บาลีวันละคำ

จิตเภท (บาลีวันละคำ 3,156)

จิตเภท

จิตแตกได้?

อ่านว่า จิด-ตะ-เพด

ประกอบด้วยคำว่า จิต + เภท

(๑) “จิต

บาลีเป็น “จิตฺต” (จิด-ตะ) รากศัพท์มาจาก จินฺต (ธาตุ = คิด) + ปัจจัย, ลบ นฺ ที่ จินฺตฺ (จินฺต > จิต)

: จินฺต + = จินฺตต > จิตฺต แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ทำหน้าที่คิด” (2) “สิ่งที่ทำหน้าที่รู้อารมณ์” หมายถึง จิต, ใจ, ความคิด (the heart, mind, thought)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “จิตฺต” ไว้ดังนี้ –

The heart (psychologically), i. e. the centre & focus of man’s emotional nature as well as that intellectual element which inheres in & accompanies its manifestations; i. e. thought. (หัวใจ [ทางจิตวิทยา] คือศูนย์และจุดรวมของธรรมชาติที่เกี่ยวกับความรู้สึกของมนุษย์ กับส่วนของสติปัญญาซึ่งอยู่ในการแสดงออกเหล่านั้น; กล่าวคือ ความคิด)

จิตฺต” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “จิต

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

จิต, จิต– : (คำนาม) ใจ, สิ่งที่มีหน้าที่รู้ คิดและนึก, (โบราณ เขียนว่า จิตร), ลักษณนามว่า ดวง. (ป. จิตฺต).”

(๒) “เภท

บาลีอ่านว่า เพ-ทะ รากศัพท์มาจาก ภิทฺ (ธาตุ = แตก, ทำลาย) + (อะ) ปัจจัย, แปลง อิ ที่ ภิ-(ทฺ) เป็น เอ (ภิ > เภ)

: ภิทฺ + = ภิท > เภท แปลตามศัพท์ว่า “การแตก” “การทำให้แตก

เภท” ใช้ในความหมาย 2 อย่าง คือ –

(1) การทำให้แตก, การพราก, การแยกออก, ความไม่สามัคคี, ความแตกร้าว (breaking, rending, breach, disunion, dissension)

(2) ประเภท, ชนิด (sort, kind), (คำคุณศัพท์) ประกอบด้วย, เหมือน (consisting of, like)

ในที่นี้ “เภท” มีความหมายตามข้อ (1)

จิต + เภท = จิตเภท (จิด-ตะ-เพด) แปลตามศัพท์ว่า “การแตกแห่งจิต

ขยายความ :

จิตเภท” เป็นชื่อโรคจิตชนิดหนึ่ง ศัพท์บัญญัติทางแพทยศาสตร์ใช้ว่า “โรคจิตเภท” บัญญัติจากคำอังกฤษว่า schizophrenia

พจนานุกรม สอ เสถบุตร บอกคำอ่าน schizophrenia ว่า ซกีโสะฟรี-เนียะ บอกคำแปลว่า โรคจิตเสื่อมประเภท ซกีโสะฟรี-เนียะ มีอาการเก็บตัว

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (อ่านเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 20:30 น.) ที่คำว่า “โรคจิตเภท” บอกไว้ว่า คำภาษาอังกฤษ schizophrenia มาจากภาษากรีก แปลว่าการแบ่งแยกของจิตใจ

อภิปราย :

ความหมายของ “โรคจิตเภท” เท่าที่จับความได้ก็คือ –

(1) มีความคิดหรืออารมณ์ผิดแปลกกันไปในแต่ละเวลาในลักษณะที่ขัดแย้งกันเอง หรือเบี่ยงเบนไปจากความเป็นจริง หรือ –

(2) มีความคิดหรืออารมณ์ผิดแปลกจากบุคคลทั่วไป

ความหมายดังว่านี้น่าจะตรงกับคำบาลีว่า

– “วีปริต” = วิปริต (reversed, changed; equivocal; wrong, upset)

– “วิปริณาม” = แปรปรวน (reverse, vicissitude)

– “เวกลฺล” = บกพร่อง, ผิดปกติ (deficiency)

ซึ่งเป็นคนละความหมายกับ “เภท

เนื่องจากคำว่า “การแบ่งแยก” อาจมีความหมายว่า มีส่วนใหญ่อยู่ส่วนหนึ่ง แล้วมีการแยกตัวออกมาจากส่วนใหญ่ จึงเกิดปัญหาว่า ที่ว่า schizophrenia มาจากภาษากรีก แปลว่าการแบ่งแยกของจิตใจนั้น คำว่า “การแบ่งแยก” ที่ใช้คำว่า “เภท” มีความหมายตรงกับคำไหนในภาษาอังกฤษ:

breaking (การทำให้แตก)

rending (การพราก)

breach (การแยกออก)

disunion (ความไม่สามัคคี)

dissension (ความแตกร้าว)

คำว่า “จิตเภท” รูปคำชวนให้เทียบกับคำว่า “สังฆเภท” ที่แปลว่า “การแตกแห่งสงฆ์” หมายถึง “สงฆ์” คือหมู่ภิกษุเคยมีหนึ่งเดียวรวมกันอยู่ด้วยสามัคคี ต่อมาเกิดแตกสามัคคีแยกตัวออกไปเป็นหลายหมู่ อุปมาเหมือนชามหรือแก้วใบเดียวแตกเป็นหลายชิ้น

ที่ว่ามานี้เป็นแต่เพียงชวนคิดเท่านั้น มิได้มีความประสงค์จะโต้แย้งการใช้คำว่า “จิตเภท” แต่ประการใด

ถ้าจะต้องเอ่ยถึงคำที่ภาษาอังกฤษว่า schizophrenia ก็ขอให้ใช้คำว่า “จิตเภท” หรือ “โรคจิตเภท” ตามที่ได้บัญญัติศัพท์ขึ้นไว้โดยพร้อมเพรียงกันเพื่อความเป็นเอกภาพทางภาษา

มีข้อชวนคิดเล่นๆ ว่า ถ้าสมมุติว่าวิชาแต่งไทยเป็นมคธในหลักสูตรชั้นเปรียญธรรม 9 ประโยคของคณะสงฆ์ไทยออกข้อสอบกล่าวถึงโรค schizophrenia และนักเรียนแต่งเป็นบาลีโดยใช้ศัพท์ว่า “จิตฺตเภทโรโค” ซึ่งแปลตรงตัวว่า “โรคจิตเภท” ดังนี้

สนามหลวงแผนกบาลีจะยอมให้ผ่านหรือไม่?

…………..

ดูก่อนภราดา!

: รู้ตัวว่าบ้า ยังไม่บ้าแท้

: รู้ตัวว่าโง่ ยังไม่โง่แท้

#บาลีวันละคำ (3,156)

1-2-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย