บาลีวันละคำ

โรหิต – โลหิต (บาลีวันละคำ 3,063)

โรหิตโลหิต

เขียนผิดหรือมีภูมิ?

(๑) “โรหิต” ภาษาไทยอ่านว่า โร-หิด บาลีอ่านว่า โร-หิ-ตะ รากศัพท์มาจาก –

(1) รุหฺ (ธาตุ = เกิด) + ปัจจัย, ลง อิ อาคมระหว่างธาตุกับปัจจัย (รุหฺ + อิ + ), แผลง อุ ที่ รุ-(หฺ) เป็น โอ (รุหฺ > โรห)

: รุหฺ + อิ + = รุหิต > โรหิต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นตามปกติ” หมายถึง เลือด (blood); สีแดง (red)

(2) โรหิต (สีแดง) + ปัจจัย, ลบ

: โรหิต + = โรหิตณ > โรหิต แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่มีสีน้ำตาลแดง” หมายถึง ละมั่ง; ปลาตะเพียน (ปลาตะเพียนแดง)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน เก็บคำว่า “โรหิต” ไว้ 2 คำ บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

(1) โรหิต : (คำนาม) พระอาทิตย์; มฤค; the sun; a deer, a doe.

(2) โรหิต : (คำวิเศษณ์) อันมีสีแดง; of a red colour, red; – (คำนาม) โรหิมัตสยา; มฤคชนิดหนึ่ง; ต้นพฤกษ์; ธนูของพระอินทร์ (อันมิได้โก่งและมนุษย์แลไม่เห็น); หญ้าฝรั่น; โลหิต; the Rohi fish; a kind of deer; a tree; Indra’s bow (unbent and invisible to mortals; safflower; blood.

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลและขยายความ “โรหิต” ไว้ว่า –

red, as attribute of fishes (i. e. a special kind of fish), and of deer (i. e. a special kind of deer). Otherwise only in standing term rohitamaccha the “red fish,” viz. Cyprinus Rohita, which is freq. mentioned in the “Jātaka” literature.

(มีสีแดง, เป็นคำแสดงลักษณะของปลา [คือ ปลาอย่างพิเศษชนิดหนึ่ง], และกวาง [คือ กวางพิเศษชนิดหนึ่ง], มิฉะนั้นเป็นเพียงคำประจำ โรหิตมจฺฉ “ปลาแดง”, กล่าวคือ ปลาตะเพียน ที่กล่าวย้ำไว้บ่อย ๆ ในวรรณคดีชาดก)

(๒) “โลหิต

ภาษาไทยอ่านว่า โล-หิด บาลีอ่านว่า โล-หิ-ตะ รากศัพท์มาจาก รุหฺ (ธาตุ = เกิด) + ปัจจัย, ลง อิ อาคมระหว่างธาตุกับปัจจัย (รุหฺ + อิ + ),แผลง อุ ที่ รุ-(หฺ) เป็น โอ แล้วแปลง เป็น (รุหฺ > โรห > โลห)

: รุหฺ + อิ + = รุหิต > โรหิต > โลหิต แปลตามศัพท์ว่า “ของเหลวที่เกิดอยู่ในร่างกายโดยกระจายไปทั่ว” (รุหติ สรีเร พฺยาปนวเสนาติ โลหิตํ)

โลหิต” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) (เป็นคำนาม) เลือด (blood)

(2) (เป็นคุณศัพท์) แดง (red)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “โลหิต” ในสันสกฤตไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

โลหิต : (คำนาม) เลือด; สีแดง; ดาวอังคาร; มฤคชนิดหนึ่ง; งู; นรเทพ; blood; a red colour; the planet Mare; a sort of deer; a snake; a demi-god; – (คำวิเศษณ์) มีสีแดง; red.”

อภิปราย :

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้ทั้ง “โรหิต” และ “โลหิต” บอกไว้ดังนี้ –

(1) โรหิต : (คำนาม) โลหิต, เลือด. (คำวิเศษณ์) สีแดง. (ป., ส.).

(2) โลหิต : (คำนาม) เลือด. (คำวิเศษณ์) สีแดง, โรหิต ก็ว่า. (ป., ส.).

โปรดสังเกตว่า ที่คำว่า “โรหิต” พจนานุกรมฯ บอกความหมายแรกว่า “โลหิต” แต่ที่คำว่า “โลหิต” บอกความหมายแรกว่า “เลือด”

นั่นหมายความว่า สิ่งที่เรียกในภาษาไทยว่า “เลือด” หรืออังกฤษเรียกว่า blood นั้น ถ้าใช้คำบาลีสันสกฤตเราเขียนว่า “โลหิต” (ล ลิง) ไม่ใช่ “โรหิต” (ร เรือ)

แต่ใครจะเขียนเป็น “โรหิต” (ร เรือ) ก็ได้ แต่เขียนแบบนี้แล้วท่านก็บอกว่า ก็คือ “โลหิต” (ล ลิง) นั่นเอง แล้วจึงบอกทีหลังว่า คือ “เลือด”

พูดสนุกๆ ก็คือ ในภาษาไทยต้องแปล “โรหิต” (ร เรือ) ว่าหมายถึง “โลหิต” (ล ลิง) ก่อน แล้วจึงแปล “โลหิต” ว่า “เลือด” อีกทีหนึ่ง แต่ถ้าเขียนเป็น “โลหิต” (ล ลิง) ก็แปลว่า “เลือด” ได้เลย

และโปรดสังเกตด้วยว่า พจนานุกรมฯ ท่านไม่ได้บอกว่า “โลหิต” คือ “โรหิต” เพียงแต่บอกว่า “โรหิต ก็ว่า”

ถ้าคิดสนุกๆ เข้าข้างพจนานุกรมฯ ก็เหมือนท่านจะบอกว่า คำนี้ใครจะอุตริเขียนเป็น “โรหิต” ก็ได้ ไม่ผิดหรอก แต่ในเมื่อสิ่งที่หมายถึง “เลือด” เขาเขียนว่า “โลหิต” กันทั้งบ้านทั้งเมือง แล้วจะต้องเขียนเป็น “โรหิต” ให้แปลกไปกว่าชาวบ้านเพื่อจะแสดงคุณวิเศษหรือเพื่อเหตุอันใดกันเล่า

…………..

ดูก่อนภราดา!

ภาพประกอบสะกดคำที่หมายถึง “เลือด” เป็น “ความดันโรหิต

: เป็นเพราะเขียนผิด

: หรือตั้งใจจะแสดงภูมิ?

#บาลีวันละคำ (3,063)

31-10-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย