บาลีวันละคำ

โบราณคดี (บาลีวันละคำ 3,141)

โบราณคดี

ควรจะรวมเอาภาษาบาลีเข้าไว้ด้วยหรือไม่

คำนี้ พจนานุกรมฯ บอกว่า –

อ่านว่า โบ-ราน-นะ-คะ-ดี ก็ได้ (มี -นะ- ด้วย)

อ่านว่า โบ-ราน-คะ-ดี ก็ได้ (ไม่มี -นะ-)

แต่ผู้เขียนบาลีวันละคำขอร้องว่า อย่าอ่านว่า โบ-ราน-คะ-ดี (ไม่มี -นะ-) เลย เพราะเป็นการอ่านแบบ “รักง่าย” ควรอ่านว่า โบ-ราน-นะ-คะ-ดี (มี -นะ- ด้วย) ซึ่งเป็นการอ่านที่ถูกต้องตามหลักภาษา

ประกอบด้วยคำว่า โบราณ + คดี

(๑) “โบราณ

รูปเดิมในบาลีเป็น “ปุราณ” (ปุ-รา-นะ) รากศัพท์มาจาก “ปุร” (ปุ-ระ) แปลว่า ก่อน (before), ข้างหน้า (in front of) + เป็นปัจจัย, ทีฆะสระหน้า คือ อะ ที่ (ปุ)- เป็น อา (ปุร > ปุรา), แปลง ( หนู) เป็น ( เณร), แผลง อุ ที่ ปุ– เป็น โอ (ปุร > โปร)

: ปุร + = ปุรน > ปุราน > ปุราณ > โปราณ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่มีอยู่แต่เก่าก่อนหรือในกาลก่อน

มีสูตรในการหาความหมายว่า – “ปุรา ปุเร วา ภโว ปุราโณ” แปลว่า “สิ่งที่มีมาแต่เก่าก่อน หรือมีอยู่ในกาลก่อน ชื่อว่า ปุราณ

ในบาลีมีทั้งรูป “ปุราณ” และ “โปราณ” ใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) บุคคล, สิ่งของ, เรื่องราว, กาลเวลา ที่เกิดขึ้น-มีมาแล้วในอดีต (ตรงกับความหมายที่เข้าใจกันในภาษาไทย)

(2) สิ่งที่ถูกใช้งานมาแล้ว (ไม่ว่าจะยังใช้ได้อยู่หรือใช้ไม่ได้อีกแล้วก็ตาม)

(3) ผู้ที่เคยเป็น หรืออยู่ในตำแหน่งฐานะใดๆ มาก่อน แต่ปัจจุบันไม่ได้เป็นแล้ว

(4) มรดก, ผลที่เกิดจากการประกอบการในอดีต (เช่น บุญเก่า)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปุราณ” ไว้ดังนี้ –

(1) ancient, past; = atītaŋ, opp. nava=paccuppannaŋ (โบราณ, อดีต; = อตีตํ, ตรงข้าม นว = ปจฺจุปฺปนฺนํ)

(2) old [of age], worn out, used [opp. nava recent] (แก่ [พูดถึงอายุ], ทรุดโทรม, ที่ใช้แล้ว [ตรงข้ามกับ นว ใหม่])

(3) former, late, old in cpds. as –dutiyikā the former wife [of a bhikkhu] (แต่ก่อน, อดีต, เก่า, ในสมาสต่างๆ เช่น -ทุติยิกา ภรรยาเก่า [ของภิกษุ])

ในภาษาไทยใช้ว่า “บุราณ” ก็มี “โบราณ” ก็มี พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) บุราณ : (คำวิเศษณ์) เก่า, ก่อน, เช่น คําบุราณท่านว่าไว้เป็นครู.

(2) โบราณ, โบราณ– : (คำวิเศษณ์) มีมาแล้วช้านาน, เก่าก่อน, เช่น อักษรโบราณ หนังสือโบราณ, เก่า, เก่าแก่, เช่น แพทย์แผนโบราณ ของโบราณ; (ภาษาปาก) ไม่ทันสมัย เช่น คนหัวโบราณ.

(๒) “คดี

บาลีเป็น “คติ” (คะ-ติ) รากศัพท์มาจาก คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ติ ปัจจัย, ลบ มฺ ที่สุดธาตุ

: คมฺ + ติ = คมติ > คติ แปลตามศัพท์ว่า “การไป” “ภูมิอันเหล่าสัตว์ต้องไป ด้วยการเข้าถึงตามกรรมดีกรรมชั่ว” “ที่เป็นที่ไป” หมายถึง ที่ไป, ที่อยู่, ที่เกิดใหม่, ภพภูมิที่จะต้องไปเกิด

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “คติ” ว่า –

(1) going, going away (การไป, การจากไป)

(2) direction, course, career (ทิศทาง, แนว, ทางไป, วิถีชีวิต)

(3) passing on (การผ่านไป)

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกความหมายของ “คติ” ไว้ดังนี้ –

(1) การไป, ทางไป, ความเป็นไป, ทางดำเนิน, วิธี, แนวทาง, แบบอย่าง

(2) ที่ไปเกิดของสัตว์, ภพที่สัตว์ไปเกิด, แบบการดำเนินชีวิต มี 5 คือ :

๑. นิรยะ = นรก

๒. ติรัจฉานโยนิ = กำเนิดดิรัจฉาน

๓. เปตติวิสัย = แดนเปรต

๔. มนุษย์ = สัตว์มีใจสูงรู้คิดเหตุผล

๕. เทพ = ชาวสวรรค์ ตั้งแต่ชั้นจาตุมหาราชิกา ถึง อกนิษฐพรหม

คติ” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) คติ ๑ : (คำนาม) การไป; ความเป็นไป. (ป.).

(2) คติ ๒ : (คำนาม) แบบอย่าง, วิธี, แนวทาง. (ป.)

บาลี “คติ” ภาษาไทยเอามาใช้เป็น “คดี” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

คดี : (คำนาม) เรื่อง, มักใช้ประกอบคําศัพท์ เช่น โบราณคดี คดีโลก คดีธรรม วรรณคดี สารคดี; (กฎ) เรื่องหรือความที่ฟ้องร้องหรือกล่าวหากันในทางกฎหมาย ซึ่งต้องดำเนินการตามกระบวนวิธีพิจารณาความตามที่กฎหมายกำหนด เช่น คดีแพ่ง คดีอาญา คดีปกครอง. (ป. คติ).”

ในที่นี้ “คดี” หมายถึง เรื่อง

โบราณ + คดี = โบราณคดี พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

โบราณคดี : (คำนาม) วิชาที่ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับโบราณวัตถุและโบราณสถาน, เดิมใช้ โบราณคดีวิทยา.”

แถม :

การศึกษาเรียนรู้ภาษาบาลีรวมทั้งคัมภีร์ต่างๆ อันรจนาไว้เป็นภาษาบาลี แม้จะเป็นเรื่องในฝ่ายภาษาและวรรณคดี แต่ในแง่หนึ่งก็ควรถือว่าเป็น “โบราณคดี” ด้วย เพราะเป็นการศึกษาเรื่องราวอันมีมาแต่กาลก่อน

เรื่องราวอันมีมาแต่กาลก่อนไม่ควรจำกัดเฉพาะ “โบราณวัตถุ” และ “โบราณสถาน” เท่านั้น

…………..

ดูก่อนภราดา!

ชาติที่มั่งคั่ง มีหวังลำเค็ญ

ก็เพราะ-

: รักษาของเดิมก็ไม่ได้

: สร้างของใหม่ก็ไม่เป็น

#บาลีวันละคำ (3,141)

17-1-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย