วิมลสรสิทธิ์ – สิลิฐสรคุณ (บาลีวันละคำ 3,029)
วิมลสรสิทธิ์ – สิลิฐสรคุณ
คำว่า “วิมลสรสิทธิ์” “สิลิฐสรคุณ” เป็นนามพระครูฐานานุกรมของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์
ตาม “ประกาศเลื่อนแลตั้งสมณศักดิ์สมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ” เมื่อปี 2453 (รัชกาลที่ 6) ทรงสถาปนาเลื่อนพระพิมลธรรม (ยัง เขมาภิรโต) วัดโสมนัสวิหาร เป็น “สมเด็จพระมหาวีรวงศ์” รูปแรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (เป็นสมณศักดิ์เฉพาะพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุต) คำประกาศท่อนท้ายที่กล่าวถึงการตั้งฐานานุกรม มีความว่าดังนี้ (สะกดตามต้นฉบับราชกิจจานุเบกษา)
…………..
… มีถานานุศักดิ์ควรตั้งถานานุกรมได้ ๑๐ รูป คือ พระครูปลัดสัมพิพัฒวิริยาจารย์ สุนทรธรรมปฏิภาณอรรถโกศล วิมลญาณมหาสังฆนายก ธรรมยุกติกติลกสถาวีรกิจการี มีนิตยภัตรราคาเดือนละ ๑๒ บาท ๑ พระครูวินัยธร ๑ พระครูวินัยธรรม ๑ พระครูวิมลสรสิทธิ์ ๑ พระครูสิลิฐสรคุณ ๑พระครูบรรณวัตร ๑ พระครูพัทธกิจ ๑ พระครูสังฆบริคุต ๑ พระครูสมุห์ ๑ พระครูใบฎีกา ๑ รวม ๑๐ รูป
…………..
พระครูวิมลสรสิทธิ์ และ พระครูสิลิฐสรคุณ 2 รูปนี้กำหนดสถานะเป็น “พระครูคู่สวด”
เมื่อรู้สถานะเช่นนี้แล้ว ก็เข้าใจความหมายของนาม “วิมลสรสิทธิ์” และ “สิลิฐสรคุณ” ได้ชัดเจนขึ้น
คำที่เป็นหลักคือ “วิมล” “สิลิฐ” “สร”
(๑) “วิมล”
รูปคำบาลีประกอบด้วย วิ + มล
(ก) “วิ” เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่างๆ กัน
(ข) “มล” บาลีอ่านว่า มะ-ละ รากศัพท์มาจาก มลฺ (ธาตุ = เคลื่อนที่; มัวหมอง) + อ (อะ) ปัจจัย
: มลฺ + อ = มล แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่เคลื่อนออกมา” (เช่นสิ่งสกปรกจากร่างกาย) (2) “สิ่งเป็นเหตุให้มัวหมอง”
“มล” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง สิ่งที่ไม่บริสุทธิ์, มลทิน; ความสกปรก, ของโสโครก; ความไม่บริสุทธิ์ (anything impure, stain; dirt; impurity)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “มล” ในสันสกฤตไว้ดังนี้ –
“มล : (คุณศัพท์) เปื้อนเปรอะ; dirty; – (คำนาม) สิ่งโสมมหรือเปื้อนเปรอะทั่วไป; บาป; dirt or filth in general; sin.”
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “มละ” เป็นอังกฤษว่า –
Mala: dirt; impurity; stain; refuse; dust.
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มล, มล– : (คำนาม) ความมัวหมอง, ความสกปรก, ความไม่บริสุทธิ์; สนิม, เหงื่อไคล. (คำวิเศษณ์) มัวหมอง, สกปรก, ไม่บริสุทธิ์. (ป., ส.).”
วิ + มล = วิมล (วิ-มะ-ละ) (คุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “มีมลทินไปปราศแล้ว” หมายถึง ปราศจากมลทิน, ไม่ด่างพร้อย, ไม่แปดเปื้อน, สะอาด, บริสุทธิ์ (without stains, spotless, unstained, clean, pure)
(๒) “สิลิฐ”
บาลีเป็น “สิลิฏฺฐ” อ่านว่า สิ-ลิด-ถะ รากศัพท์มาจาก สิลิสฺ (ธาตุ = กอดรัด, รวมกัน, ติดกัน) + ต (ตะ) ปัจจัย, แปลง ต กับ สฺ ที่สุดธาตุเป็น ฏฺฐ
: สิลิสฺ + ต = สิลิสฺต > สิลิฏฺฐ แปลตามศัพท์ว่า “ติดกันแล้ว”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สิลิฏฺฐ” ว่า adhering, connected (ติด, เกี่ยวเนื่อง)
คัมภีร์อรรถกถา (มโนรถปูรณี ภาค 3 หน้า 551; ธัมมปทัฏฐกถา ภาค 3 กสกวัตถุ และ สุมนมาลาการวัตถุ) ไขความไว้ว่า “สิลิฏฺฐ” (สิลิฏฺฐก) มีความหมายเหมือนคำว่า สาธุ ภทฺทก สุนฺทร คือหมายถึง ดี งาม
ครูบาอาจารย์รุ่นเก่าแปล “สิลิฏฺฐ” ว่า “สละสลวย” หมายถึง ถ้อยคำหรือเสียงที่เปล่งออกมาแล้วรื่นไหลไม่ตะกุกตะกัก
ตามรากศัพท์ “สิลิฏฺฐ” แปลว่า ติดกัน เกี่ยวเนื่องกัน ดังนั้น เมื่อใช้เป็นคำขยาย “สร = เสียง” ก็ตีความให้คล้อยตามรากศัพท์ว่า ถ้อยคำหรือเสียงที่เปล่งออกมาติดต่อกันไป ราบรื่น คล่องแคล่ว ไม่สะดุด นั่นแหละคือความหมายของ “สิลิฏฺฐ”
บาลี “สิลิฏฺฐ” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่งตามหลักนิยม ใช้เป็น “สิลิฐ”
คำว่า “สิลิฐ” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
(๓) “สร”
บาลีอ่านว่า สะ-ระ รากศัพท์มาจาก สรฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป; แล่นไป; ออกเสียง; เบียดเบียน; ยิง, ซัด) + อ (อะ) ปัจจัย
: สรฺ + อ = สร มีความหมายหลายอย่าง คือ –
(1) สร = สระ (ที่คู่กับพยัญชนะ) (a vowel) แปลตามศัพท์ว่า “อักษรที่เป็นไปเองได้โดยไม่ต้องอาศัยอักษรอื่น” หรือ “อักษรเป็นเครื่องเป็นไปได้แห่งอักษรอื่นๆ” (เพราะมีสระ พยัญชนะจึงออกเสียงได้)
(2) สร = เสียง, เสียงสูงต่ำ, สำเนียง, การออกเสียง (sound, voice, intonation, accent) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่แล่นไปสู่ (โสตประสาท) ผู้ฟัง” ดังคำว่า “สรภัญญะ” = “สวดด้วยเสียง” หมายถึงสวดมนต์เป็นทำนอง
(3) สร = ลูกศร (an arrow) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องเบียดเบียนสัตว์” หรือ “สิ่งอันเขายิงไป” (พจนานุกรมบาลี-อังกฤษว่า “สร” เป็นชื่อของไม้อ้อ [the reed, saccharum] อาวุธชนิดนี้แต่เดิมทำด้วยไม้อ้อ จึงได้ชื่อว่า “สร”)
(4) สร = สระน้ำ, บึง, หนองน้ำธรรมชาติ (a lake) แปลตามศัพท์ว่า “แหล่งน้ำที่เป็นไปตามปกติ”
(5) นอกจากนี้ “สร” ยังแปลว่า ระลึกถึง (remembering); ไป, เคลื่อนไหว, ตามไป (going, moving, following); ของเหลว, การไหล (fluid, flow)
“สร” เป็น “คำพ้องรูป” ในภาษาบาลี คือเขียนเหมือนกัน แต่ความหมายต่างกัน
ในที่นี้ “สร” ใช้ในความหมายตามข้อ (2) คือหมายถึง เสียง โดยเฉพาะอยางยิ่ง-เสียงคน
การประสมคำ :
๑ วิมล + สร = วิมลสร แปลว่า “เสียงที่ปราศจากมลทิน” หมายถึง เสียงแจ่มใส ไม่แหบพร่า
๒ สิลิฐ + สร = สิลิฐสร แปลว่า “เสียงที่ต่อเนื่องกันไป” หมายถึง เสียงราบรื่น สละสลวย
“วิมลสรสิทธิ์” มีความหมายว่า “ผู้มีความสำเร็จด้วยเสียงอันแจ่มใส”
“สิลิฐสรคุณ” มีความหมายว่า “ผู้มีคุณคือเสียงอันสละสลวย”
ความหมายดังแสดงนี้ย่อมเป็นคุณสมบัติประจำสถานะ “พระครูคู่สวด” ด้วยประการฉะนี้
อ่านอย่างไร :
นามพระครูฐานานุกรมคู่นี้ ถ้าอ่านตามหลักคำสมาสสนธิ –
“วิมลสรสิทธิ์” ต้องอ่านว่า วิ-มน-ละ-สอ-ระ-สิด
“สิลิฐสรคุณ” ต้องอ่านว่า สิ-ลิด-ถะ-สอ-ระ-คุน
แต่คนส่วนมากคงจะอ่านตามสะดวกปาก คือ –
“วิมลสรสิทธิ์” อ่านว่า วิ-มน-สอ-ระ-สิด
“สิลิฐสรคุณ” อ่านว่า สิ-ลิด-สอ-ระ-คุน
อ่านอย่างนี้ฟังดูกระชับและกระฉับกระเฉงไปอีกแบบ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: กิ่งก้านย่อมยังพฤกษาให้มีร่มเงางามตระการ
: บริษัทบริวารย่อมยังผู้นำให้งามสง่า
—————
น้อมถวายมุทิตาสักการะ “พระครูสิลิฐสรคุณ” (วีรยุทธ สุธมฺโม) เลขานุการเจ้าคณะจังหวัดราชบุรี (ธรรมยุต) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอมรินทราราม อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี
#บาลีวันละคำ (3,029)
27-9-63