บุพภาสี (บาลีวันละคำ 2,921)
บุพภาสี
หนึ่งในคุณสมบัติของคนรับแขก
อ่านว่า บุบ-พะ-พา-สี
ประกอบด้วยคำว่า บุพ + ภาสี
(๑) “บุพ”
บาลีเป็น “ปุพฺพ” อ่านว่า ปุบ-พะ รากศัพท์มาจาก ปุพฺพฺ (ธาตุ = เต็ม) + อ (อะ) ปัจจัย
: ปุพฺพฺ + อ = ปุพฺพฺ (คุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนที่เต็ม” หมายถึง อดีต, แต่ก่อน, ก่อน (previous, former, before)
“ปุพฺพ” สันสกฤตเป็น “ปูรฺว”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ปูรฺวฺว, ปูรฺว : (คำวิเศษณ์) ประถม, แรก, ก่อน; ฝ่ายตวันออก; ทั้งสิ้น, สกล; first, former, prior, initial; eastern, entire; – (คำบุรพบท) ข้างน่า; before, in front of; – (คำนามพหูพจน์) บรรพบุรุษ; ทิศตวันออก; โบราณคดี; ancestors, fore-fathers; the east; an ancient tradition.
ในภาษาไทย ใช้ตามบาลีเป็น “บุพ-” หรือ “บุพพ-” ก็มี ใช้อิงสันสกฤตเป็น “บุรพ-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) ก็มี และแผลงเป็น “บรรพ” เขียนเป็น “บรรพ์” (การันต์ที่ พ) ก็มี
“บุพ-” และ “บุรพ-” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
(1) บุพ-, บุพพ– : (คำวิเศษณ์) ก่อน, ทีแรก; เบื้องต้น, เบื้องหน้า. (ป. ปุพฺพ; ส. ปูรฺว).
(2) บุรพ– : (คำวิเศษณ์) บุพ. (ส. ปูรฺว; ป. ปุพฺพ).
(๒) “ภาสี”
บาลีอ่านตรงตัวว่า พา-สี รากศัพท์มาจาก ภาสฺ (ธาตุ = พูด) + ณี ปัจจัย, ลบ ณ (ณี > อี)
: ภาสฺ + ณี > อี : ภาสฺ + อี = ภาสี (คุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีปกติพูด-” หมายถึง ผู้พูด, ผู้กล่าว (speaking)
ปุพฺพ + ภาสี = ปุพฺพภาสี (ปุบ-พะ-พา-สี) แปลว่า “ผู้มีปกติพูดก่อน”
ขยายความ :
“ปุพฺพภาสี” เป็นหนึ่งในคุณสมบัติของพระพุทธองค์ แสดงไว้ในโสณทัณฑสูตรและกูฏทันตสูตร ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 9 ข้อ 182 และข้อ 203 ดังนี้ –
…………..
(1) เอหิสาคตวาที = กล่าวเชื้อเชิญ (a man of courtesy แปลตามตัว: one who habitually says: “come you are welcome”)
(2) สขิโล = ผูกไมตรี (kindly in speech)
(3) สมฺโมทโก = สุภาพ (polite)
(4) อพฺภากุฏิโก = ไม่หน้านิ่วคิ้วขมวด (not frowning, genial)
(5) อุตฺตานมุโข = ยิ้มแย้มแจ่มใส (speaking plainly, easily understood)
(6) ปุพฺพภาสี = ทักทายก่อน (speaking obligingly)
…………..
ผู้รู้ท่านพิจารณาแล้วลงความเห็นว่า นี่คือคุณสมบัติของคนที่ควรทำหน้าที่รับแขก
คัมภีร์สุมังคลวิลาสินี ภาค 1 หน้า 425 อรรถกถาทีฆนิกาย ตอนอธิบายโสณทัณฑสูตร ขยายความคำว่า “ปุพฺพภาสี” ว่า –
…………..
ภาสนฺโต จ ปฐมตรํ ภาสติ. ตญฺจ โข กาลยุตฺตํ. ปมาณยุตฺตํ อตฺถสนฺนิสฺสิตเมว ภาสติ น นิรตฺถกํ กถํ.
แลเมื่อจะปราศรัยก็จะพูดขึ้นก่อน และพูดถูกจังหวะเวลา พูดแต่พอดี พูดเฉพาะคำที่ได้เรื่องได้ราว ไม่ไร้สาระ
…………..
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปุพฺพภาสี” ว่า speaking obligingly (พูดด้วยความกรุณา) และอ้างถึงคำแปลบางแห่งว่า “not backward in conversation” (ไม่ล้าหลังในการสนทนา)
“ปุพฺพภาสี” ตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่งตามหลักนิยมในภาษาไทย ใช้เป็น “บุพภาสี” (บุบ-พะ-พา-สี)
คำว่า “ภาสี” และ “บุพภาสี” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
อภิปราย :
“บุพภาสี” หมายถึง ผู้ที่เมื่อพบปะเจอะเจอกับใครก็มักทักทายปราศรัยกับผู้ที่ตนพบนั้นก่อน ไม่รอให้อีกฝ่ายเป็นผู้พูดก่อน
ตามปกติ คนที่ยังไม่เคยรู้จักกัน เมื่อพบกัน ถ้าไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งพูดจาขึ้นก่อน ย่อมทำให้รู้สึกอึดอัดหรือเก้อเขินด้วยกันทั้งสองฝ่าย ถ้ามีใครพูดจาทักทายขึ้นก่อนย่อมทำให้รู้สึกสบายใจ สร้างความเป็นกันเอง
คนที่มีลักษณะ “บุพภาสี” ดังกล่าวนี้ย่อมเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะทำหน้าที่ต้อนรับแขกในกิจการทั้งปวงที่ต้องมีการติดต่อสัมพันธ์กับมวลชน
…………..
ดูก่อนภราดา!
: พูดก่อน ทำให้ได้รู้จักกัน
: พูดกันก่อน ช่วยให้ไม่ต้องผิดใจกัน
#บาลีวันละคำ (2,921)
11-6-63