ยึดมั่นถือมั่น คำบาลีว่า “อุปาทาน” (บาลีวันละคำ 3,142)
ยึดมั่นถือมั่น คำบาลีว่า “อุปาทาน”
ไม่ใช่ “อุปทาน”
เวลาพูดถึงหลักธรรมในพระพุทธศาสนาที่สอนไม่ให้ยึดมั่นถือมั่น จะมีผู้นิยมเรียกการยึดมั่นถือมั่นเป็นคำบาลี เท่าที่ผู้เขียนบาลีวันละคำได้ยินพูดหรือได้เห็นเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร มักจะพูดหรือเขียนว่า “อุปทาน” อุ-ปะ-ทาน
โปรดทราบว่า คำบาลีที่หมายถึงการยึดมั่นถือมั่น คือ “อุปาทาน” อุ-ปา-ทาน ไม่ใช่ อุปทาน
“อุปาทาน” ภาษาไทยอ่านว่า อุ-ปา-ทาน หรือ อุบ-ปา-ทาน ก็ได้ บาลีอ่านว่า อุ-ปา-ทา-นะ รากศัพท์มาจาก อุป (คำอุปสรรค = เข้าไป, ใกล้) + อา (คำอุปสรรค = กลับความ) + ทา (ธาตุ = ให้) + ยุ ปัจจัย, แปลงเป็น อน (อะ-นะ)
หลักภาษา : อา คำอุปสรรค ปกติใช้นำหน้าธาตุ มีความหมายหลายอย่าง คือ ทั่ว, ยิ่ง, กลับความ ในที่นี้ใช้ในความหมายว่า “กลับความ” คือนำหน้าธาตุตัวใด ทำให้ความหมายของธาตุตัวนั้นกลายเป็นตรงกันข้าม
ในที่นี้ “ทา” ธาตุ มีความหมายว่า “ให้”
เมื่อมี อา นำหน้า เป็น “อาทา” ความหมายกลับตรงกันข้าม จาก “ให้” กลายเป็น “เอา” (รับเอา, คว้าเอา, ยึดเอา)
: อุป + อา + ทา = อุปาทา + ยุ > อน = อุปาทาน แปลตามศัพท์ว่า (1) “การเข้าไปยึดเอา” (สิ่งที่จะยึดเอาอยู่ที่ไหน จิตก็เข้าไปที่นั่นแล้วยึดติดอยู่) (2) “สิ่งที่ไฟจับเอา”
“อุปาทาน” ในบาลีใช้ในความหมาย 2 นัย คือ –
(1) อาศัย, ยึด, ยึดมั่น, ถือมั่น, เครื่องเกาะ, อุปาทาน (drawing upon, grasping, holding on, grip, attachment) นี่คือที่เราเอามาใช้ทับศัพท์ว่า “อุปาทาน”
(2) เชื้อ, เสบียง, อาหาร (fuel, supply, provision)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อุปาทาน : (คำนาม) การยึดมั่นถือมั่น, การนึกเอาเองแล้วยึดมั่นถือมั่นว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น ๆ. (ป.).”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
“อุปาทาน : ความถือมั่น, ความยึดติดถือค้างถือคาไว้ (ปัจจุบันมักแปลกันว่า ความยึดมั่น) ไม่ปล่อยไม่วางตามควรแก่เหตุผล เนื่องจากติดใคร่ชอบใจหรือใฝ่ปรารถนาอย่างแรง.”
ขยายความ :
ควรทราบด้วยว่า คำว่า “อุปทาน” ที่เอามาใช้ผิดๆ ว่าหมายถึงการยึดมั่นถือมั่นนั้น เป็นศัพท์บัญญัติทางเศรษฐศาสตร์คู่กับคำว่า “อุปสงค์”
“อุปทาน” บัญญัติจากคำอังกฤษว่า supply
“อุปสงค์” บัญญัติจากคำอังกฤษว่า demand
คำว่า “อุปทาน” ที่มีความหมายตรงกับ supply ยังไม่พบในคัมภีร์บาลี
จะพูดให้เด็ดขาดลงไปก็ได้ว่า คำว่า “อุปทาน” ที่หมายถึงการยึดมั่นถือมั่นนั้น ไม่มีในภาษาบาลี
คำว่า “อุปทาน” ที่คู่กับ “อุปสงค์” ทั้ง 2 คำนี้ก็ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
เปรียบเทียบ :
: อุป + อา + ทาน = อุปาทาน (attachment)
: อุป + ทาน = อุปทาน (supply)
อภิปราย :
เรื่องนี้ถ้าจะช่วยพูดแก้ให้ ก็พูดได้ว่า คนพูดก็ต้องการจะหมายถึง “อุปาทาน” นั่นแหละ แต่เพราะไม่เข้าใจจึงพูดเพี้ยนไปเป็น “อุปทาน” ไม่ควรจะถือเป็นเรื่องใหญ่โตถึงกับจะต้องเอามาตำหนิติติงอะไรกันนักหนา
ถ้าแก้อย่างนี้ ก็ขอให้เทียบสนุกๆ กับคำว่า “ม้า” และคำว่า “หมา” ในภาษาไทย ม้ากับหมาเป็นสัตว์ต่างชนิดกัน แต่คำ 2 คำนี้เสียงใกล้กันหรือคล้ายกัน คนไทยในบางท้องถิ่นอาจออกเสียงเพี้ยนหรือสลับกันได้ เพียงแต่ขอให้เข้าใจตรงกันเท่านั้นว่าหมายถึงสัตว์ชนิดไหน
แต่ถ้าลองแปลคำว่า “ม้า” และ “หมา” เป็นคำอังกฤษ แล้วมีคนตั้งใจจะพูดถึง “ม้า” แต่ใช้คำอังกฤษว่า dog หรือตั้งใจจะพูดถึง “หมา” แต่ใช้คำอังกฤษว่า horse เรื่องจะเป็นอย่างไร
เรื่องก็จะเป็นอย่างเดียวกับคนตั้งใจจะพูดถึงความยึดมั่นถือมั่น แต่ใช้คำบาลีว่า “อุปทาน” นั่นเอง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: จงช่วยกันแก้ไขผิดให้เป็นถูก
: อย่าช่วยกันอธิบายผิดให้กลายเป็นถูก
#บาลีวันละคำ (3,142)
18-1-64