บาลีวันละคำ

โค- ในบาลีที่น่าสนใจ (บาลีวันละคำ 2,843)

โค– ในบาลีที่น่าสนใจ

ในช่วงเวลาที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease 2019) ซึ่งเรียกเป็นคำย่อว่า COVID-19 (โควิด-19) คนไทยพูดคำว่า “โควิด” กันติดปาก แต่มักออกเสียงว่า โค-หฺวิด และคนส่วนมากมีจิตประหวัดไปถึง “โค” คือ วัว ทั้งๆ ที่โรคระบาดนี้ไม่ได้เกี่ยวกับวัวเลย และมีคนเป็นอันมากจงใจเปลี่ยนคำ “โควิด” เป็น “โคขวิด” โดยตั้งใจให้หมายถึงถูกวัวขวิดเอา

เป็นอันว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้คนไทยคิดถึงและพูดถึง “โค” คือวัวกันมากเป็นพิเศษ

ผู้เขียนบาลีวันละคำขอถือโอกาสนี้นำคำบาลีที่ขึ้นต้นด้วย “โค-” บางคำที่เห็นว่าน่าสนใจมาเสนอพอเป็นอลังการแห่งความรู้

(๑) “โค

รากศัพท์มาจาก คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ปัจจัย, แปลง คมฺ เป็น โค

: คมฺ + = คม > โค แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่เป็นที่เป็นไปแห่งสัตวโลกทั้งหลาย” (2) “สัตว์ที่ไปเรื่อยๆ

โค” ในบาลีหมายถึง (1) แผ่นดิน (the earth) (2) วัว (a cow, an ox, bull)

แต่ “โค” ในสันสกฤตมีความหมายหลายอย่าง

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

โค : (คำนาม) สวรรค์, เทวโลก; วัวผู้; แสง, รัศมี; สายฟ้า, ขวานฟ้า, คำว่า ‘อัศนิ, อัศนี, วัชร, กุลิศ’ ก็มีนัยอย่างเดียวกัน; จันทร์; อาทิตย์, ตวัน; เวลาอาทิตย์โคจรสู่วฤษภราศิ; ขน, ขนตามตัว; น้ำ; วัวตัวเมีย, โรหิณี; ตา, จักษุส; ศร, ลูกธนู; ทิศ, ดุจทิศตวันออก, ทิศตวันตก, ฯลฯ; ภาษา, พจน์, ภาษณ์, ถ้อยคำ, วาจา; สรัสวดี, ผู้ภควดีแห่งถ้อยคำทั่วไป; ภูมณฑล, โลก; มาตฤ, มารดา, แม่; heaven, paradise or Swarga; a bull, a ray of light; the thunderbolt; the moon; the sun; the moment of the sun’s entering Taurus; the hair of the body; water; a cow; the eye; an arrow; a quarter, as the east, west &c.; speech; Sarasvati, the goddess of speech; the earth; the mother.

(๒) “โคจร

บาลีอ่านว่า โค-จะ-ระ แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “ที่เป็นที่เที่ยวไปแห่งอินทรีย์” คือรูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้น อันรวมเรียกว่า “อารมณ์”

(2) “ที่เป็นที่เที่ยวไปแห่งโค” ความหมายเดิมคือท้องทุ่งสำหรับต้อนโคไปหากิน (pasture) แล้วขยายไปเป็นทุ่งหญ้าสำหรับเลี้ยงสัตว์ทั่วไป และเป็นสำนวนหมายถึง “ออกไปเที่ยวหากิน” (“a cow’s grazing”, search after food; fodder, food, subsistence)

(3) “การท่องเที่ยวไปบนแผ่นดิน” : โค = แผ่นดิน จร = ท่องเที่ยวไป หมายถึง การเดินทางเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ ความหมายนี้บางตำราว่าหมายถึง “การเดินทางของดวงอาทิตย์” : โค = ดวงอาทิตย์

(4) “ที่เหมือนกับที่ท่องเที่ยวไปแห่งโค” คือสถานที่เที่ยวบิณฑบาตของภิกษุ (เปรียบเหมือนสถานที่ซึ่งโคไปเที่ยวหากิน) ถ้าเป็นหมู่บ้านที่ภิกษุเข้าไปบิณฑบาต ก็เรียกว่า “โคจรคาม” บาลีอ่านว่า โค-จะ-ระ-คา-มะ ภาษาไทยอ่านว่า โค-จะ-ระ-คาม ก็ได้ โค-จอ-ระ-คาม ก็ได้

สรุปว่า “โคจร” หมายถึง อารมณ์, อาหาร = การหากิน, การเดินทาง และ สถานที่อันควรไป

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “โคจร” ไว้ว่า –

(1) (คำนาม) อารมณ์ เช่น มีพุทธานุสติเป็นโคจร

(2) (คำกริยา) เดินไปตามวิถี เช่น ดวงอาทิตย์โคจร ดวงจันทร์โคจรรอบโลก

(3) (คำกริยา) เที่ยว เช่น โคจรมาพบกัน

(4) คํานี้โดยมากใช้แก่ดาวนพเคราะห์, เมื่อว่าเฉพาะทางที่พระอาทิตย์โคจร มีจุดสุดอยู่ 6 แห่งที่อยู่ตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ คือ ครีษมายัน กับ เหมายัน คู่หนึ่ง, วสันตวิษุวัต กับ ศารทวิษุวัต คู่หนึ่ง, พสุสงกรานต์ 2 แห่ง คู่หนึ่ง. (ป., ส. โคจร ว่า การเที่ยวไปของดวงอาทิตย์)

คำตรงกันข้ามกับ “โคจร” คือ “อโคจร” หมายเฉพาะถึง บุคคลและสถานที่อันภิกษุไม่ควรไปมาหาสู่ ในคัมภีร์ระบุไว้ 6 อย่าง คือ หญิงแพศยา หญิงหม้าย สาวเทื้อ ภิกษุณี บัณเฑาะก์ (กะเทย) และร้านสุรา

ในสภาพสังคมปัจจุบัน อโคจรของภิกษุสมณะ นอกจากที่ระบุไว้แล้ว ย่อมขึ้นอยู่กับเสียงตำหนิติเตียนของชาวบ้านด้วย เช่น ภิกษุเข้าไปซื้อของในห้างสรรพสินค้า ชาวบ้านติเตียนว่าไม่เหมาะสม ห้างสรรพสินค้าก็นับว่าเป็นอโคจรด้วย

(๓) “โคมัย

บาลีเป็น “โคมย” อ่านว่า โค-มะ-ยะ แปลว่า (1) “สิ่งที่เกิดจากโค” หมายถึง ขี้วัว (2) “เครื่องฉาบทา

คนอินเดียใช้ “โคมัย” คือขี้วัวผสมดินโคลนฉาบผนังบ้าน ต่อมาแม้จะใช้วัสดุอย่างอื่นฉาบทา ก็คงเรียก “โคมัย” อยู่นั่นเอง

สำหรับคนจนในอินเดีย “โคมัย” มีค่ามาก ผสมกับหญ้าแหลกๆ ทำเป็นแผ่นตากแห้ง ใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ดี

คนไทยไม่คุ้นกับคำว่า “โคมัย” เรียกเป็นคำไทยว่า “ขี้วัว” เข้าใจดีกว่า

(๔) “โครักขา

เขียนแบบบาลีเป็น “โครกฺขา” อ่านว่า โค-รัก-ขา แปลว่า “การดูแลสัตว์มีโคเป็นต้น” หมายถึง การเลี้ยงโค, การเลี้ยงปศุสัตว์ (cow-keeping, tending cattle) เป็นอาชีพที่ขึ้นหน้าขึ้นตาอย่างหนึ่งในชมพูทวีป

ในอินเดียมีเมืองหนึ่งชื่อ Gorakhpur อยู่ในรัฐอุตรประเทศ ชื่อเมืองนี้ออกเสียงว่า โค-รัก-ขะ-ปู (ออกเสียง -ขะ- เล็กน้อย) คำบาลีก็คือ “โครกฺขปุร” (โค-รัก-ขะ-ปุ-ระ) แปลว่า “เมืองที่มีการเลี้ยงโค” คือเมืองที่ผู้คนประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์กันอย่างขึ้นขึ้นหน้าขึ้นตา จนกลายเป็นชื่อเมืองไปในที่สุด

(๕) “โคปุระ

คำนี้คนทั่วไปไม่คุ้น แต่นักโบราณคดีคุ้นกันดี บาลีเป็น “โคปุร” อ่านว่า โค-ปะ-ระ ตามรูปศัพท์ที่ตาเห็นน่าจะแปลว่า “เมืองโค” แต่ “โค” ในคำนี้ท่านหมายถึง “วาจา” หรือคำพูด (ดูความหมายคำว่า “โค” ในสันสกฤตข้างต้น)

โคปุร” แปลตามศัพท์ว่า “เมืองแห่งคำพูด” คือสถานที่ที่ผู้คนมาถึงแล้วต้องซักถามกัน หมายถึง ประตูเมือง (the gate of a city)

โคปุระ” ในทางสถาปัตยกรรมโบราณคดีก็คือ ซุ้มประตูทางเข้าสู่ปราสาทนั่นเอง

(๖) “โคบาล

คำนี้นักดูหนังลูงทุ่งตะวันตกรู้จักกันดี คำบาลีว่า “โคปาล” (โค-ปา-ละ) บางทีใช้เป็น “โคปาลก” (โค-ปา-ละ-กะ) ก็มี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ดูแลโค

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ซึ่งฝรั่งเป็นผู้ทำ แปล “โคปาล” ว่า a cowherd, a herdsman ไม่ได้แปลว่า cowboy อย่างที่เรานิยมเรียกกัน

(๗) “โคดม

บาลีเป็น “โคตม” (โค-ตะ-มะ) ภาษาไทยมักเรียกว่า “โคดม” (โค-ดม) แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “ผู้ทรงเป็นเหล่ากอของมุนีชื่อโคตมะเพราะเกิดในวงศ์โคตมะ

(2) “ผู้ทรงเป็นโอรสแห่งโคตมะ

(3) “เหล่ากอของพระอาทิตย์

โคตม” หรือ “โคดม” เป็นพระนามของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้แล้วทรงประกาศพระพุทธศาสนาแก่ชาวโลก และศาสนาของพระองค์ยังคงดำรงอยู่จนถึงปัจจุบันนี้

คนไทยนับถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชีวิตมานานนักหนา แต่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานที่คนไทยจัดทำกันมาจนถึงฉบับ พ.ศ.2554 ก็ยังไม่มีคำว่า “โคตม” หรือ “โคดม” บรรจุไว้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ไม่ใช่โคแต่โควิด

คนยังคิดว่าเป็นโค

: บางคนเป็นคนอยู่ทนโท่

คนยังคิดว่าไม่ใช่คน

#บาลีวันละคำ (2,843)

25-3-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย