พระธุดงค์ (บาลีวันละคำ 2,897)
พระธุดงค์
ผิดแต่ถ้อยคำ การเข้าใจหลักธรรมอย่าให้ผิด
อ่านวา พฺระ-ทุ-ดง
ประกอบด้วยคำว่า พระ + ธุดงค์
(๑) “พระ”
มีผู้ให้ความเห็นว่าน่าจะมาจาก “วร” (วะ-ระ) ในบาลีสันสกฤต แปลว่า “ผู้ประเสริฐ” แปลง ว เป็น พ ออกเสียงว่า พะ-ระ แล้วกลายเสียงเป็น พฺระ (ร กล้ำ)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “พระ” ไว้ 13 อย่าง ในที่นี้คำว่า “พระ” เป็นคำใช้แทนชื่อเรียกภิกษุสงฆ์
(๒) “ธุดงค์”
บาลีเป็น “ธุตงฺค” อ่านว่า ทุ-ตัง-คะ (เป็น “ธูตงฺค” ก็มี ต่างกันที่ ธุ– กับ ธู-) ประกอบด้วย ธุต + องฺค
(ก) “ธุต” รากศัพท์มาจาก ธุ (ธาตุ = กำจัด) + ต ปัจจัย
: ธุ + ต = ธุต แปลตามศัพท์ว่า “กำจัดอกุศลธรรม”
(ข) “องฺค” (อัง-คะ) คือที่ในภาษาไทยใช้ว่า “องค์” (อง) แปลว่า ส่วนของร่างกาย, อวัยวะ, ชิ้นส่วน, ส่วนประกอบ, ส่วนประกอบของทั้งหมด หรือของระบบ
ธุต + องฺค = ธุตงฺค แปลตามศัพท์ว่า “องค์แห่งผู้กำจัด” “องค์เป็นเครื่องขัดเกลาอกุศลธรรม”
บาลี “ธุตงฺค” ภาษาไทยใช้ว่า “ธุดงค์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า
“ธุดงค-, ธุดงค์ : (คำนาม) องค์ประกอบเครื่องกำจัดกิเลส, ชื่อวัตรปฏิบัติอย่างเคร่งครัดของภิกษุซึ่งเป็นเครื่องกำจัดกิเลส มี ๑๓ อย่าง เช่น การอยู่ในป่า การอยู่โคนไม้. (ป. ธูตงฺค).”
พระ + ธุดงค์ = พระธุดงค์ เป็นคำประสมแบบไทย แปลจากหน้าไปหลังว่า “พระที่ถือธุดงควัตร”
อภิปรายขยายความ :
คนไทยพูดคำว่า “พระธุดงค์” ด้วยความเข้าใจผิดเป็นส่วนมาก คือเมื่อใดก็ตามที่เห็นพระแบกกลด สะพายบาตร สะพายย่าม เดินอยู่ข้างทางหรือที่ไหนๆ สักแห่ง หรือเห็นพระปักกลดพำนักอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ก็จะเรียก จะพูด หรือจะบอกกันทันทีว่า “พระธุดงค์”
คนไทยส่วนมากไม่มีความรู้และไม่เข้าใจด้วยซ้ำไปว่า ที่เรียกว่า “ธุดงค์” นั้นคืออะไร
ธุดงค์คืออะไร ขอสรุปความจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต มาเสนอดังต่อไปนี้ :
…………..
ธุดงค์ หมายถึง องค์คุณเครื่องสลัดหรือกำจัดกิเลส, ข้อปฏิบัติประเภทวัตรที่ผู้สมัครใจจะพึงสมาทานประพฤติได้ เพื่อเป็นอุบายขัดเกลากิเลส ช่วยส่งเสริมความมักน้อยและสันโดษเป็นต้น (Dhutaŋga: means of shaking off or removing defilements; austere practices; ascetic practices) มี 13 ข้อ คือ
1. ปังสุกูลิกังคะ (องค์แห่งผู้ถือทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร – refuse-rag-wearer’s practice)
2. เตจีวริกังคะ (องค์แห่งผู้ถือทรงเพียงไตรจีวรเป็นวัตร – triple-robe-wearer’s practice)
3. ปิณฑปาติกังคะ (องค์แห่งผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร – alms-food-eater’s practice)
4. สปทานจาริกังคะ (องค์แห่งผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับเป็นวัตร – house-to-house-seeker’s practice)
5. เอกาสนิกังคะ (องค์แห่งผู้ถือนั่งฉัน ณ อาสนะเดียวเป็นวัตร คือฉันวันละมื้อเดียว ลุกจากที่แล้วไม่ฉันอีก – one-sessioner’s practice)
6. ปัตตปิณฑิกังคะ (องค์แห่งผู้ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร คือ ไม่ใช้ภาชนะใส่อาหารเกิน 1 อย่างคือบาตร – bowl-food-eater’s practice)
7. ขลุปัจฉาภัตติกังคะ (องค์แห่งผู้ถือห้ามภัตที่ถวายภายหลังเป็นวัตร คือเมื่อได้ปลงใจกำหนดอาหารที่เป็นส่วนของตน ซึ่งเรียกว่าห้ามภัต ด้วยการลงมือฉันเป็นต้นแล้ว ไม่รับอาหารที่เขานำมาถวายอีก แม้จะเป็นของประณีต – later-food-refuser’s practice)
8. อารัญญิกังคะ (องค์แห่งผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร อยู่ห่างบ้านคนอย่างน้อย 500 ชั่วธนู คือ 25 เส้น – forest-dweller’s practice)
9. รุกขมูลิกังคะ (องค์แห่งผู้ถืออยู่โคนไม้เป็นวัตร – tree-rootdweller’s practice)
10. อัพโภกาสิกังคะ (องค์แห่งผู้ถืออยู่ที่แจ้งเป็นวัตร – open-air-dweller’s practice)
11. โสสานิกังคะ (องค์แห่งผู้ถืออยู่ป่าช้าเป็นวัตร – charnel-ground-dweller’s practice)
12. ยถาสันถติกังคะ (องค์แห่งผู้ถืออยู่ในเสนาสนะแล้วแต่เขาจัดให้ – any-bed-user’s practice)
13. เนสัชชิกังคะ (องค์แห่งผู้ถือการนั่งเป็นวัตร คือเว้นนอน อยู่ด้วยเพียง 3 อิริยาบถ – sitter’s practice)
…………..
ข้อควรกำหนดเกี่ยวกับธุดงค์ :
ธุดงค์ไม่ใช่บทบัญญัติทางวินัย ขึ้นกับความสมัครใจ มีหลักทั่วไปในการถือว่า ถ้าถือแล้วช่วยให้กรรมฐานเจริญ หรือช่วยให้กุศลธรรมเจริญ อกุศลธรรมเสื่อม ควรถือ ถ้าถือแล้วทำให้กรรมฐานเสื่อม หรือทำให้กุศลธรรมเสื่อม อกุศลธรรมเจริญ ไม่ควรถือ ส่วนผู้ที่ถือหรือไม่ถือก็ไม่ทำให้กรรมฐานเจริญหรือเสื่อม เช่น เป็นพระอรหันต์แล้วอย่างพระมหากัสสปะ เป็นต้น หรือคนอื่นๆ ก็ตาม ควรถือได้
พระอรหันต์ถือธุดงค์: เพื่อเป็นตัวอย่างแก่พระรุ่นหลังจะได้เกิดกำลังใจในการปฏิบัติขัดเกลา (พระอรหันต์ท่านยังปฏิบัติ ก็แล้วทำไมเล่าเราจึงจะไม่ควรปฏิบัติ)
พระทั่วไปถือธุดงค์: เพื่อสั่งสมประสบการณ์ คือจะได้เป็นอุปนิสัยปัจจัยในการปฏิบัติธรรมให้ได้ผลดียิ่งๆ ขึ้นในกาลต่อไป
การแบกกลดเดินไปในที่ไหนๆ ดังที่เราเห็นกัน ไม่ปรากฏอยู่ในธุดงค์ทั้ง 13 ข้อ
หมายความว่า จะอ้างไม่ได้เลยว่า การแบกกลดเดินไปหรือการปักกลดพักอยู่ตรงนั้นตรงนี้ เป็นการปฏิบัติธุดงค์ ทั้งนี้เพราะในธุดงค์ทั้ง 13 ข้อ ไม่มีข้อไหนเลยที่ระบุว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นการปฏิบัติธุดงค์
แม้ธุดงค์ข้อที่อาจ “ตีความช่วย” ได้ คือ อยู่ป่า อยู่โคนไม้ อยู่ที่แจ้ง อยู่ป่าช้า อยู่ตามที่เขาจัดให้อยู่ (ธุดงค์ข้อ 8, 9, 10, 11, 12) ตีความช่วยว่า ปักกลดในป่า ปักกลดที่โคนไม้ ปักกลดกลางแจ้ง ปักกลดในป่าช้า ปักกลดตรงที่ที่มีคนบอกให้ปัก ก็ตรงกับธุดงค์ข้อนั้นๆ อยู่แล้ว ยังจะว่าไม่เป็นธุดงค์อีกหรือ ดังนี้ ก็ยังมีข้อแย้งได้
คือ ในธุดงควัตรข้อนั้นๆ ท่านไม่ได้ระบุเลยว่า “ต้องปักกลด” หรือ “ต้องอยู่ในกลด” จึงจะเป็นธุดงค์ ถ้าไม่มีกลด ไม่เป็นธุดงค์
เวลานี้เข้าใจกันไปถึงขนาดที่ว่า ต้องมีกลด ต้องแบกกลด หรือต้องนั่งนอนอยู่ในกลด จึงจะเป็นธุดงค์ พอเห็นพระแบกกลดก็พากันเรียกว่า “พระธุดงค์” ทันที
การที่หลักธุดงควัตรกำหนดให้อยู่ตามสถานที่เช่นนั้น เจตนารมณ์อยู่ที่ต้องการตัดการติดในที่อยู่ในอาคารสถานที่ซึ่งมีความสะดวกสบาย ชวนให้ติดสุข และฝึกให้เป็นอยู่อย่างง่ายๆ
พระที่ตั้งใจอยู่ป่า อยู่โคนไม้ อยู่ที่แจ้ง อยู่ป่าช้า แม้ไม่มีกลดเลยสักหลัง และไม่ต้องประกาศหรือ “โชว์” ให้ใครเห็นเลย ก็เป็นธุดงค์แล้ว
พระที่ฉันเฉพาะอาหารที่ไปบิณฑบาตได้มา 1 ฉันมื้อเดียว ฉันเสร็จ ลุกจากที่แล้วแม้จะมีใครเอาอะไรมาประเคนอีกก็ไม่รับไม่ฉัน 1 กำหนดปริมาณและชนิดของอาหารที่จะฉันในมื้อนั้นและลงมือฉันแล้ว ไม่รับเพิ่มแม้จะมีใครเอามาประเคนอีก 1 ฉันเฉพาะในบาตร ไม่ใช้ภาชนะอื่นใด 1
ตั้งใจปฏิบัติดังนี้เป็นนิตย์ ถือว่าเป็นธุดงค์สมบูรณ์แล้ว (ธุดงค์ข้อ 3, 5, 6, 7) โดยไม่ต้องมีกลด ไม่ต้องเดินแบกกลดไปไหนๆ เลย
การที่เห็นพระแบกกลดหรือปักกลด แล้วเราไปเรียกว่า “พระธุดงค์” จึงคลาดเคลื่อน
อย่างไรก็ตาม ถ้าจะพยายามอธิบายช่วย ก็ยังพอทำได้ กล่าวคือ ในสมัยพุทธกาล คนบวชเข้ามาในพระศาสนาเพราะต้องการปฏิบัติธรรม เมื่อถึงเวลาสะดวกก็จะพากันไปแสวงหาสถานที่อันสงบสงัดเพื่อปฏิบัติธรรม สถานที่อันเกื้อกูลแก่การปฏิบัติธรรมที่หาได้ง่ายในสมัยนั้นก็คือป่า และโคนไม้
พระที่ไปแสวงหาที่ปฏิบัติธรรมนั้นไปแต่เพียงลำพังก็มี พากันไปเป็นหมู่คณะก็มี ช่วงเวลาที่กำลังเดินทางไปแสวงหาสถานที่เช่นนี้ ชาวบ้านญาติโยมเห็นเข้าก็เข้าใจได้ว่าพระท่านไปหาที่ปฏิบัติธรรม ก็จะพากันอนุโมทนา บางทีถิ่นที่ชาวบ้านอยู่กันนั้นอยู่ใกล้ป่า ชาวบ้านก็จะนิมนต์ให้พำนักอยู่ในบริเวณนั้นแล้วช่วยกันถวายการอุปถัมภ์บำรุง ถือเป็นการบำเพ็ญบุญพิเศษอย่างหนึ่ง
พระในสังคมไทยนี้เองก็ได้ถือคติข้อนี้สืบมา เมื่อราวครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาขึ้นไป ผู้เขียนบาลีวันละคำยังได้ทันเห็นพระสมัยก่อนเมื่อออกพรรษา รับกฐินแล้ว ส่วนหนึ่งก็จะเข้าป่าทำนองเดียวกับที่พระสมัยพุทธกาลออกไปแสวงหาสถานที่ปฏิบัติธรรม ชาวบ้านเรียกกันว่า “พระรุกขมูล” (ตรงกับธุดงค์ข้อ 9) ใช้เวลาเป็นเดือนๆ จึงจะกลับ พระรุกขมูลดังว่านี้จะมีให้เห็นทุกปี แต่เมื่อนานไปก็ค่อยๆ หายไป จนถึงบัดนี้ กล่าวได้ว่าพระรุ่นหลังๆ ไม่เคยเห็นและไม่รู้จักธรรมเนียมนี้กันแล้ว คำที่เรียกว่า “พระรุกขมูล” ก็เลือนไป เกิดคำเรียกว่า “พระธุดงค์” เข้ามาแทน
ภาพพระแบกกลดหรือหอบหิ้วบริขารเดินไปตามป่าตามดงจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งการปฏิบัติธุดงค์ โดยเฉพาะข้ออยู่ป่า (ข้อ 8) และอยู่โคนไม้ (ข้อ 9) แม้ขณะที่พบเห็นท่านกำลังเดินไปนั้นท่านยังไม่ได้ลงมือปฏิบัติธุดงค์ข้อนั้นๆ เป็นเพียงอยู่ในระหว่างเตรียมการ เราก็เรียกว่า “พระธุดงค์” โดยอนุโลม ดังนี้ ก็ไม่ถึงกับผิดพลาดคลาดเคลื่อนกระไรนักมิใช่หรือ – อย่างนี้คือ “อธิบายช่วย”
แต่เมื่ออธิบายช่วยเช่นนี้แล้ว ก็ต้องช่วยกันอธิบายและทำความเข้าใจให้ถูกให้ตรงว่า หลักปฏิบัติที่เป็น “ธุดงค์” จริงๆ คืออะไรบ้างและปฏิบัติอย่างไร อย่าเพียงแต่เห็นพระแบกกลดเดินไปก็เข้าใจว่านั่นคือ “พระธุดงค์” แล้วเลยพากันเชื่อว่าเพียงแค่แบกกลดเดินก็สำเร็จเป็นธุดงค์เรียบร้อยแล้ว-อย่างที่สังคมไทยเคยเชื่อ เคยถูกทำให้เชื่อ และกำลังเชื่อกันอยู่ในเวลานี้
เคยได้ยินมีผู้อธิบายช่วยว่า การที่พระท่านออกมาเดินเช่นนี้ต้องนับว่าเป็นการดี ทำให้พระท่านได้ออกกำลัง เป็นการบริหารร่างกายที่ดี อนึ่ง การที่พระท่านมาเดินให้ชาวบ้านเห็นเป็นการช่วยทำให้ชาวบ้านได้เห็นสมณะ อันนับเป็นมงคลข้อหนึ่งที่ว่า “สมณานญฺจ ทสฺสนํ” ดังนั้น จะเป็นธุดงค์หรือไม่ใช่ธุดงค์จึงไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร ควรจะช่วยกันอนุโมทนาด้วยซ้ำ
นับเป็นคำอธิบายช่วยได้ คือช่วยทำให้ความหมายของ “ธุดงค์” เบี่ยงเบน สับสน และเลอะเลือนหนักยิ่งขึ้นไปอีก
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าตั้งใจเกลากิเลสให้หมดจด
: ไม่ต้องเดินแบกกลดก็เป็นธุดงค์
#บาลีวันละคำ (2,897)
18-5-63