บาลีวันละคำ

สัมโมทกะ (บาลีวันละคำ 2,924)

สัมโมทกะ

หนึ่งในคุณสมบัติของคนรับแขก

อ่านว่า สำ-โม-ทะ-กะ

เขียนแบบบาลีเป็น “สมฺโมทก” อ่านว่า สำ-โม-ทะ-กะ เหมือนกัน

สมฺโมทก” รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน, ดี) มุทฺ (ธาตุ = ยินดี, เบิกบาน, ร่าเริง) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น มฺ (สํ > สมฺ), แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ), แผลง อุ ที่ มุ-(ทฺ) เป็น โอ (มุท > โมท)

: สํ + มุทฺ = สํมุทฺ + ณฺวุ > อก = สํมุทก > สมฺมุทก > สมฺโมทก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยินดีร่วมกัน” (พบใคร เห็นใคร ใครมาหามาพบ ก็มีความชื่นชมยินดีเบิกบานใจร่วมไปกับผู้นั้น)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สมฺโมทก” ว่า polite (สุภาพ)

อันที่จริง “สมฺโมทก” ไม่ได้หมายถึง สุภาพ หรือ polite อย่างเดียว ถ้าดูที่คำกริยาสามัญ คือ “สมฺโมทติ” (สำ-โม-ทะ-ติ) จะพบว่ามีความหมายอย่างอื่นด้วย คือ –

(1) รื่นเริง, ยินดี (to rejoice, delight)

(2) ตกลงกัน, ทักทาย, แสดงความยินดีที่ได้พบกัน (to agree with, to exchange friendly greeting with)

(3) แสดงความสุภาพ, ต้อนรับ (to exchange politeness, to welcome)

สมฺโมทก” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สัมโมทกะ” (สำ-โม-ทะ-กะ)

ขยายความ :

สัมโมทกะ” เป็นหนึ่งในคุณสมบัติของพระพุทธองค์ แสดงไว้ในโสณทัณฑสูตรและกูฏทันตสูตร ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 9 ข้อ 182 และข้อ 203 ดังนี้ –

…………..

(1) เอหิสาคตวาที = กล่าวเชื้อเชิญ (a man of courtesy แปลตามตัว: one who habitually says: “come you are welcome”)

(2) สขิโล = ผูกไมตรี (kindly in speech)

(3) สมฺโมทโก = สุภาพ (polite)

(4) อพฺภากุฏิโก = ไม่หน้านิ่วคิ้วขมวด (not frowning, genial)

(5) อุตฺตานมุโข = ยิ้มแย้มแจ่มใส (speaking plainly, easily understood)

(6) ปุพฺพภาสี = ทักทายก่อน (speaking obligingly)

…………..

ผู้รู้ท่านพิจารณาแล้วลงความเห็นว่า นี่คือคุณสมบัติของคนที่ควรทำหน้าที่รับแขก

คัมภีร์สุมังคลวิลาสินี ภาค 1 หน้า 425 อรรถกถาทีฆนิกาย ตอนอธิบายโสณทัณฑสูตร ขยายความคำว่า “สมฺโมทโก” ว่า –

…………..

สมฺโมทโกติ  ปฏิสนฺถารกุสโล  อาคตาคตานํ  จตุนฺนํ  ปริสานํ  กจฺจิ  ภิกฺขุ  ขมนียํ  กจฺจิ  ยาปนียนฺติอาทินา  นเยน  สพฺพํ  อทฺธานทรถํ  วูปสเมนฺโต  วิย  ปฐมตรํ  สมฺโมทนียกถํ  กตฺตาติ  อตฺโถ.

คำว่า “สมฺโมทโก” คือพระผู้มีพระภาคทรงฉลาดในการปฏิสันถาร หมายความว่า พระองค์ทรงกระทำสัมโมทนียกถาก่อนทีเดียว ดังจะทรงระงับความกระวนกระวาย (ทรถ: anxiety, care, distress) เพราะเดินทางไกลของเหล่าบริษัททั้งสี่บรรดาที่มาถึงแล้วได้สิ้น โดยนัยเป็นต้นว่า กจฺจิ ขมนียํ ดูก่อนภิกษุ เธอสบายดีแลหรือ กจฺจิ ยาปนียํ อาหารการขบฉันยังพอเป็นไปได้แลหรือ …

…………..

คำว่า “สัมโมทกะ” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 คำที่ใกล้เคียงที่สุดที่เก็บไว้คือ “สัมโมท” (สำ-โมด) พจนานุกรมฯ บอกไว้ดังนี้ –

สัมโมท : (คำกริยา) ยินดี, ร่าเริง, พอใจ, สมโมท ก็ว่า. (ป., ส. สมฺโมท).”

สัมโมทกะ” มีความหมายทำนองเดียวกับ “สัมโมท” นั่นเอง

อภิปราย :

สัมโมทกะ” หมายถึง ผู้ที่เมื่อพบปะเจอะเจอกับใครก็มีกิริยาท่าทีร่าเริงแจ่มใส มักทักทายปราศรัยไต่ถามขึ้นก่อนโดยไม่รอให้แขกเอ่ยปากอะไร ทำให้ผู้มาพบมาหารู้สึกสบายใจ เป็นกันเอง ไม่เคอะเขิน

คนที่มีลักษณะ “สัมโมทกะ” ดังกล่าวนี้ย่อมเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะทำหน้าที่ต้อนรับแขกในกิจการทั้งปวงที่ต้องมีการติดต่อสัมพันธ์กับมวลชน

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เพียงยิ้มอย่างจริงใจ

: คุณก็ได้กำไรโดยไม่ต้องลงทุน

#บาลีวันละคำ (2,924)

14-6-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *