ปมาณเวมัตตะ (บาลีวันละคำ 2,898)
ปมาณเวมัตตะ
พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์สูงเท่าไร
อ่านว่า ปะ-มา-นะ-เว-มัด-ตะ
ประกอบด้วยคำว่า ปมาณ + เวมัตตะ
(๑) “ปมาณ”
บาลีอ่านว่า ปะ-มา-นะ รากศัพท์มาจาก ป (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + มา (ธาตุ = นับ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง น เป็น ณ
: ป + มา = ปมา + ยุ > อน = ปมาน > ปมาณ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การนับ” “วิธีอันเขานับ”
“ปมาณ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) เครื่องวัด, ขนาด, จำนวน (measure, size, amount)
(2) เครื่องวัดเวลา, เข็มทิศ, ความยาว, ระยะเวลา (measure of time, compass, length, duration)
(3) อายุ = “โลกิยลักษณะ” (age = “worldly characteristic”)
(4) ขอบเขต (limit)
(5) มาตรฐาน, บทนิยาม, คำบรรยายลักษณะ, มิติ (standard, definition, description, dimension)
บาลี “ปมาณ” สันสกฤตเป็น “ปฺรมาณ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ปฺรมาณ : (คำนาม) ‘ประมาณ,’ มูล, เหตุ; เขตต์; พิสูจน์, หลักฐาน, อธิการหรือศักติ์; ปริมาณ, กำหนดมากน้อย; เวทหรือธรรมศาสตร์; ผู้กล่าวความจริง; นามพระวิษณุ; cause, motive; limit; proof, testimony, authority; measure, quantity; a scripture or work of sacred authority; speaker of the truth; a title of Vishṇu; – ค. นิตย์, นิรันดร; มุขย์, มหัตหรือมหันต์; eternal; principal, capital.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ประมาณ : (คำกริยา) กะหรือคะเนให้ใกล้เคียงจำนวนจริงหรือให้พอเหมาะพอควร เช่น เขาประมาณราคาค่าก่อสร้างบ้านไว้ ๓ ล้านบาท. (คำวิเศษณ์) ราว ๆ เช่น ประมาณ ๓-๔ เดือน. (ส. ปฺรมาณ; ป. ปมาณ).”
พจนานุกรมฯ ไม่ได้เก็บคำว่า “ปมาณ” ไว้ เป็นอันว่าคำนี้ภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ประมาณ”
(๒) “เวมัตตะ”
เขียนแบบบาลีเป็น “เวมตฺต” (เว-มัด-ตะ) รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + มา (ธาตุ = กะ, ประมาณ) + ต ปัจจัย, แผลง อิ ที่ วิ เป็น เอ (วิ > เว), “ลบสระหน้า” คือ อา ที่ มา (มา > ม), ซ้อน ตฺ ระหว่างธาตุกับปัจจัย (มา > ม + ตฺ + ต)
: วิ + มา = วิมา > วิม + ตฺ + ต = วิมตฺต > เวมตฺต (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขากำหนดแตกต่างกัน” หมายถึง ความแตกต่าง, การแตกต่างกัน (difference, distinction)
บาลี “เวมตฺต” ในภาษาไทยใช้เป็น “เวมัต” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เวมัต : (คำนาม) ความต่าง, ความแปลกไป. (ป. เวมตฺต).”
ปมาณ + เวมตฺต = ปมาณเวมตฺต เขียนแบบไทยตามประสงค์เป็น “ปมาณเวมัตตะ” แปลว่า “ความแตกต่างกันแห่งประมาณ” หมายถึง ความแตกต่างกันแห่งความสูงของสรีระ (ปมาณ ในที่นี้มุ่งเฉพาะ ความสูง)
อภิปราย :
“เวมัตตะ” คือเรื่องที่เป็นความแตกต่างของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ คัมภีร์มธุรัตถวิลาสินี อรรถกถาพุทธวงศ์ แสดงไว้ว่ามี 8 เรื่อง หรือ 8 เวมัตตะ ในที่นี้ขอนำมาแสดงเพียงเวมัตตะเดียว คือ “ปมาณเวมัตตะ” =ความแตกต่างกันแห่งความสูงของพระสรีระ
คัมภีร์มธุรัตถวิลาสินี หน้า 539-540 แสดงเรื่อง “ปมาณเวมัตตะ” คือพระพุทธเจ้า 25 พระองค์ แต่ละพระองค์มีพระสรีระสูงเท่าไร สรุปได้ดังนี้
…………..
พระพุทธเจ้า 6 พระองค์เหล่านี้ คือ พระทีปังกร พระเรวตะ พระปิยทัสสี พระอัตถทัสสี พระธัมมทัสสี พระวิปัสสี มีพระสรีระสูง 80 ศอก
พระพุทธเจ้า 4 พระองค์เหล่านี้ คือ พระโกณฑัญญะ พระมังคละ พระนารทะ พระสุเมธะ มีพระสรีระสูง 88 ศอก
พระสุมนพุทธเจ้ามีพระสรีระสูง 90 ศอก
พระพุทธเจ้า 5 พระองค์เหล่านี้ คือ พระโสภิตะ พระอโนมทัสสี พระปทุมะ พระปทุมุตตระ พระปุสสะ มีพระสรีระสูง 58 ศอก
พระสุชาตพุทธเจ้ามีพระสรีระสูง 50 ศอก
พระพุทธเจ้า 3 พระองค์เหล่านี้ คือ พระสิทธัตถะ พระติสสะ พระเวสสภู มีพระสรีระสูง 60 ศอก
พระสิขีพุทธเจ้ามีพระสรีระสูง 70 ศอก
พระพุทธเจ้า 3 พระองค์เหล่านี้ คือ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ มีพระสรีระสูง 40 ศอก 30 ศอก 20 ศอก ตามลำดับ
ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้าของเรามีพระสรีระสูง 18 ศอก (อฏฺฐารสหตฺถุพฺเพโธ)
…………..
ที่นำมาแสดงนี้ ในทางวิชาการถือว่าเป็น “ข้อมูล” มิได้ประสงค์จะให้เชื่อตามนี้
ชาวพุทธมีหน้าที่ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาให้ครบถ้วนทั่วถึง แต่เมื่อศึกษาแล้วจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ย่อมเป็นเสรีภาพทางศาสนาซึ่งทุกคนย่อมมีอยู่อย่างสมบูรณ์
สิ่งที่ควรมีอยู่อย่างสมบูรณ์ให้เท่าๆ กับเสรีภาพทางศาสนาก็คือ สติปัญญา ที่เรียกว่าวิจารณญาณ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ความสูงไม่ใช่ข้อได้เปรียบในการปฏิบัติธรรม
: ความต่ำก็ไม่เป็นอุปสรรคในการบรรลุธรรมขั้นสูง
#บาลีวันละคำ (2,898)
19-5-63