บาลีวันละคำ

ปัจจัตตัง เวทิตพฺโพ (ชุดธรรมคุณ 6) (บาลีวันละคำ 3,776)

…………..

ผู้นับถือพระพุทธศาสนาย่อมสวดสาธยายคุณแห่งพระรัตนตรัย คือ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ กันอยู่เสมอ

คำบาลีแสดงพระธรรมคุณว่าดังนี้ –

…………..

สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม

สนฺทิฏฺฐิโก อกาลิโก เอหิปสฺสิโก

โอปนยิโก ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหีติ.

ที่มา: มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค

พระไตรปิฎกเล่ม 10 ข้อ 89 หน้า 111

…………..

พระพุทธคุณ 6 ท่านนับบทว่า “ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ” เป็นบทที่ 6

บาลีวันละคำขอแยกเป็น “ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ” คำหนึ่ง “วิญฺญูหิ” อีกคำหนึ่ง

“ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ” เป็นคำบาลี 2 คำ คือ “ปจฺจตฺตํ” และ “เวทิตพฺโพ”

(๑) “ปจฺจตฺตํ”

อ่านว่า ปัด-จัด-ตัง ประกอบด้วย ปจฺจ (เฉพาะ) + อตฺตํ (ตน)

ขั้นที่ ๑

“ปจฺจ” รูปเดิมคือ ปฏิ

สูตรทางไวยากรณ์คือ :

(1) แปลง ฏ เป็น ต = ปฏิ > ปติ

(2) แปลง อิ เป็น ย = ปติ > ปตฺย

(3) แปลง ตฺย เป็น จฺจ = ปตฺย > ปจฺจ

หรือสูตรสั้นๆ ว่า “แปลง ปฏิ เป็น ปจฺจ”

ขั้นที่ ๒

“อตฺตํ” (อัด-ตัง) รูปเดิมเป็น “อตฺต” (อัด-ตะ) มาจากรากศัพท์ดังนี้ :

(1) อตฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไปต่อเนื่อง) + ต ปัจจัย

: อตฺ + ต = อตฺต แปลตามศัพท์ว่า –

(๑) “ผู้ทำให้ชีวิตดำเนินต่อเนื่องไปได้” (คือเมื่ออัตตายังมีอยู่ ชีวิตก็ยังดำเนินต่อไปได้)

(๒) “ผู้ถึงทุกข์ต่อเนื่อง” (คือเมื่อยังมีอัตตา ก็มีทุกข์เข้ามาอย่างไม่รู้จบ)

(๓) “ผู้เป็นไปเพื่ออาพาธต่อเนื่อง” (คือเมื่อยังมีอัตตา ก็ยังต้องเจ็บป่วย ถูกบีบคั้นด้วยโรคภัยไม่รู้จบ)

(2) อทฺ (ธาตุ = กิน) + ต ปัจจัย, แปลง ท เป็น ต

: อทฺ + ต = อทต > อตฺต แปลตามศัพท์ว่า –

(๑) “ผู้เสวยสุขและทุกข์” (คือต้องพบทั้งสุขและทุกข์ควบคู่กันไป จะเลือกเสวยแต่สุขอย่างเดียวหาได้ไม่)

(๒) “ผู้ถูกกิน” (คือถูกความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายมันกินเอา)

(3) อา (แทนศัพท์ว่า “อาหิต” = ตั้งลง, หยั่งลง) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + ต ปัจจัย, ลบ อา ที่ อา (อา > อ) และ อา ที่ ธา (ธา > ธ) , แปลง ธฺ เป็น ตฺ

: อา + ธา = อาธา + ต = อาธาต > อธาต > อธต > อตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นที่ตั้งแห่งความถือตัวว่าเป็นเรา” (เพราะมีอัตตา จึงมีการยึดถือว่าตัวกูของกู)

“อตฺต” แปลตามที่เข้าใจกันคือ “ตัวตน” (self, soul) หมายถึง ตัว, ตน, ตัวตน, ร่างกาย, จิตใจ

“อตฺต” เรามักคุ้นในรูป “อตฺตา” ซึ่งเป็นรูปที่แจกด้วยวิภัตติที่หนึ่ง

ในที่นี้ อตฺต แจกด้วยวิภัตติที่สองเป็น อตฺตํ เนื่องจากอยู่ในฐานะเป็นกริยาวิเศษณ์

ขั้นที่ ๓

ปจฺจ + อตฺต = ปจฺจตฺต > ปจฺจตฺตํ

(1) ใช้เป็นคุณศัพท์ (adj.) แปลว่า แยกกัน, แต่ละคน (separate, individual)

(2) ใช้เป็นกริยาวิเศษณ์ (adv.) แปลว่า ต่างหากจากกัน, แต่ละคน, เดี่ยวๆ, โดยตนเอง, ในใจเขาเอง (separately, individually, singly, by himself, in his own heart)

“ปจฺจตฺตํ” นักเรียนบาลีแปลกันโดยทั่วไปว่า “เฉพาะตัว” หมายความว่า ทำหรือรู้อะไรได้เฉพาะตัวเอง คนอื่นไม่อาจทำตามหรือรู้ตามไปด้วยได้ ตัวอย่างเช่นรสอาหาร ผู้ใดกิน ผู้นั้นก็รู้รสได้เฉพาะตัว ผู้ที่ไม่ได้กินไม่สามารถพลอยรู้รสนั้นไปด้วย ต่อเมื่อได้กินเองจึงจะรู้ ซึ่งก็จะรู้ได้เฉพาะตัวอีกเช่นกัน

“ปจฺจตฺตํ” ในที่นี้เขียนแบบไทยเป็น “ปัจจัตตัง”

(๒) “เวทิตพฺโพ”

อ่านว่า เว-ทิ-ตับ-โพ รูปคำเดิมเป็น “เวทิตพฺพ” อ่านว่า เว-ทิ-ตับ-พะ รากศัพท์มาจาก วิทฺ (ธาตุ = รู้) + ตพฺพ ปัจจัย, ลง อิ อาคมหลังธาตุ หน้าปัจจัย (วิทฺ + อิ + ตพฺพ), แปลง อิ ที่ วิ-(ท) เป็น เอ (วิทฺ > เวท)

: วิทฺ + อิ + ตพฺพ = วิทิตพฺพ > เวทิตพฺพ แปลตามศัพท์ว่า “อันเขาพึงรู้” หมายถึง พึงเป็นที่เข้าใจหรือพึงทราบได้ (to be understood or known)

ในที่นี้ “เวทิตพฺพ” เป็นคำขยาย ( = วิเสสนะ) ของ “ธมฺโม” (พระธรรม, ที่คำขึ้นต้นว่า สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม) คำขยายหรือวิเสสนะต้องมีลิงค์ วจนะ วิภัตติ เหมือนคำนามที่ตนขยาย

“ธมฺโม” เป็นคำนาม แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์

“เวทิตพฺพ” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “เวทิตพฺโพ”

“เวทิตพฺโพ” มีคำว่า “ปจฺจตฺตํ” เป็นคำขยายแบบกริยาวิเศษณ์ (adv.) เขียนรวมกันเป็น “ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ” แต่เป็น 2 คำ ไม่ใช่คำเดียวกัน

“ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ” เขียนแบบไทยเป็น “ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ” อ่านว่า ปัด-จัด-ตัง เว-ทิ-ตับ-โพ

ขยายความ :

“ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ” (รวมทั้ง “วิญญูหิ” อีกคำหนึ่ง)” เป็นคุณนามบทที่ 6 ของพระธรรม แปลว่า “พระธรรมเป็นสิ่งที่วิญญูชนพึงรู้ได้เฉพาะตัว”

คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 1 หน้า 278 (ฉอนุสสตินิทเทส) แสดงเหตุที่พระธรรมได้นามว่า “ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ” ไว้ดังนี้ –

…………..

ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหีติ สพฺเพหิปิ อุคฺฆฏิตญฺญูอาทีหิ วิญฺญูหิ อตฺตนิ อตฺตนิ เวทิตพฺโพ ภาวิโต เม มคฺโค อธิคตํ ผลํ สจฺฉิกโต นิโรโธติ ฯ

คำว่า ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ หมายความว่า อันวิญญูชนทั้งหลายมีอุคฆติตัญญูบุคคลเป็นต้นทั้งปวงพึงรู้เฉพาะตัวๆ ว่า มรรคเราบำเพ็ญให้เกิดขึ้นแล้ว ผลเราบรรลุแล้ว นิโรธเราทำให้แจ้งแล้ว

น หิ อุปชฺฌาเยน ภาวิเตน มคฺเคน สทฺธิวิหาริกสฺส กิเลสา ปหิยฺยนฺติ

เพราะว่ากิเลสทั้งหลายของสัทธิวิหาริกจะละด้วยมรรคที่พระอุปัชฌายะบำเพ็ญให้เกิดขึ้นหาได้ไม่

น โส ตสฺส ผลสมาปตฺติยา ผาสุ วิหรติ

สัทธิวิหาริกจะอยู่เป็นผาสุกด้วยผลสมาบัติของพระอุปัชฌายะก็ไม่ได้

น เตน สจฺฉิกตํ นิพฺพานํ สจฺฉิกโรติ ฯ

จะทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานที่พระอุปัชฌายะทำให้แจ้งก็ไม่ได้

ตสฺมา เนส ปรสฺส สีเส อาภรณํ วิย ทฏฺฐพฺโพ

เพราะเหตุนั้น โลกุตรธรรมนั้นบุคคลไม่พึงเห็นดังเช่นเครื่องประดับที่ศีรษะของคนอื่น (ซึ่งจะฉวยเอามาประดับที่ศีรษะของตัวเองได้)

อตฺตโน ปน จิตฺเตเยว ทฏฺฐพฺโพ ฯ

แต่พึงเห็นว่า ธรรมอันวิญญูชนทั้งหลายจะพึงรับรู้เสพเสวยอยู่ในจิตของตัวเองเท่านั้น

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ” สรุปความไว้ดังนี้ –

…………..

ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ : (พระธรรม) อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ผู้อื่นไม่พลอยตามรู้ตามเห็นด้วย เหมือนรสอาหาร ผู้บริโภคเท่านั้นจึงจะรู้รส ผู้ไม่ได้บริโภคจะพลอยรู้รสด้วยไม่ได้ (ข้อ ๖ ในธรรมคุณ ๖)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อยากอิ่ม

: จงกินเอง

#บาลีวันละคำ (3,776)

14-10-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *