ยุทโธปกรณ์ (บาลีวันละคำ 2,920)
ยุทโธปกรณ์
ขึ้นอยู่กับว่าจะเอาไปรบกับใคร
อ่านว่า ยุด-โท-ปะ-กอน
ประกอบด้วยคำว่า ยุทธ + อุปกรณ์
(๑) “ยุทธ”
บาลีเป็น “ยุทฺธ” โปรดสังเกตว่ามีจุดใต้ ทฺ อ่านว่า ยุด-ทะ รากศัพท์มาจาก ยุธฺ (ธาตุ = รบ, ต่อสู้) + ต ปัจจัย, แปลง ธฺต (คือ –ธ ที่ ยุธฺ + ต ปัจจัย) เป็น ทฺธ
: ยุธฺ + ต = ยุธฺต (ธฺต > ทฺธ) = ยุทฺธ แปลตามศัพท์ว่า “การต่อสู้กัน” หมายถึง สงคราม, การรบ, การต่อสู้ (war, battle, fight)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ยุทธ-, ยุทธ์ : (คำนาม) สงคราม, การรบพุ่ง. (ป., ส.).”
(๒) “อุปกรณ์”
บาลีเป็น “อุปกรณ” อ่านว่า อุ-ปะ-กะ-ระ-นะ แยกศัพท์เป็น อุป + กรณ
(ก) ความรู้เกี่ยวกับคำว่า “อุป-” :
“อุป-” (ขีด – ข้างหลังหมายความว่าไม่ใช้ตามลำพัง แต่ใช้นำหน้าคำอื่นเสมอ) อ่านว่า อุ-ปะ เป็นคำจำพวกที่ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “อุปสรรค”
นักเรียนบาลีท่องจำคำแปลกันมาว่า “อุป : เข้าไป, ใกล้, มั่น”
“อุป” ในบาลีใช้ในความหมายตามบริบทต่างๆ ประมวลได้ดังนี้ –
(1) ข้างบน, บน (on upon, up)
(2) ข้างนอก (out)
(3) สุดแต่ (up to)
(4) สูงขึ้น, ข้างต้น (higher, above)
(5) ใกล้ชิด, ใกล้เคียง, ใกล้ (close by, close to, near)
(6) ทีเดียว, โดยประการทั้งปวง (quite, altogether)
(7) เกือบ, ราว ๆ, ค่อนข้าง, เล็กน้อย, รอง, โดย –, น้อย ๆ, ทำตามแบบ (nearly, about, somewhat, a little, secondary, by — , miniature, made after the style of)
(ข) “กรณ” อ่านว่า กะ-ระ-นะ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง น เป็น ณ
: กรฺ + ยุ > อน = กรน > กรณ แปลตามศัพท์ว่า “การทำ”
อุป + กรณ = อุปกรณ แปลตามศัพท์ว่า “การเข้าไปทำ” “เครื่องสำหรับเข้าไปทำ”
“อุปกรณ” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) การช่วยเหลือ, การบริการ, การค้ำจุน, วิถีดำรงชีวิต, การดำรงชีพอยู่ (help, service, support; means of existence, livelihood)
(2) เครื่องมือหรือหนทางที่จะบรรลุความประสงค์ (any instrument or means of achieving a purpose)
บาลี “อุปกรณ” สันสกฤตก็เป็น “อุปกรณ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“อุปกรณ : (คำนาม) เครื่องมือ, เครื่องใช้, เครื่องจักร์; ราชกกุธภัณฑ์; การช่วยเหลือ; ‘ศิลปสัมภาร,’ สิ่งซึ่งวิทยาหรือศาสตร์ประดิษฐ์ขึ้นไว้; เครื่องอาศรัยเลี้ยงชีวิต, กะปิ, น้ำปลา, ฯลฯ; apparatus, implements, machines; the insignia of royalty; assistance, help; art-furniture, an object of art or science; means of subsistence, anything supporting life, condiments, sauces, &c.”
บาลี “อุปกรณ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อุปกรณ์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อุปกรณ์ : (คำนาม) เครื่องมือ, เครื่องใช้, เครื่องช่วย, เครื่องประกอบ; (คำที่ใช้ในกฎหมาย) สังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยปรกตินิยมเฉพาะถิ่นหรือโดยเจตนาชัดแจ้งของเจ้าของทรัพย์ที่เป็นประธาน เป็นของใช้ประจำอยู่กับทรัพย์ที่เป็นประธานเป็นอาจิณเพื่อประโยชน์แก่การจัดดูแล ใช้สอย หรือรักษาทรัพย์ที่เป็นประธาน และเจ้าของทรัพย์ได้นำมาสู่ทรัพย์ที่เป็นประธานโดยการนำมาติดต่อหรือปรับเข้าไว้ หรือทำโดยประการอื่นใดในฐานะเป็นของใช้ประกอบกับทรัพย์ที่เป็นประธานนั้น เช่น ยางอะไหล่. (ป., ส.).”
ยุทธ + อุปกรณ์ แผลง อุ ที่ อุป- เป็น โอ (อุป– > โอป-)
: ยุทธ + อุปกรณ์ = ยุทธุปกรณ์ > ยุทโธปกรณ์ แปลว่า “เครื่องมือเพื่อการรบ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ยุทโธปกรณ์ : (คำนาม) วัสดุอุปกรณ์ทั้งปวงและยุทธภัณฑ์ทุกชนิดซึ่งใช้ในราชการทหาร รวมทั้งเครื่องมือยานยนตร์ ชิ้นส่วนอะไหล่สาธารณูปโภคอันจำเป็นเพื่อปฏิบัติการรบหรือเพื่อดำรงและสนับสนุนกิจกรรมทางทหารโดยไม่คำนึงถึงว่าจะมีความมุ่งหมายทางธุรการหรือทางการรบ.”
อภิปราย :
คำว่า “โดยไม่คำนึงถึงว่าจะมีความมุ่งหมายทางธุรการหรือทางการรบ.” หมายความว่าอย่างไร?
ยกตัวอย่าง ปากกาที่เราใช้เขียนหนังสือกันอยู่ทั่วไป ถ้าเอาไปใช้ในหน่วยทหาร ก็คงใช้เขียนหนังสือตามปกตินั่นเอง ไม่ได้เอาไปทิ่มตาฝ่ายข้าศึกแต่ประการใดทั้งสิ้น ปากกานั้นก็ถือว่าเป็น “ยุทโธปกรณ์” ด้วยชนิดหนึ่ง-ตามคำจำกัดความของพจนานุกรมฯ
อย่างนี้ใช่หรือไม่?
…………..
ดูก่อนภราดา!
: รบกับคน ต้องใช้เล่ห์กลทุกชนิด
: รบกับจิต ใช้สติอย่างเดียว
#บาลีวันละคำ (2,920)
10-6-63