บวช (บาลีวันละคำ 238)
บวช
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า
“บวช : การเว้นทั่ว คือเว้นความชั่วทุกอย่าง (ออกมาจากคำว่า ป + วช) หมายถึงการถือเพศเป็นนักพรตทั่วไป”
“ป” เป็นคำอุปสรรค แปลว่า ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก
“วช” เป็นรากศัพท์ (ธาตุ) แปลว่า ไป, ถึง, เกิด, บรรลุ, แสวงหา, ปรุงแต่ง, กระทำ
มีธาตุอีกคำหนึ่ง คือ “วชฺช” (วัด-ชะ) แปลว่า “เว้น”
ในบาลีไม่มีศัพท์ว่า “ปวช” ส่วน ป + วชฺช รูปบาลีเป็น “ปพฺพชฺชา” (ปับ-พัด-ชา) แปลว่า การถือเพศเป็นนักพรต, การทรงเพศสมณะ, การสละชีวิตครองเรือนออกบวช ซึ่งเป็นความหมายของ “บวช” นั่นเอง (พจน.๔๒ บวช : ถือเพศเป็นภิกษุสามเณรหรือนักพรตอื่น ๆ)
ป + วชฺช = ปพฺพชฺชา ใช้ในภาษาไทยว่า “บรรพชา” (ตาม พจน.๔๒ อ่านว่า บัน-พะ-ชา ก็ได้ บับ-พะ-ชา ก็ได้)