วิสามัญฆาตกรรม (บาลีวันละคำ 3,028)
วิสามัญฆาตกรรม
ถ้าไม่อยากทำ จะทำอย่างไร
อ่านว่า วิ-สา-มัน-คาด-ตะ-กำ
ประกอบด้วยคำว่า วิสามัญ + ฆาตกรรม
(๑) “วิสามัญ”
ประกอบด้วย วิ + สามัญ
(ก) “วิ” เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่างๆ กัน
(ข) “สามัญ” บาลีเป็น “สามญฺญ” อ่านว่า สา-มัน-ยะ รากศัพท์มาจาก –
(1) สมาน (สะ-มา-นะ, เสมอกัน, เหมือนกัน, เหมาะสมกัน) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, ยืดเสียง ส– (ที่ สมาน) เป็น สา– ด้วยอำนาจ ณฺย ปัจจัย, แปลง อาน (ที่ –มาน) กับ ย เป็น ญฺญ
: สมาน + ณฺย = สมานณฺย > สมานฺย > สามานฺย > สามญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เสมอกัน” หมายถึง (1) เหมือนกัน, เสมอกัน, เท่ากัน, อย่างเดียวกัน (similar, equal, even, same) (2) สามัญ, ความเสมอกัน, การอนุวัตตาม; ความเป็นหนึ่ง, วงสมาคม (generality; equality, conformity; unity, company)
(2) สมณ (สะ-มะ-นะ, นักบวช, นักพรต) + ณฺย ปัจจัย (กฎการแปลงทำนองเดียวกับ สมาน + ณฺย)
: สมณ + ณฺย = สมณณฺย > สมณฺย > สามณฺย > สามญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นสมณะ” คือ ภาวะแห่งนักบวช, ชีวิตของนักพรต (true Samaṇaship, the life of the recluse)
“สามญฺญ” ในภาษาไทยใช้ว่า “สามัญ” (สา-มัน) มักใช้ตามความหมายในข้อ (1) เป็นส่วนมาก คำนี้เขียนตามสันสกฤตเป็น “สามานย์” (สา-มาน)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
(1) สามานฺย : (คุณศัพท์) ‘สามานยะ’ สาธารณะ; common.
(2) สามานฺย : (คำนาม) ‘สามานยะ’ เภท, ประเภท; ชาติธรรม, วิเศษลักษณะ; สามานยทรัพย์; โลกกฤตย์; ชนการย์หรือคณกรรมน์; สากลย์; รูปอลังการศาสตร์; สตรีที่เปนสาธารณะแก่ชายทั้งหลาย, หญิงแพศยา; kind, sort; specific property, generic character, or foremost quality; common property; public affairs or business; totality, the whole; a figure of rhetoric; a female who is common to all men, a harlot.
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) สามัญ– ๑ : (คำนาม) ความเป็นสมณะ เช่น สามัญผล. (ป. สามญฺญ; ส. ศฺรามณฺย).
(2) สามัญ ๒ : (คำวิเศษณ์) ปรกติ, ธรรมดา, เช่น ชนชั้นสามัญ คนสามัญ. (ป. สามญฺญ; ส. สามานฺย).
(3) สามานย์ : (คำวิเศษณ์) เลวทรามตํ่าช้า เช่น ลูกสามานย์ทำร้ายพ่อแม่, มักใช้เข้าคู่กับคำ ชั่วช้า เป็น ชั่วช้าสามานย์. (ส. สามานฺย).
(4) สามานย– : (คำวิเศษณ์) ปรกติ, ธรรมดา, เช่น สามานยนาม. (ส. สามานฺย; ป. สามญฺญ).
ความหมายโดยสรุปตามที่มักเข้าใจกันในภาษาไทย :
– สามัญ = ปรกติ, ธรรมดา
– สามานย์ = ชั่วช้า, เลวทราม
ในที่นี้ “สามัญ” ใช้ในความหมายว่า ปรกติ, ธรรมดา
วิ + สามัญ = วิสามัญ แปลตามศัพท์ว่า “แปลกจากธรรมดา”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วิสามัญ : (คำวิเศษณ์) ไม่ใช่ธรรมดา, ไม่ใช่สามัญ, เช่น ข้าราชการวิสามัญ สมาชิกวิสามัญ ประชุมสมัยวิสามัญ, พิเศษเฉพาะเรื่อง เช่น คณะกรรมาธิการวิสามัญ.”
(๒) “ฆาตกรรม”
อ่านว่า คาด-ตะ-กำ ประกอบด้วยคำว่า ฆาต + กรรม
(ก) “ฆาต” บาลีอ่านว่า คา-ตะ รากศัพท์มาจาก หนฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + อ ปัจจัย, แปลง หนฺ เป็น ฆาต
: หนฺ+ อ = หน > ฆาต แปลตามศัพท์ว่า “การเบียดเบียน” หมายถึง การทำให้ตาย, ฆาตกรรม; การประหาร, การทำลาย, การปล้น (killing, murdering; slaughter, destruction, robbery)
ในทางหลักภาษา “ฆาต” อาจแปลได้หลายลักษณะ คือ
– การทำให้ตาย > การฆ่า
– ผู้ทำให้ตาย > ผู้ฆ่า
– อุปกรณ์เป็นเครื่องทำให้ตาย > เครื่องมือฆ่า
– สถานที่เป็นที่ทำให้ตาย > ที่ฆ่า > ที่ตาย
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ฆาต, ฆาต– : (คำนาม) การฆ่า, การทำลาย. (คำกริยา) ตี เช่น เจ้าวิลาสฆาตกลองเร่งกองรบ (อภัย).”
(ข) “กรรม” บาลีเขียน “กมฺม” (กำ-มะ) สันสกฤตเป็น “กรฺม” ไทยเขียนอิงสันสกฤตและนิยมพูดทับศัพท์ว่า “กรรม”
“กรรม” ในแง่ภาษา –
1- รากศัพท์คือ กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ, ปัจจัย)
2- ลบ รฺ ที่ธาตุ : กรฺ = ก- และ ร ที่ปัจจัย : รมฺม = -มฺม
3- กร > ก + รมฺม > มฺม : ก + มฺม = กมฺม
4- แปลตามศัพท์ว่า “การกระทำ” “สิ่งที่ทำ” (the doing, deed, work)
“กรรม” ในแง่ความหมาย –
1- การกระทำทั้งปวง เรียกว่า กรรม
2- การถูกทำ, สิ่งที่ถูกทำ, ผลของการกระทำ ก็เรียกว่า กรรม
3- การทำกิจการงาน, การประกอบอาชีพ ก็เรียกว่า กรรม
4- พิธีกรรม, พิธีการต่างๆ ก็เรียกว่า กรรม
“กรรม” ในแง่ความเข้าใจ –
1- กฎแห่งกรรม คือ “ทำดี-ดี ทำชั่ว-ชั่ว ดุจปลูกพืชชนิดใด ต้องเกิดผลดอกใบของพืชชนิดนั้น”
2- กรรมมี 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นผล คือสภาพทั้งปวงที่เรากำลังเผชิญหรือประสบอยู่ และส่วนที่เป็นเหตุ คือสิ่งที่เรากำลังกระทำอยู่ในบัดนี้ ซึ่งจะก่อให้เกิดส่วนที่เป็นผลในลำดับต่อไป (ผู้ที่ไม่เข้าใจ เมื่อมอง “กรรม” มักเห็นแต่ส่วนที่เป็นผล แต่ไม่เห็นส่วนที่เป็นเหตุ)
3- กรรม เป็นสัจธรรม ไม่ขึ้นกับความเชื่อหรือความเข้าใจของใคร ไม่ว่าใครจะเชื่ออย่างไรหรือไม่เชื่ออย่างไร กรรมก็เป็นจริงอย่างที่กรรมเป็น
ฆาต + กมฺม = ฆาตกมฺม (คา-ตะ-กำ-มะ) > ฆาตกรรม แปลตามศัพท์ว่า “กรรมคือการฆ่า” “การทำซึ่งการฆ่า”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ฆาตกรรม : (คำนาม) การฆ่าคน. (ป. ฆาต + ส. กรฺมนฺ).”
“ฆาตกรรม” แปลเป็นคำอังกฤษสามัญที่เข้าใจกัน คือ murder
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล murder เป็นบาลี ดังนี้ –
(1) manussaghātana มนุสฺสฆาตน (มะ-นุด-สะ-คา-ตะ-นะ) = การฆ่าคน
(2) vadho วโธ (วะ-โท) > วธ (วะ-ทะ) = การตี, การฆ่า; การฆ่าฟัน, การทำลาย
ขยายความ :
“ฆาตกรรม” ตามความหมายที่รู้สึกกันในสังคม เล็งถึงการวางแผนหรือตั้งใจไว้ล่วงหน้าว่าจะฆ่า ไม่ว่าการวางแผนหรือตั้งใจนั้นจะเกิดขึ้นล่วงหน้าเป็นเวลานานหรือเกิดขึ้นในทันทีทันใด ถ้าสามารถหลีกเลี่ยงที่จะไม่ฆ่าก็ได้ แต่ก็ยังจงใจที่จะฆ่า การฆ่าที่ตั้งใจทำเช่นว่านี้เรียกว่า “ฆาตกรรม”
การฆ่าตามอำนาจหน้าที่ เช่นการประหารชีวิตนักโทษ
การฆ่าที่กระทำเพราะเหตุสุดวิสัย เช่นการป้องกันตัว หรือการตายเพราะอุบัติเหตุ
การฆ่าเนื่องจากการระงับเหตุซึ่งไม่มีทางเลี่ยงเป็นอย่างอื่น เช่นตำรวจยิงต่อสู้กับผู้ร้าย
การฆ่าอันเกิดขึ้นในการสู้รบหรือการสงคราม (เราไม่ฆ่าเขา เขาก็ฆ่าเรา)
การฆ่าตามลักษณะดังกล่าวนี้ แม้จะเป็น “การทำให้ตาย” ตามความหมายของถ้อยคำ แต่ก็ไม่อยู่ในความหมายของคำว่า “ฆาตกรรม” ตามเจตนารมณ์ของคำนี้
ตั้งใจฆ่าทั้งๆ ที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ จึงจะเป็น “ฆาตกรรม” ตามเจตนารมณ์ของคำนี้
ว่าโดยสำนวนโวหารหรือโดยอุปมา “ฆาตกรรม” อาจไม่ใช่การฆ่าหรือการล้างชีวิตเสมอไป
การทำให้เกิดความเสื่อมเสีย ความถดถอยย่อยยับ หรือความพินาศเสียหายแก่วิถีชีวิตของบุคคล แก่สถาบัน แก่กิจการ หรือแก่วัฒนธรรม ประเพณี อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็อาจพูดได้ว่าเป็นการ “ฆาตกรรม” ด้วยเช่นกัน เช่น –
“ขณะนี้พระพุทธศาสนากำลังถูกวางแผน ‘ฆาตกรรม’ อย่างเลือดเย็น”
วิสามัญ + ฆาตกรรม = วิสามัญฆาตกรรม
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วิสามัญฆาตกรรม : (คำที่ใช้ในกฎหมาย) (คำนาม) ฆาตกรรมที่ผู้ตายถูกเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ฆ่าตาย หรือถูกฆ่าตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่.”
ข้อสังเกต :
คำว่า “วิสามัญฆาตกรรม” นี้ ความหมายคล้ายๆ กับที่คำเก่าเรียกว่า “จับตาย” คือผู้กระทำความผิดร้ายแรงไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่จับกุมแต่โดยดี และเจ้าหน้าที่เห็นว่าไม่มีวิธีอื่นอีกแล้ว ก็จะใช้วิธี “จับตาย” เป็นการตั้งใจทำให้ตายตามอำนาจหน้าที่
แต่ “วิสามัญฆาตกรรม” หมายถึง ไม่ได้ตกลงใจที่จะจับตาย แต่ในการปฏิบัติเพื่อจะจับกุมนั้นมีเหตุสุดวิสัยหรือไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เป็นเหตุให้ต้องใช้วิธี “ทำให้ตาย” โดยไม่ได้ตั้งใจมาก่อน
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าทุกฝ่ายใช้วิธีประพฤติธรรม
: วิธีวิสามัญฆาตกรรมก็ไม่จำเป็นต้องใช้
#บาลีวันละคำ (3,028)
26-9-63