บาลีวันละคำ

อิสรเสรี (บาลีวันละคำ 1,886)

อิสรเสรี

มีทั้งของแท้และของเทียม

อ่านว่า อิด-สะ-หฺระ-เส-รี

แยกคำเป็น อิสร + เสรี

(๑) “อิสร

บาลีเป็น “อิสฺสร” (อิด-สะ-ระ) รากศัพท์มาจาก –

1) อิ (ตัดมาจาก “อิฏฺฐ” = น่าปรารถนา) + อสฺ (ธาตุ = มี, เป็น) + อร ปัจจัย, ซ้อน สฺ ระหว่าง อิ + อสฺ

: อิ + สฺ + อสฺ = อิสฺส + อร = อิสฺสร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มี คือผู้เกิดในภูมิที่น่าปรารถนา” (อยากมี อยากเป็น อยากได้อะไร สมปรารถนาทั้งหมด ไม่มีใครขัดขวาง)

2) อิสฺสฺ (ธาตุ = เป็นใหญ่) + อร ปัจจัย

: อิสฺส + อร = อิสฺสร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นใหญ่

3) อีสฺ (ธาตุ = ครอบงำ) อร ปัจจัย, ซ้อน สฺ ระหว่าง อีสฺ + อร, รัสสะ อี ที่ อี-(สฺ) เป็น อิ (อีสฺ > อิสฺ)

: อีส > อิสฺ + สฺ + อร = อิสฺสร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ครอบงำ” หมายถึงปกครอง

อิสฺสร” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ผู้เป็นเจ้า, ผู้ปกครอง, ผู้เป็นนาย, หัวหน้า (lord, ruler, master, chief)

(2) พระเจ้าผู้สร้างโลก, พระพรหม (creative deity, Brahmā)

อิสฺสร” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้ว่า “อิสร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“อิสร-, อิสระ : (คำวิเศษณ์) เป็นใหญ่, เป็นไทแก่ตัว, เช่น อิสรชน, ที่ปกครองตนเอง เช่น รัฐอิสระ, ไม่ขึ้นแก่ใคร, ไม่สังกัดใคร, เช่น อาชีพอิสระ นักเขียนอิสระ.น. ความเป็นไทแก่ตัว เช่น ไม่มีอิสระ แยกตัวเป็นอิสระ. (ป. อิสฺสร; ส. อีศฺวร).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า อิสฺสร > อิสระ ตรงกับสันสกฤตว่า “อีศฺวร

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

อีศฺวร : (คำนาม) พระอีศวรเปนเจ้า, พระเจ้า; ศัพท์นี้ใช้หมายความถึงเทพดาต่างๆ ทั่วไป; ‘īśvara’ the supreme ruler of the universe, God; this word is applied to all the different divinities.”

(๒) “เสรี

รากศัพท์มาจาก (ตัดมาจาก “สก” (สะ-กะ) = ของตนเอง) + อิ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อี ปัจจัย, แผลง อิ เป็น เอ, ลง อาคมระหว่าง อิ ธาตุ + อี ปัจจัย (อิ + + อี)

: + อิ > เอ = เส + + อี = เสรี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีความเป็นไปด้วยตนเองเป็นปกติ” หมายถึง ตามใจตัวเอง, เป็นอิสระ, ตามใจชอบ (self-willed, independent, according to one’s liking)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เสรี : (คำวิเศษณ์) ที่ทำได้โดยอิสระ, มีสิทธิที่จะทําจะพูดได้โดยไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น. (ป.; ส. ไสฺวรินฺ).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “เสรี” สันสกฤตเป็น “ไสฺวรินฺ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ไสฺวรินฺ : (คำนาม) อวินีตวธู; ชาริณี; พันธกี; an unchaste wife; an adulteress; – (คำวิเศษณ์) ถือแต่ใจของตนเปนใหญ่หรือแล้วแต่ใจตนเอง; self-willed.”

อิสร + เสรี = อิสรเสรี แปลว่า เป็นใหญ่ในตัวเองและทำสิ่งใดๆ ได้ตามใจ

เป็นการนำเอาคำว่า “อิสร” กับ “เสรี” มาพูดรวมกันเป็น “อิสรเสรี

คำว่า “อิสรเสรี” ไม่มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

…………..

อภิปราย :

มนุษย์ทั่วไป ทั้งโดยส่วนตัวและที่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ ย่อมต้องการมีอิสรเสรี คือต้องการเป็นใหญ่ในตัวเอง ไม่ตกอยู่ใต้คำบงการของใครใด และต้องการทำอะไรที่อยากทำหรือไม่ต้องทำอะไรที่ไม่อยากทำได้ด้วยตัวเอง ไม่มีใครหรือกฎเกณฑ์ใดๆ มาบังคับ

ถ้าเป็นได้ทำได้ดังว่านี้ มนุษย์ก็เข้าใจว่าตนมีอิสรเสรี

ทั้งๆ ที่กำลังตกอยู่ใต้อำนาจบงการของความอยากและความไม่อยากอยู่แท้ๆ มนุษย์กลับเข้าใจว่าตนมีอิสรเสรี!

แง่คิดที่ได้จากพระศาสนาบอกว่า นั่นเป็นเพียงอิสรเสรีเทียมๆ อิสรเสรีแท้ๆ ต้องอยู่เหนือไปกว่านั้น

…………..

ดูก่อนภราดา!

อิสรเสรีที่แท้จริงนั้นหามีไม่ จนกว่า…

: เมื่อใด สรรพกิเลสละลายหายห่างจากดวงจิต

: เมื่อนั้น ชีวิตจึงจะเป็นอิสรเสรีที่แท้จริง

8-8-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย