บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

เจริญเถิดภาษาไทย

เจริญเถิดภาษาไทย 

——————–

เมื่อเช้า (๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๒) ผมเดินไปเจอป้ายที่มีคำผิด ก็เลยเกิดความคิดที่กำลังจะเขียนนี่

……………..

คำตลกที่เราคุ้นกันคำหนึ่งคือ “จุงเบย”

ที่ว่าเป็น “คำตลก” นั้นผมเรียกเอง ญาติมิตรอาจไม่คิดอย่างนี้ก็ได้ 

เด็กรุ่นใหม่ที่เห็นคำนี้มาจนชินอาจเชื่อว่า “จุงเบย” ก็คือภาษาธรรมดาที่คนในสังคมหนึ่งใช้พูดกัน ไม่เห็นจะตลกตรงไหน 

ถ้า “จุงเบย” เป็นคำตลก “สวัสดี” ที่เราพูดกันก็เป็นคำตลกคำหนึ่งเหมือนกัน เพราะ “สวัสดี” ก็เป็นคำธรรมดาที่คนในสังคมหนึ่งใช้พูดกัน 

คำอธิบายของผมก็คือ มันต่างกัน 

“สวัสดี” เป็นคำที่เราตั้งใจคิดขึ้นมา ให้เขียนอย่างนี้ ให้อ่านอย่างนี้ และให้มีความหมายอย่างนี้

แต่ “จุงเบย” ไม่ใช่ 

“จุงเบย” เป็นคำที่เกิดจากการเขียนผิด แล้วไม่แก้ไข แต่กลับเอามาพูด เอามาเขียน เอามาใช้กันเหมือนเป็นคำที่ถูกต้องคำหนึ่ง 

จะใช้ในวงแคบวงกว้าง ใช้เฉพาะกลุ่มเฉพาะสังคม เป็นภาษาปาก ไม่ใช่ภาษาทางการ เป็นคำพูดเล่น ไม่ใช่พูดจริง ฯลฯ 

นั่นเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ยกไปคุยกันในเวทีอื่น 

แต่ในที่นี้เราปฏิเสธไม่ได้ว่า “จุงเบย” เป็นคำที่มีคนเอามาใช้จริง 

……………..

“จุงเบย” เป็นคำที่เกิดจากการเขียนผิด 

ผู้เขียนตั้งใจจะเขียนว่า “จังเลย” ที่หมายถึง “มาก” 

เช่น คิดถึงจังเลย 

หนาวจังเลย 

สวยจังเลย 

เวลานี้เราไม่ได้ใช้ปากกาดินสอเขียนบนกระดาษ แต่ใช้นิ้วมือกดแป้นพิมพ์ 

ดูที่แป้นพิมพ์จะเห็นว่า ไม้หันอากาศกับสระอุอยู่ใกล้กัน ไม้หันอากาศอยู่แถวล่าง สระอุอยู่แถวบน

คนเขียนตั้งใจจะเขียนคำว่า “จัง” แต่กดสระอุ แทนที่จะเป็นไม้หันอากาศ 

“จัง” กลายเป็น “จุง”

ล ลิง กับ บ ใบไม้ อยู่ติดกัน แถวเดียวกัน 

คนเขียนตั้งใจจะเขียนคำว่า “เลย” แต่กด บ ใบไม้ แทนที่จะเป็น ล ลิง 

“เลย” กลายเป็น “เบย” 

“จังเลย” กลายเป็น “จุงเบย” 

นี่คือที่มาของคำว่า “จุงเบย”

ต่อจากนั้นก็มีคนรับลูกเอาไปตลกต่อ บอกว่า “จุงเบย” อาจจะเป็นคำเกาหลี หรือเวียดนาม หรืออาจจะเป็นคำเขมร-ไปโน่น 

อันที่จริง ที่มาหรือสาเหตุของการเกิดคำว่า “จุงเบย” ที่ว่ามานั้นก็มีคนเอามาชี้ให้เห็นกันแล้ว 

ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ไม่รู้ว่า “จุงเบย” เกิดขึ้นมาจากสาเหตุอะไร 

แต่ประเด็นอยู่ที่-รู้ทุกอย่าง แต่ไม่แก้ไข 

ตรงนี้ต่างหากที่เป็นอันตรายมากๆ 

เราควรจะบอกกัน เตือนกัน ว่ามันเป็นคำผิด อย่าเอาไปใช้ต่อ อย่าเห็นว่าเป็นเรื่องสนุก 

ความสนุกที่ได้ ไม่คุ้มกับ “นิสัยเสีย” ที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว

นิสัยเสียที่เกิดขึ้นจากกรณีอย่างนี้ก็คือ ทำอะไรผิดแล้วไม่แก้ไข ไม่เห็นว่าเป็นโทษเป็นความเสียหาย แต่เห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา 

ไม่เห็นจะเสียหายอะไร 

ไม่เห็นจะเป็นไร 

ใครๆ เขาทำผิดกันทั้งนั้น 

ต่อจากนั้นก็จะเกิดนิสัยเสียอีกอย่างหนึ่งตามมา นั่นคือ อธิบายผิดให้เป็นถูก ซึ่งหนักกว่า “แก้ตัว” 

“แก้ตัว” คือรู้ว่าผิด ยอมรับว่าที่ทำไปนั้นผิด แต่พยายามบอกเหตุผลว่าทำไมจึงต้องทำผิด และขอให้เห็นใจ 

แต่ “อธิบายผิดให้เป็นถูก” คือไม่ยอมรับว่าผิด แต่ยืนยันว่าที่ทำลงไปนั้นถูกต้องแล้ว 

……………..

ขอให้ดูภาพประกอบที่มีคำว่า “ชั้นพื้นฐาน”

ข้อความเต็มๆ ว่า “การสอบประเมินคุณภาพการศึกษาระดับชาติชั้นพื้นฐาน” 

ขอให้สังเกตคำว่า “ชั้นพื้นฐาน” ชั้น- ช ช้าง

คำที่พูดถึง “การศึกษา” และมีคำว่า “-พื้นฐาน” มาต่อท้ายเป็นคำขยาย เราใช้ว่า “ขั้นพื้นฐาน” – ขั้น ข ไข่ 

เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 

ขั้น- ข ไข่ ไม่ใช่ ชั้น- ช ช้าง 

ในแป้นพิมพ์ ข ไข่ กับ ช ช้าง อยู่ติดกัน แถวเดียวกัน

คนพิมพ์ตั้งใจพิมพ์คำว่า “ขั้น” ข ไข่ แต่กดผิด ไปกด ช ช้าง

“ขั้น” กลายเป็น “ชั้น” 

ผสมกับความไม่รอบคอบ ช ช้าง กับ ข ไข่ รูปทรงตัวอักษรเหมือนกัน ต่างกันตรงที่ ช ช้าง มีหางข้างบน อ่านเผินๆ จึงเข้าใจว่าถูกต้องแล้ว 

กรณีอย่างนี้ แก้ไขให้ตรงจุด ก็คือ แก้ ช ช้าง ให้เป็น ข ไข่ เรื่องก็จบ ผิดก็กลับมาเป็นถูกเหมือนเดิม

แต่มีคนอธิบายว่า “ชั้นพื้นฐาน” ชั้น- ช ช้าง ก็น่าจะใช้ได้ เพราะ “ขั้น” ข ไข่ กับ “ชั้น” ช ช้าง มีความหมายเหมือนกัน

ถ้ามีคนเห็นด้วย ต่อไป “การศึกษา–ชั้นพื้นฐาน” ก็กลายเป็นถูก 

……………..

ต่อไป ขอให้ดูภาพประกอบที่เป็นป้ายคำถวายพระพร 

ตั้งใจเขียนว่า “บรมราชาภิเษกบรมกษัตริย์” 

แต่กลายเป็น “บรมราชาภิเษกบรมบรมกษัตริย์” 

ป้ายนี้ติดโชว์อยู่ที่หน้าสำนักงานเจ้าของป้ายมานานกว่า ๒ เดือนแล้ว ผมผ่านไปเมื่อเช้านี้ก็ยังติดอยู่ 

คนในสำนักงานก็ต้องรู้ว่ามีคำผิดพลาด แต่ก็ไม่แก้ไข

นี่คือตัวอย่าง-ผิดแล้วไม่แก้ไข เพราะเห็นว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญ 

เรื่องเกี่ยวกับเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน คนไทยเราถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

ถ้าเป็นเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้ว หัวหน้าหน่วยงานคงถูกย้าย หรือถูกตัดเงินเดือน และรู้สึกอับอายหน้า 

แต่ พ.ศ.นี้ สบายมาก – ไม่แก้ไขก็ไม่เห็นจะเสียหายอะไร

……………..

“จังเลย” เขียนผิดเป็น “จุงเบย” 

ไม่แก้ไข กลับเอาไปใช้กันเป็นเรื่องสนุก เป็นความคิดสร้างสรรค์

“ขั้นพื้นฐาน” เขียนผิดเป็น “ชั้นพื้นฐาน” 

ไม่แก้ไข กลับอธิบายผิดให้กลายเป็นถูก 

เขียนคำถวายพระพรผิดพลาด 

ไม่แก้ไข เรื่องแค่นี้ไม่เห็นจะเสียหายอะไร

……………..

ภาษาเป็นเรื่องสมมุติ 

พระพุทธเจ้าสอนไม่ให้ยึดมั่นถือมั่น 

สื่อสารกันได้ เข้าใจกันได้ ก็พอแล้ว 

จะเอาอะไรกันนักหนา 

เจริญเถิดเมืองไทย 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๒

๑๖:๑๖

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *