(บาลีวันละคำ 3,021)
สวาสดิ์
มาจากภาษาอะไร
อ่านว่า สะ-หฺวาด
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สวาสดิ์ : (คำกริยา) รักใคร่, ยินดี.”
พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกว่า “สวาสดิ์” มาจากภาษาอะไร
เมื่อพิจารณารูปคำที่มี “-ดิ์” อยู่ข้างหลังแล้ว ชวนให้เข้าใจว่า “สวาสดิ์” น่าจะกลายรูปมาจาก “สวัสดิ์”
“สวัสดิ์” เป็นรูปคำสันสกฤต เขียนแบบสันสกฤตเป็น “สฺวสฺติ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “สฺวสฺติ” เก็บไว้ 2 คำ บอกไว้ดังนี้
(สะกดตามต้นฉบับ)
(1) สฺวสฺติ : (คำนาม) นิบาตคือคำอวยชัยให้พร; มงคลนิบาต (ดุจคำว่า – ‘สวัสติ’ จงเปนสุขๆ); ธันยวาทศัพท์; a particle of benediction; an auspicious particle (as- ‘adieu, farewell’); a term of approbation.
(2) สฺวสฺติ : (คำกริยาวิเศษณ์) ‘สวัสติ’ จงเปนสุขๆ, ‘จงสวัสดีมีชัย’ ก็ใช้ตามมติไท [ตามมติสํสกฤตเปน-สฺวสฺติ, ภทฺรํ ภูยาตฺ, ฯลฯ]; adieu, farewell.
“สฺวสฺติ” ในภาษาไทยใช้เป็น “สวัสดิ-” (มีคำอื่นสมาสข้างท้าย) “-สวัสดิ์” (มีคำอื่นสมาสข้างหน้า) “สวัสดิ์” และ “สวัสดี”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) สวัสดิ-, สวัสดิ์ ๑, สวัสดี ๑ : (คำนาม) ความดี, ความงาม, ความเจริญรุ่งเรือง; ความปลอดภัย เช่น ขอให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ ขอให้มีความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคล ขอให้มีความสุขสวัสดี ขอให้สวัสดีมีชัย. (ส. สฺวสฺติ; ป. โสตฺถิ).
(2) –สวัสดิ์ ๒, สวัสดี ๒ : (คำนาม) คำทักทายหรือพูดขึ้นเมื่อพบหรือจากกัน เช่น อรุณสวัสดิ์ ราตรีสวัสดิ์ สวัสดีปีใหม่ สวัสดีครับคุณครู.
สันสกฤต “สฺวสฺติ” บาลีเป็น “สุวตฺถิ” อ่านว่า สุ-วัด-ถิ รากศัพท์มาจาก สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม) + อตฺถิ ( = มี, เป็น)
(ก) “อตฺถิ” เป็นคำกริยา รากศัพท์มาจาก อสฺ (ธาตุ = มี, เป็น) ลบที่สุดธาตุ (อสฺ > อ) + ติ วิภัตติอาขยาต ปฐมบุรุษ เอกพจน์, แปลง ติ เป็น ตฺถิ
: อสฺ > อ + ติ > ตฺถิ : อ + ตฺถิ = อตฺถิ แปลว่า ย่อมมี, ย่อมเป็น
(ข) สุ + อตฺถิ :
สุ แผลงเป็น สุว + อตฺถิ หรือ สุ + ว (คำประเภท “อาคม”) + อตฺถิ : สุ + ว + อตฺถิ = สุวตฺถิ (สุ-วัด-ถิ)
(ลองออกเสียง สุ–อัตถิ เร็วๆ จะได้เสียง สุ-วัด-ถิ หรือ สฺวัด-ถิ)
“สุวตฺถิ” แปลตามศัพท์ว่า “มีดี” หรือ “เป็นดี” หมายถึง ความสวัสดี, ความรุ่งเรือง, ความปลอดภัย; การอยู่ดี, การได้รับพร (well-being, prosperity, safety; well-being, blessing)
หมายเหตุ :
สุ + อตฺถิ ในบาลี ได้รูปเป็นอีกศัพท์หนึ่ง คือ “โสตฺถิ” กระบวนการทางไวยากรณ์คือ แผลง อุ ที่ สุ เป็น โอ
: สุ > โส + อตฺถิ = โสตฺถิ มีความหมายอย่างเดียวกับ “สุวตฺถิ”
กระบวนการกลายรูป –
: โสตฺถิ > สุวตฺถิ > สฺวสฺติ > สวัสดิ > สวาสดิ > สวาสดิ์
ที่ว่ามานี้เป็นความเห็นโดยอัตโนมัติของผู้เขียนบาลีวันละคำ
ท่านผู้ใดมีหลักฐานที่มาที่ชัดเจนแน่นอนกว่านี้ โปรดนำเสนอเพื่อเป็นองค์ความรู้ร่วมกัน
อนึ่ง ในภาษาไทยยังมีคำที่ออกเสียง -สะ-หฺวาด และมีความหมายทำนองเดียวกับ อีก 2 คำ คือ “สวาท” และ “พิศวาส” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) สวาท : (คำนาม) ความรัก ความพอใจ หรือความยินดีในทางกามารมณ์ เช่น รสสวาท พายุสวาท ไฟสวาท. (ปาก) ก. รัก ยินดี หรือ พอใจ เป็นต้น (มักใช้ในเชิงปฏิเสธ) เช่น หน้าตาน่าสวาทนักนี่ คุณคิดว่าเขาสวาทคุณนักหรือ. (ส. สฺวาท ว่า รสอร่อย, รสหวาน).
(2) พิศวาส : (คำวิเศษณ์) รักใคร่, สิเนหา, เช่น ไม่น่าพิศวาส. (ส. วิศฺวาส; ป. วิสฺสาส ว่า ความคุ้นเคย).
“สวาสดิ์” “สวาท” “พิศวาส” มีเสียง -สะ-หฺวาด เหมือนกัน มีความหมายในทำนองเดียวกัน แต่รากศัพท์มาคนละทาง นับว่าชอบกลอยู่
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อะไรทำให้เรามาจากที่ต่างกัน
: อะไรทำให้เราอยู่ร่วมกัน
: และอะไรทำให้เราไปยังที่ต่างกัน
#บาลีวันละคำ (3,021)
19-9-63