึงเปนอันตรายแก่ร่างกายและชีวิตมนุษย์เปนอันมาก และยังหาได้มีกฎหมายและข้อบังคับอย่างใด สำหรับจะป้องกันทุกข์โทษไภยแห่งประชาราษฎรทั้งหลายเหล่านี้ไม่ …
…………..
“สัญจรโรค” มีความหมายอย่างเดียวกับที่เราเข้าใจกันในบัดนี้ว่า-เป็นพาหะนำโรค ถ้าจัดเข้าชุดพาหะที่เราเรียนกันมาตั้งแต่ชั้นประถม คือ แมลงวัน ยุง หนู ก็คงจะพูดเพื่อให้เห็นภาพได้ว่า –
แมลงวัน เป็นพาหะอหิวาตกโรค
ยุง เป็นพาหะไข้มาลาเรีย
หนู เป็นพาหะกาฬโรค
หญิงนครโสเภณี เป็นพาหะกามโรค
นี้ว่าโดยเจตนาจะให้เข้าใจความนัยแห่งภาษาเป็นที่ตั้ง มิได้มีเจตนาจะดูหมิ่นดูแคลนแต่ประการใด
…………..
ดูก่อนภราดา!
: กามโรค ป่วยกันไม่มาก
: กามราค ป่วยกันทั้งโลก
#บาลีวันละคำ (2,600)
26-7-62