กฎหมาย (บาลีวันละคำ 3,064)
กฎหมาย
บาลีว่าอย่างไร
คำว่า “กฎ” เป็นภาษาอะไร?
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ที่คำว่า “กฎ” ว่า – “(เทียบ ข. กต่ ว่า จด)” หมายความว่า คำว่า “กฎ” นี้เทียบได้กับคำเขมรว่า “กต่” แปลว่า จด
ที่ว่าเทียบได้กับคำเขมร ก็ไม่ได้หมายความว่า “กฎ” เป็นภาษาเขมร เพียงแต่เทียบได้กับคำเขมรว่า “กต่” เท่านั้น เขมรจะเอาคำว่า “กต่” มาจากภาษาอะไร หรือเป็นคำเขมรเองแท้ๆ ก็ต้องสืบค้นกันต่อไป
รูปคำ “กฎ” (ฎ ชฎา) ถ้าเทียบเป็นบาลีก็เท่ากับ “กฏ” (ฏ ปฏัก) เช่นในคำว่า “ทุกฺกฏ” (ทุ + กฺ + กฏ) (ทุก-กะ-ตะ) แปลว่า “กรรมที่ทำไม่ดี” เป็นชื่ออาบัติอย่างเบาของภิกษุ
“-กฏ” ก็คือ “-กต” ที่แปลว่า “ทำแล้ว” แปลง ต (ต เต่า) เป็น ฏ (ฏ ปฏัก)
ถ้าจะลากเข้าวัด “กฎ” อาจมาจากคำบาลีว่า “กต” ก็เป็นได้
แต่ “กฎหมาย” ไม่ใช่คำบาลีแน่ ถ้าเช่นนั้นคำที่หมายถึง “กฎหมาย” ภาษาบาลีว่าอย่างไร
วิธีการของผู้เขียนบาลีวันละคำคือ แปลคำว่า “กฎหมาย” เป็นภาษาอังกฤษก่อน แล้วไปดูพจนานุกรมอังกฤษ-บาลี ที่ต้องทำเช่นนี้เพราะในวงการบาลีบ้านเรายังไม่มี พจนานุกรมไทย-บาลี ที่ยอมรับกันเป็นมาตรฐาน
(นี่เป็นอีกงานหนึ่งที่คณะสงฆ์ไทยน่าทำ เรามี “กองบาลีสนามหลวง” มานานนักหนา แต่ไม่เคยคิดจะทำพจนานุกรมไทย-บาลี ฉบับคณะสงฆ์ไทย จะต้องกระตุ้นกันอย่างไรหนอท่านจึงจะคิด
อนึ่ง ท่านผู้ใดมีข้อมูลที่ต่างไปจากที่กล่าวนี้ เช่น มีผู้ทำพจนานุกรมไทย-บาลี สำเร็จแล้ว มีอยู่ที่นั่นที่นี่ ขอความกรุณาแจ้งให้ทราบด้วย จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง)
ตามที่ยอมรับกันทั่วไป คำว่า “กฎหมาย” ตรงกับภาษาอังกฤษว่า law
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล law เป็นบาลีดังนี้ :
(1) nīti นีติ (นี-ติ) = แบบแผน
(2) paññatti ปญฺญตฺติ (ปัน-ยัด-ติ) = บทบัญญัติ
(3) vavatthā ววตฺถา (วะ-วัด-ถา) = ข้อกำหนด
(4) sikkhā สิกฺขา (สิก-ขา) = บทฝึก
(5) āṇā อาณา (อา-นา) = ข้อบังคับ, คำสั่ง, อำนาจ
(6) niyoga นิโยค (นิ-โย-คะ) = ข้อบังคับ
ทั้ง 6 คำนี้ หลายคำเรารู้จักกันดี เช่น –
“นีติ” คือที่เราใช้ในภาษาไทยเป็น “นิติ” เช่น นิติศาสตร์ ก็แปลว่า “วิชากฎหมาย” ตรงตัว
“ปญฺญตฺติ” คือที่เราใช้ในภาษาไทยว่า “บัญญัติ” เช่น พระราชบัญญัติ
“สิกฺขา” คือที่เราใช้ว่า “ศึกษา” แต่ “ศึกษา” ของเรามักเข้าใจกันในระดับเรียนรู้ทฤษฎี ส่วน “สิกฺขา” ในบาลีหมายถึงบทฝึกปฏิบัติจริง (study, training, discipline) ภาษาธรรมนิยมใช้คำบาลีตรงตัว เช่น ไตรสิกขา
“อาณา” เราก็เอามาใช้ตรงตัว เช่น อาณาเขต ตามตัวแปลว่า “เขตที่อยู่ในอำนาจ”
ที่เราไม่คุ้นในภาษาไทยก็คือ “ววตฺถา” และ “นิโยค” แต่ถ้าดูพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ก็น่าจะช่วยให้เข้าใจความหมายได้พอสมควร
“ววตฺถา” แปลเป็นอังกฤษว่า determination, resolution, arrangement, fixing, analysis (การตกลงใจ, ความตั้งใจ, การจัดแจง, การกำหนด, การวิเคราะห์)
“นิโยค” แปลเป็นอังกฤษว่า command, order; necessity (บังคับ, สั่ง, ความจำเป็น)
คำว่า “กฎหมาย” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ดังนี้ –
(๑) (คำที่ใช้ในกฎหมาย) (คำนาม) กฎเกณฑ์ที่ผู้มีอำนาจตราขึ้นเพื่อใช้บังคับบุคคลให้ปฏิบัติตามเป็นการทั่วไป ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามย่อมได้รับผลร้าย
(๒) (คำโบราณ) (คำกริยา) จดบันทึกไว้เป็นหลักฐาน
(๓) (คำกริยา) ออกหมายกำหนด
(๔) (คำกริยา) ตราสั่ง (คือออกคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร)
(๕) (คำกริยา) กำหนดขีดขั้น
อนึ่ง คำว่า “กฎหมาย” “กฎ-” ใช้ ฎ ชฎา ไม่ใช่ ฏ ปฏัก
…………..
ดูก่อนภราดา!
: กฎหมายอาจลงโทษคนที่ไม่ได้ทำผิด
: แต่นรกไม่เคยลงโทษคนที่ไม่ได้ทำบาป
#บาลีวันละคำ (3,064)
1-11-63