บาลีวันละคำ

อันตราย 10 อย่าง (บาลีวันละคำ 2,844)

อันตราย 10 อย่าง

เหตุให้สวดพระปาติโมกข์ย่อ

ผู้เขียนบาลีวันละคำอ่านพบเรื่อง “อันตราย 10 อย่าง” ที่มีผู้ยกขึ้นมาพูด โดยกล่าวว่า พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ระวังอันตราย 10 อย่าง และระบุชื่ออันตรายทั้ง 10 อย่างไว้ด้วย เห็นว่าเป็นเรื่องน่าสนใจ จึงขอถือโอกาสนำ “อันตราย 10 อย่าง” มาเสนอเป็นบาลีวันละคำ

อันตราย 10 อย่าง มีชื่อดังต่อไปนี้ –

(๑) ราชนฺตราย (รา-ชัน-ตะ-รา-ยะ) < ราช + อนฺตราย แปลว่า “อันตรายอันเนื่องด้วยพระราชา

(๒) โจรนฺตราย (โจ-รัน-ตะ-รา-ยะ) < โจร + อนฺตราย แปลว่า “อันตรายอันเนื่องด้วยโจร

(๓) อคฺคฺยนฺตราย (อัก-เคียน-ตะ-รา-ยะ) < อคฺคิ + อนฺตราย แปลว่า “อันตรายอันเนื่องด้วยไฟ

(๔) อุทกนฺตราย (อุ-ทะ-กัน-ตะ-รา-ยะ) < อุทก + อนฺตราย แปลว่า “อันตรายอันเนื่องด้วยน้ำ

(๕) มนุสฺสนฺตราย (มะ-นุด-สัน-ตะ-รา-ยะ) < มนุสฺส + อนฺตราย แปลว่า “อันตรายอันเนื่องด้วยมนุษย์

(๖) อมนุสฺสนฺตราย (อะ-มะ-นุด-สัน-ตะ-รา-ยะ) < อมนุสฺส + อนฺตราย แปลว่า “อันตรายอันเนื่องด้วยอมนุษย์

(๗) วาฬนฺตราย (วา-ลัน-ตะ-รา-ยะ) < วาฬ + อนฺตราย แปลว่า “อันตรายอันเนื่องด้วยสัตว์ร้าย

(๘) สิรึสปนฺตราย (สิ-ริง-สะ-ปัน-ตะ-รา-ยะ) < สิรึสป + อนฺตราย แปลว่า “อันตรายอันเนื่องด้วยงู

(๙) ชีวิตนฺตราย (ชี-วิ-ตัน-ตะ-รา-ยะ) < ชีวิต + อนฺตราย แปลว่า “อันตรายอันเนื่องด้วยชีวิต

(๑๐) พฺรหฺมจริยนฺตราย (พฺรำ-มะ-จะ-ริ-ยัน-ตะ-รา-ยะ) < พฺรหฺมจริย + อนฺตราย แปลว่า “อันตรายอันเนื่องด้วยพรหมจรรย์

อธิบายขยายความ:

โปรดทำความเข้าใจก่อนว่า “อันตราย 10 อย่าง” ดังที่แสดงมานี้เป็นเรื่องเฉพาะกรณีสวดพระปาติโมกข์เท่านั้น กล่าวคือ พระวินัยกำหนดไว้ว่า ภิกษุสงฆ์ต้องประชุมกันฟังพระปาติโมกข์ คือศีล 227 สิกขาบท ทุกกึ่งเดือน (วันกลางเดือนและวันสิ้นเดือน)

ในวันฟังพระปาติโมกข์นั้น ถ้ามีเหตุ 10 อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น มีพุทธานุญาตให้สวดพระปาติโมกข์ย่อได้ (พระปาติโมกข์ปกติใช้เวลาสวดประมาณ 45 นาที พระปาติโมกข์ย่อใช้เวลาสวดประมาณ 5 นาที)

เหตุ 10 อย่างดังกล่าวนี้ท่านเรียกว่า “อันตราย

คำว่า “อันตราย” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง danger หรือ dangerous (ภัย) แต่หมายถึง obstacle, hindrance, impediment to (อุปสรรค, การขัดขวาง, สิ่งกีดขวาง) เป็นเหตุให้ไม่สะดวกที่จะทำกิจนั้นๆ ได้ตามปกติ

อันตราย” แต่ละอย่างมีคำอธิบายตามคัมภีร์อรรถกถาดังนี้

(๑) ราชันตราย = “อันตรายอันเนื่องด้วยพระราชา” ไม่ได้หมายความว่าพระราชาจะมาทำอันตราย หรือชนชั้นปกครองทำอันตรายอะไรบ้างแก่พระสงฆ์หรือประชาชน แต่หมายความว่า “ราชา  อาคจฺฉติ” แปลว่า “พระราชาเสด็จมา” คือพระสงฆ์กำลังเตรียมจะสวดพระปาติโมกข์ พระราชาเสด็จมาในวัดด้วยพระราชกรณียกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง (เช่นเพื่อจะทรงนมัสการพระสถูปเจดีย์) มีพุทธานุญาตให้สวดพระปาติโมกข์ย่อได้เพื่อให้พระสงฆ์ไปรับเสด็จพระราชา

(๒) โจรันตราย = “อันตรายอันเนื่องด้วยโจร” หมายถึง “โจรา  อาคจฺฉนฺติ” แปลว่า “พวกโจรพากันมา” มีพุทธานุญาตให้สวดพระปาติโมกข์ย่อได้เพื่อให้พระสงฆ์มีโอกาสหลบหรือปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งต่อโจร

(๓) อัคคยันตราย = “อันตรายอันเนื่องด้วยไฟ” ไม่ได้มุ่งจะสอนว่าไฟมีอันตรายอย่างไรบ้าง แต่หมายความว่า “ทวทาโห  วา  อาคจฺฉติ อาวาเส  วา  อคฺคิ  อุฏฺฐหติ” แปลว่า “ไฟป่าลามมา หรือเกิดไฟไหม้ขึ้นในอาวาส

(๔) อุทกันตราย = “อันตรายอันเนื่องด้วยน้ำ” ไม่ได้มุ่งจะสอนว่าน้ำมีอันตรายอย่างไรบ้าง แต่หมายความว่า “เมโฆ  วา  อุฏฺฐหติ  โอโฆ  วา  อาคจฺฉติ” แปลว่า “ฝนตกหรือน้ำหลากมา

(๕) มนุสสันตราย = “อันตรายอันเนื่องด้วยมนุษย์” ไม่ได้มุ่งจะสอนว่ามนุษย์เรามีอันตรายอย่างไรบ้าง (เช่นในขณะนี้มนุษย์เป็นตัวแพร่เชื้อโรค) แต่หมายความว่า “พหู  มนุสฺสา  อาคจฺฉนฺติ” แปลว่า “มนุษย์มากันมาก” คือมีคนจำนวนมากเข้ามาในวัด อาจมาดี ไม่ได้มาร้าย เช่นยกขบวนกันมาทอดผ้าป่า กรณีอย่างนี้มีพุทธานุญาตให้สวดพระปาติโมกข์ย่อได้เพื่อให้พระสงฆ์ไปต้อนรับฟังความว่ามาทำอะไรกัน

(๖) อมนุสฺสันตราย = “อันตรายอันเนื่องด้วยอมนุษย์” หมายถึง “ภิกฺขุํ  ยกฺโข  คณฺหาติ” แปลว่า “ผีเข้าภิกษุ” มีพุทธานุญาตให้สวดพระปาติโมกข์ย่อได้เพื่อให้ช่วยกันแก้ไข

(๗) วาฬันตราย = “อันตรายอันเนื่องด้วยสัตว์ร้าย” หมายถึง “พฺยคฺฆาทโย  จณฺฑมิคา  อาคจฺฉนฺติ” แปลว่า “สัตว์ร้ายมีเสือเป็นต้นเข้ามา

(๘) สิริงสปันตราย = “อันตรายอันเนื่องด้วยงู” หมายถึง “ภิกฺขุํ  สปฺปาทโย  ฑํสนฺติ” แปลว่า “สัตว์พิษมีงูเป็นต้นกัดภิกษุ

(๙) ชีวิตันตราย = “อันตรายอันเนื่องด้วยชีวิต” หมายถึง “ภิกฺขุ  คิลาโน  โหติ  กาลํ  วา  กโรติ  เวริโน  วา  ตํ  มาเรตุกามา  คณฺหนฺติ” แปลว่า “มีภิกษุอาพาธ หรือมรณภาพ หรือพวกคนคู่อริปองจะฆ่าเข้ามาจับภิกษุ

(๑๐) พรหมจริยันตราย = “อันตรายอันเนื่องด้วยพรหมจรรย์” ไม่ได้หมายความว่า บวชเข้าประพฤติพรหมจรรย์จะต้องฝ่าฟันอันตรายอะไรบ้าง แต่หมายความว่า “มนุสฺสา  เอกํ  วา  พหู  วา  ภิกฺขู  พฺรหฺมจริยา  จาเวตุกามา  คณฺหนฺติ” แปลว่า “มีคนประสงค์จะให้ภิกษุรูปหนึ่งหรือหลายรูปเคลื่อนจากพรหมจรรย์เข้ามาจับเอาไป” พูดง่ายๆ ว่า มีคนเข้ามาจะจับพระสึก

เมื่อมีกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งใน 10 อย่างดังกล่าวนี้ มีพุทธานุญาตให้สวดพระปาติโมกข์ย่อได้

ขอย้ำว่า “อันตราย 10 อย่าง” เหล่านี้เป็นเงื่อนไขในการที่พระสงฆ์จะสวดพระปาติโมกข์ย่อเท่านั้น ไม่ใช่หลักคำสอนว่า กรณีทั้ง 10 มีพระราชาเป็นต้นนี้เป็นสิ่งที่มีอันตรายหรือก่ออันตรายอะไรบ้าง สิ่งทั้ง 10 นั้นจะมีอันตรายอะไรอย่างไรหรือไม่ ต้องยกไปว่ากันในที่อื่น ไม่อยู่ในกรอบขอบเขตของ “อันตราย 10 อย่าง” ที่ท่านแสดงไว้ในที่นี้

ศึกษาเพิ่มเติม:

– อุโปสถกฺขนฺธก พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 1 พระไตรปิฎกเล่ม 4 ข้อ 167

– สมนฺตปาสาทิกา วินยฏฺฐกถา ภาค 3 หน้า 162-163

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ความไม่รู้ เป็นอันตรายน้อยนิด

: แต่ความเข้าใจผิดๆ เป็นมหันตภัย

#บาลีวันละคำ (2,844)

26-3-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย