บาลีวันละคำ

สมาธิ [1] (บาลีวันละคำ 43)

สมาธิ [1]

อ่านตรงตัวว่า สะ-มา-ทิ

ในทางไวยากรณ์ คำว่า “สมาธิ” ประกอบขึ้นจาก สํ + อา + ธา + อิ = สมาธิ

แปลว่า “การตั้งจิตไว้เป็นอย่างดีในอารมณ์เดียว

อีกนัยหนึ่ง ประกอบขึ้นจาก สม + อาธิ = สมาธิ

แปลว่า “ภาวะที่ทำความฟุ้งซ่านแห่งจิตให้สงบ

มีความเข้าใจกันว่า สมาธิช่วยทำใจให้สบาย คลายทุกข์ หนักแน่น มั่นคง อารมณ์แจ่มใส ความจำดี ทำงานมีประสิทธิภาพ สุขภาพดี นอนหลับสบาย เรียนหนังสือเก่ง ฯลฯ

ความจริงแล้ว ผลดังกล่าวนี้ไม่ใช่เป้าหมายที่ต้องการในพระพุทธศาสนา

สมาธิ เป็นเพียงทางผ่านหรือเครื่องมือที่จะนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดอีกต่อหนึ่ง คือ ใช้เป็นพื้นฐานแห่งปัญญา ความรู้แจ้งชัดในความเป็นจริงจนจิตใจเป็นอิสระจากกิเลสทั้งปวง

ในภาษาไทย สมาธิ คงอ่านว่า สะ-มา-ทิ ตามบาลี เว้นแต่คำว่า “ขัดสมาธิ” อ่านว่า ขัด-สะ-หมาด ไม่ใช่ ขัด-สะ-มา-ทิ

จาก “ขัดสะหมาด” เพี้ยนเป็น “ขัดตะหมาด” แล้วก็ยังแผลงเป็น “ตีตะหมาด” ได้อีกด้วย

บาลีวันละคำ (43)

15-6-55

สมาธิ = สมาธิ ความสงบ, จิตตั้งมั่น (ศัพท์วิเคราะห์)

– เอการมฺมเณ สุฏฺฐุ อาธานํ สมาธิ การตั้งจิตไว้ด้วยดีในอารมณ์เดียว

สํ + อา บทหน้า ธา ธาตุ ในความหมายว่าตั้งขึ้น, ยกขึ้น อิ ปัจจัย, แปลงนิคหิตเป็น ม

– นานาลมฺพณวิกฺเขปวสปฺปวตฺตํ อธิสงฺขาตํ จิตฺตพฺยธํ สเมตีติ สมาธิ ภาวะที่ยังความฟุ้งซ่านแห่งจิตให้สงบ

สมุ ธาตุ ในความหมายว่าสงบ, ระงับ อาธิ ปัจจัย, ลบสระหน้า

สมาธิ

  [สะมาทิ] น. ความตั้งมั่นแห่งจิต; ความสํารวมใจให้แน่วแน่เพื่อให้จิตใจสงบหรือเพื่อให้เกิดปัญญาเห็นแจ้ง. (ป., ส.).