บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ขบวนการกินฟรี

ขบวนการกินฟรี

——————

สีสันใหม่ในบุญกฐิน

ถึงวันนี้ “ตู้ปันสุข” แทบจะหายไปจากความทรงจำของพวกเรา

แต่ผมยังคิดถึงอยู่นะครับ

ผมชอบคิดถึงสิ่งที่สังคมมักจะลืมกันไปแล้ว

คิดถึงตู้ปันสุขแล้วก็หวนคิดถึงความรู้สึกในช่วงนั้น-ที่มีข่าวคนกวาดของจนเกลี้ยงตู้

เห็นข่าวคนกวาดของใน “ตู้ปันสุข” เกลี้ยงตู้แล้ว ผมคิดอะไร 

(ผมคิดอะไร – นี่เป็นสำนวนของท่านศาสตราจารย์ ดร.อุทิส ศิริวรรณ ขออนุญาตยืมมาใช้หน่อยนะครับ)

ผมคิดถึงขบวนการกินฟรีงานกฐิน 

นึกออกไหมครับ เวลาวัดต่างๆ มีงานบุญกฐิน ทางวัดจะจัดอาหารไว้ต้อนรับเจ้าภาพ – นี่หมายถึงรูปแบบดั้งเดิมนะครับ 

ตั้งโรงครัวกันครึกครื้นมาก หุงข้าวกระทะ ขูดมะพร้าว ตำน้ำพริก ทำขนม ฯลฯ เตรียมไว้ต้อนรับคณะกฐิน 

ชาวบ้านไปงานกฐินก็ด้วยเจตนาไปร่วมบุญ ทั้งบริจาคทรัพย์เป็นบริวารกฐิน ทั้งช่วยงาน ยก หยิบ เก็บ กวาด จัดแจง 

อนุโมทนากฐินด้วยกัน 

กินข้าวด้วยกัน

ได้ทั้งบุญ ได้ทั้งมิตรภาพ 

พอสภาพสังคมเปลี่ยน เลิกวิธีตั้งโรงครัว เปลี่ยนมาเป็นวัดบอกบุญออกร้าน งานกฐินร้านของกินเต็มวัด

เจตนาเดิมก็ยังคงอยู่ คือเลี้ยงคนที่มาร่วมบุญกฐิน 

คนที่ไปงานกฐิน ก็ยังคงมีกุศลเจตนา คือไปร่วมบุญ ไปอนุโมทนา 

แต่แล้วก็เกิดมนุษย์จำพวกหนึ่งขึ้นมา คือไปงานกฐินเพื่อไปกินลูกเดียว 

บริจาคก็ไม่ 

อนุโมทนาก็ไม่ 

ช่วยแรงหยิบยกเก็บกวาดก็ไม่ 

ไปเพื่อกินอย่างเดียว

บางทีขนกลับบ้านด้วย

กินแล้วสะบัดตูด

ไม่ช่วยเก็บกวาดอะไรทั้งสิ้น

มิหนำซ้ำทำให้สกปรกเลอะเทอะอีกต่างหาก 

ช่วงเทศกาลกฐิน มนุษย์จำพวกนี้จะออกลาดตระเวน มีรถขี่อย่างดี เข้าวัดนั้นออกวัดนี้ มีความสุขในการไปตระเวนกิน 

จะว่าอดอยากยากจนก็ไม่ใช่

แต่น่าจะใกล้ไปทางโรคจิต 

แล้วก็จะมีท่านจำพวกหนึ่งออกมาอธิบายปกป้องมนุษย์จำพวกนี้ว่า – ก็งานบุญกฐินเขาจัดอาหารไว้เลี้ยงคน มนุษย์พวกนั้นก็เป็นคน เขามากิน ก็เป็นการสมประสงค์ของทุกฝ่ายแล้ว จะมาคิดเล็กคิดน้อยอะไรกันนักหนา ควรถือว่าเป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง 

มนุษย์ตระเวนกินงานบุญกฐินจึงสามารถดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ได้อย่างสบาย

มนุษย์ที่กวาดตู้ปันสุขก็น่าจะมีอาการแบบเดียวกัน คือไม่ใช่คนอดอยากยากจนถึงขนาดไม่มีอะไรจะกิน ไม่ใช่ทำเพราะความหิว แต่ทำเพราะถูกความโลภครอบงำ

ใกล้จะออกพรรษา 

ใกล้จะถึงเทศกาลบุญกฐิน

และใกล้จะถึงเวลาขบวนการกินฟรีออกแสวงบุญ

เตรียมตัวเตรียมใจอนุโมทนากับขบวนการนี้กันนะครับ

ขอบคุณที่เข้ามาช่วยสร้างสีสันใหม่ให้แก่บุญกฐินของเมืองไทย 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๘ กันยายน ๒๕๖๓

๑๙:๕๕

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *