สขิละ (บาลีวันละคำ 2,925)
สขิละ
หนึ่งในคุณสมบัติของคนรับแขก
อ่านว่า สะ-ขิ-ละ
“สขิละ” เขียนแบบบาลีเป็น “สขิล” อ่านว่า สะ-ขิ-ละ เหมือนกัน
“สขิล” รากศัพท์มาจาก สข (เพื่อน, เพื่อนชาย = สขา เพื่อนหญิง = สขี) + อิล ปัจจัย
: สข + อิล = สขิล แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่นำมาซึ่งความเป็นสหาย”
คำบางคำที่ประกอบด้วย “สขิล” เช่น “สขิลวาจตา” (สะ-ขิ-ละ-วา-จะ-ตา) แปลว่า “การใช้วาจาที่เป็นมิตร” (use of friendly speech)
“สขิล” ใช้เป็นคุณศัพท์ :
แสดงลักษณะของวาจา มีความหมายว่า “ถ้อยคำที่นำมาซึ่งความเป็นสหาย” คือคำสุภาพเรียบร้อย นุ่มนวลชวนฟัง
แสดงลักษณะของบุคคล มีความหมายว่า “ผู้มีวาจานำมาซึ่งความเป็นสหาย” คือเป็นคนพูดจาดี สุภาพเรียบร้อย มีลักษณะน่าเข้าใกล้
ขยายความ :
“สขิละ” เป็นหนึ่งในคุณสมบัติของพระพุทธองค์ แสดงไว้ในโสณทัณฑสูตรและกูฏทันตสูตร ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 9 ข้อ 182 และข้อ 203 ดังนี้ –
…………..
(1) เอหิสาคตวาที = กล่าวเชื้อเชิญ (a man of courtesy แปลตามตัว: one who habitually says: “come you are welcome”)
(2) สขิโล = ผูกไมตรี (kindly in speech)
(3) สมฺโมทโก = สุภาพ (polite)
(4) อพฺภากุฏิโก = ไม่หน้านิ่วคิ้วขมวด (not frowning, genial)
(5) อุตฺตานมุโข = ยิ้มแย้มแจ่มใส (speaking plainly, easily understood)
(6) ปุพฺพภาสี = ทักทายก่อน (speaking obligingly)
…………..
ผู้รู้ท่านพิจารณาแล้วลงความเห็นว่า นี่คือคุณสมบัติของคนที่ควรทำหน้าที่รับแขก
คัมภีร์สุมังคลวิลาสินี ภาค 1 หน้า 424-425 อรรถกถาทีฆนิกาย ตอนอธิบายโสณทัณฑสูตร ขยายความคำว่า “สขิโล” ว่า –
…………..
สขิโลติ ตตฺถ กตมํ สาขลฺยํ ยา สา วาจา เนลา กณฺณสุขาติอาทินา นเยน วุตฺตสาขลฺเยน สมนฺนาคโต มุทุวจโนติ อตฺโถ.
คำว่า “สขิโล” หมายถึง ประกอบพร้อมด้วยถ้อยคำผูกไมตรี ที่ท่านกล่าวไว้โดยนัยเป็นต้นว่า “บรรดาวาจาเหล่านั้น คำพูดผูกไมตรีเป็นไฉน คำพูดผูกไมตรีคือวาจาที่หาโทษมิได้ เป็นวาจาดี ไพเราะเสนาะหู” ดังนี้ อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคทรงมีพระดำรัสอ่อนโยน
…………..
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สขิล” ว่า kindly in speech, congenial (มีถ้อยคำอ่อนโยน, เข้ากันได้)
คำว่า “สขิละ” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
อภิปราย :
“สขิละ” หมายถึง ผู้ที่พูดจาสุภาพ อ่อนโยน มีกิริยานุ่มนวล ชวนให้เข้าใกล้ ใครเห็นก็อยากพูดด้วยคุยด้วย พูดจาปราศรัยกับแขกก็ “พูดเรียกแขก” ไม่ใช่ “พูดไล่แขก”
คนที่มีลักษณะ “สขิละ” ดังกล่าวนี้ย่อมเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะทำหน้าที่ต้อนรับแขกในกิจการทั้งปวงที่ต้องมีการติดต่อสัมพันธ์กับมวลชน
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อ่อนโยน ไม่ใช่อ่อนแอ
: แข็งแรง ไม่ใช่แข็งกระด้าง
#บาลีวันละคำ (2,925)
15-6-63