บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ปฏิสันถารคารวตา (๒)

ปฏิสันถารคารวตา (๒)

———————-

เพชรที่ถูกหมกโคลน

คัมภีร์ปริวาร พระวินัยปิฎก พระไตรปิฎกเล่ม ๘ ข้อ ๘๕๐ แสดง “คารวะ” ๖ อย่าง ไว้ดังนี้ 

………………..

ตตฺถ  กตเม  ฉ  คารวา,  พุทฺเธ  คารโว  ธมฺเม  คารโว  สงฺเฆ  คารโว  สิกฺขาย  คารโว  อปฺปมาเท  คารโว  ปฏิสนฺถาเร  คารโว.  อิเม  ฉ  คารวา. 

ในหัวข้อเหล่านั้น ความเคารพ ๖ เป็นไฉน? คือ 

ความเคารพในพระพุทธเจ้า 

ความเคารพในพระธรรม 

ความเคารพในพระสงฆ์ 

ความเคารพในสิกขา 

ความเคารพในอัปปมาท 

ความเคารพในปฏิสันถาร 

นี้คือความเคารพ ๖. 

………………..

ในอปริหานิยสูตร อังคุตรนิกาย ฉักกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม ๒๒ ข้อ ๓๐๓-๓๐๔ แสดง “คารวะ” ๖ อย่าง ไว้ดังนี้ 

………………..

(ต้นฉบับบาลีบางส่วนเฉพาะที่เป็นบทหลัก) 

…. ฉยิเม  ภนฺเต  ธมฺมา  ภิกฺขุโน  อปริหานาย  สํวตฺตนฺติ,  กตเม  ฉ,  สตฺถุคารวตา  ธมฺมคารวตา  สงฺฆคารวตา  สิกฺขาคารวตา  อปฺปมาทคารวตา  ปฏิสนฺถารคารวตา.  อิเม  โข  ภนฺเต  ฉ  ธมฺมา  ภิกฺขุโน  อปริหานาย  สํวตฺตนฺตีติ. ….

(คำแปลเต็มพระสูตร)

ครั้งนั้น เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว เทวดาตนหนึ่ง มีรัศมีงามยิ่งนัก ยังวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสวเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่อันควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๖ ประการนี้ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุ ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน? คือ –

ความเป็นผู้เคารพในพระศาสดา ๑ 

ความเป็นผู้เคารพในพระธรรม ๑ 

ความเป็นผู้เคารพในพระสงฆ์ ๑ 

ความเป็นผู้เคารพในสิกขา ๑ 

ความเป็นผู้เคารพในความไม่ประมาท ๑ 

ความเป็นผู้เคารพในปฏิสันถาร ๑ 

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๖ ประการนี้แลย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุ 

เทวดาตนนั้นได้กล่าวดังนี้แล้ว พระศาสดาทรงพอพระทัย ลำดับนั้น เทวดาตนนั้นรู้ว่า “พระศาสดาทรงพอพระทัย (คำ) ของเรา” จึงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วหายไป ณ ที่นั้น

ครั้นพอล่วงราตรีนั้นไป พระผู้มีพระภาคจึงตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อคืนนี้ เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว เทวดาตนหนึ่ง มีรัศมีงามยิ่งนัก ยังวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสวแล้ว เข้ามาหาเราถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่อันควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวกะเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๖ ประการนี้ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุ ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน? คือ –

ความเป็นผู้เคารพในพระศาสดา ๑ 

ความเป็นผู้เคารพในพระธรรม ๑ 

ความเป็นผู้เคารพในพระสงฆ์ ๑ 

ความเป็นผู้เคารพในสิกขา ๑ 

ความเป็นผู้เคารพในความไม่ประมาท ๑ 

ความเป็นผู้เคารพในปฏิสันถาร ๑ 

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๖ ประการนี้แลย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุ 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เทวดาตนนั้นได้กล่าวดังนี้ แล้วอภิวาทเรา ทำประทักษิณแล้วได้หายไป ณ ที่นั้น.

(จบข้อความในอปริหานิยสูตร)

อีกแห่งหนึ่ง ในอัปปมาทสูตร อังคุตรนิกาย สัตตกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม ๒๓ ข้อ ๒๙ แสดง “คารวะ” อีกชุดหนึ่ง มี๗ อย่าง 

๖ อย่างเหมือนในอปริหานิยสูตร เพียงแต่เพิ่ม “สมาธิคารวตา ความเป็นผู้เคารพในสมาธิ” อีกข้อหนึ่ง เรียงลำดับต่อจาก สิกฺขาคารวตา คือแทรกระหว่าง สิกฺขาคารวตา กับ อปฺปมาทคารวตา

ตอนท้ายมีคาถาสรุปดังนี้ 

………………..

สตฺถุครุ ธมฺมครุ 

สงฺเฆ จ ติพฺพคารโว 

สมาธิครุ อาตาปี 

สิกฺขาย ติพฺพคารโว.

อปฺปมาทครุ ภิกฺขุ 

ปฏิสนฺถารคารโว 

อภพฺโพ ปริหานาย 

นิพฺพานสฺเสว สนฺติเก. 

ภิกษุผู้เคารพในพระศาสดา เคารพในพระธรรม 

เคารพอย่างแรงกล้าในพระสงฆ์ 

เคารพในสมาธิ มีความเพียร

เคารพอย่างแรงกล้าในสิกขา 

เคารพในความไม่ประมาท 

เคารพในปฏิสันถาร 

ย่อมเป็นผู้ไม่ควรที่จะเสื่อม

ดำรงอยู่ ณ ที่ใกล้นิพพานทีเดียว

หมายเหตุ: คาถาสรุปนี้ในอปริหานิยสูตรก็มีเหมือนกัน ต่างแต่ไม่มี ๒ บาท คือ “สมาธิครุ อาตาปี สิกฺขาย ติพฺพคารโว.” นอกนั้นเหมือนกัน

………………..

เป็นอันได้ความตามพระไตรปิฎกว่า “ปฏิสันถาร” ท่านจัดเข้าเป็น ๑ ในสิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญ ๗ อย่าง 

๓ อย่างคือพระรัตนตรัย 

อีก ๓ อย่างคือ “สิกขา” “สมาธิ” และ “อัปปมาท” ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติที่สำคัญยิ่งในพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะ “อัปปมาท” (ความไม่ประมาท) เป็นสุดยอดแห่งคำสอนในพระพุทธศาสนา

ทำไมท่านจึงจัด “ปฏิสันถาร” ว่าเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ –

เทียบเท่ากับพระรัตนตรัย 

เทียบเท่ากับการศึกษา 

เทียบเท่ากับสมาธิ 

เทียบเท่ากับความไม่ประมาท 

ทั้งๆ ที่ “ปฏิสันถาร” เป็นธรรมะเพียงแค่ระดับ “มารยาทสังคม” เท่านั้น เป็นเรื่องที่ควรพิจารณาอย่างลึกซึ้ง 

ลองนึกดูง่ายๆ เราให้ความสำคัญแก่พระรัตนตรัยเพียงใด ก็ต้องให้ความสำคัญแก่ “ปฏิสันถาร” เพียงนั้น ใช่หรือไม่

แต่ในสายตาของชาวเราและที่ปฏิบัติกันทั่วไป เราเคยให้ความสำคัญแก่ “ปฏิสันถาร” มากเท่ากับพระรัตนตรัยหรือไม่ เราเห็นความสำคัญของ “ปฏิสันถาร” มากถึงขนาดนั้นหรือไม่ 

ถ้าเทียบกับพระรัตนตรัย เทียบกับการศึกษา เทียบกับสมาธิ เทียบกับความไม่ประมาทแล้ว “ปฏิสันถาร” ก็เป็นม้านอกสายตา แทบจะไม่มีใครนึกถึงกันเลยด้วยซ้ำ ใช่หรือไม่ 

ลองนึกดูเถิด เราทุ่มเทให้กับการศึกษา เรามีสำนักฝึกปฏิบัติสมาธิ เราสอนสมาธิควบคู่กับวิปัสสนาในฐานะเป็นธรรมะระดับสูง เรายกย่องเชิดชูอัปปมาทธรรมไว้ในที่สูงสุด

แต่มีที่ไหนนึกถึง “ปฏิสันถาร” บ้าง มีสำนักไหนบ้างที่ยกเอา “ปฏิสันถาร” ขึ้นมาฝึกสอนกันในระดับสำคัญเหมือนที่ฝึกสอนสมาธิวิปัสสนา

ปฏิสันถารที่ถูกต้องเหมาะสม อำนวยประโยชน์ยิ่งใหญ่ ก่อให้เกิดคุณอนันต์เพียงไร

ปฏิสันถารที่บกพร่อง หละหลวม หรือละเลย ทำลายประโยชน์ยิ่งใหญ่ ก่อให้เกิดโทษมหันต์ปานไร 

ใครจำเรื่องในคัมภีร์ได้บ้าง ลองนำมาเล่าสู่กันฟังสักเรื่องสองเรื่องสิขอรับ-อย่างเรื่องศากยวงศ์พินาศเพราะการปฏิสันถารที่ผิดพลาดนั่นก็ได้

ใครที่ผ่านชีวิตผ่านโลกมาพอสมควร ย่อมจะเคยได้ยินได้ฟังได้รู้ได้เห็น หรือแม้แต่ได้ประสบของจริงมาด้วยตัวเองกันบ้างแล้ว-มากพอที่จะหาเหตุผลมาตอบได้ว่า ทำไมท่านจึงให้ความสำคัญแก่ “ปฏิสันถาร” เทียบเท่ากับพระรัตนตรัย เทียบเท่ากับการศึกษา เทียบเท่ากับสมาธิ และเทียบเท่ากับความไม่ประมาท 

ทำไมเรามองข้าม “เพชร” ที่สำคัญที่สุดกันได้ถึงขนาดนี้?

ถ้ายังไม่เคยคิด ต้องเริ่มคิดกันแล้วนะครับ

และถ้ายังไม่ฉุกคิดว่าเราหมกเพชรเม็ดงามไว้ในโคลน หรือพูดให้ตรงกว่านั้น-เราเหยียบเพชรเม็ดงามไว้ใต้ฝ่าเท้าโดยไม่รู้คุณค่า เราก็จะเป็นมนุษย์ที่โงเขลาเบาปัญญาเป็นที่สุด

วัดสามหมื่น-สี่หมื่นวัด

เพชรสามหมื่น-สี่หมื่นเม็ด

ช่วยกันคิดสิขอรับว่า จะขุดขึ้นมาเจียระไนประดับไว้ในพระศาสนาให้งามแวววาวได้อย่างไร

กราบละขอรับ-กรุณาอย่าลากภูเขามาขวางทางกันอยู่เลย 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๐ มิถุนายน ๒๕๖๓

๑๘:๕๗

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *