บาลีวันละคำ

สนธิกำลัง (บาลีวันละคำ 1,661)

สนธิกำลัง

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2559 สื่อสำนักหนึ่งพาดหัวข่าวว่า

“ ‘ดีเอสไอ’ สนธิกำลัง ‘ตำรวจ-ทหาร’ ยึดประตูวัดธรรมกาย”

สนธิกำลัง” คืออะไร?

สนธิกำลัง” อ่านว่า สน-ทิ-กำ-ลัง

ประกอบด้วย สนธิ + กำลัง

สนธิ” เป็นคำบาลี “กำลัง” เป็นคำไทย

สนธิ” บาลีเขียน “สนฺธิ” (มีจุดใต้ ) อ่านว่า สัน-ทิ รากศัพท์มาจาก สํ + ธา

สํ” (สัง) เป็นคำอุปสรรค ตำราบาลีไทยแปลว่า “พร้อม, กับ, ดี” หมายถึง พร้อมกัน, ร่วมกัน (together)

สํ + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + อิ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น นฺ (สํ > สนฺ), “ลบสระหน้า” คือลบ อา ที่ ธา (ธา > )

: สํ > สนฺ + ธา = สนฺธา > สนฺธ + อิ = สนฺธิ แปลตามศัพท์ว่า “กิริยาอันเขาทรงไว้ร่วมกัน” > “กิริยาอันเขาเชื่อมต่อ

สนฺธิ” (อิตถีลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายว่า –

(1) การรวมกัน, การต่อกันเข้า (union, junction)

(2) รอยแยก, รอยแตก, ช่องโหว่, ช่องว่าง (breach, break, hole, chasm)

(3) ข้อต่อ, ชิ้น, เครื่องเกี่ยวโยง (joint, piece, link)

(4) การต่อเนื่องกัน, การรวมกัน (connection, combination

(5) การต่อที่ทำให้เสียงดีขึ้น, “สนฺธิ” (euphonic junction, euphony, “sandhi”)

(6) การลงรอยหรือตกลงกัน (agreement)

บาลี “สนฺธิ” สันสกฤตก็เป็น “สนฺธิ” เช่นเดียวกัน แต่ใช้ในความหมายหลายหลากกว่าบาลี

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

สนฺธิ : (คำนาม) ‘สันธิ, สนธิ,’ สมาคม, การต่อหรือรวม; ศานติสุข; รู, โพรงหรือชะวาก; อุโมง; การแบ่ง; โยนี; ภาคแห่งนาฏก; มัธยกาล; ข้ออวัยวะหรือศรีระ; อักษรสันธิ, การสนธิอักษรหรือต่อคำ (เข้าข้างน่าและหลังคำต่างๆ, หรือต่อกลางคำสมาสก็ตาม); เวลาสิ้นสุด; union, junction or combination; peace; a hole, a chasm; a mine; dividing; the vulva; a division of a drama; an interval; a joint of the body; a Sandhi, the union of letters (either at the beginning and end, or in the middle of compound terms); the period at the end of a Yuga.”

ในภาษาไทย เมื่อพูดว่า “สนธิ” มักนึกถึงในความหมายที่ว่า-เอาศัพท์ตั้งแต่ 2 ศัพท์ขึ้นไปมาเชื่อมกัน ดังที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สนธิ : (คำนาม) ที่ต่อ, การติดต่อ; การเอาศัพท์ตั้งแต่ ๒ ศัพท์ขึ้นไปมาเชื่อมเสียงให้กลมกลืนกันตามหลักที่ได้มาจากไวยากรณ์บาลีและสันสกฤต เช่น พจน + อนุกรม เป็น พจนานุกรม ราช + อุปถัมภ์ เป็น ราชูปถัมภ์ นว + อรห + อาทิ + คุณ เป็น นวารหาทิคุณ. (ป., ส.).”

สนธิ + กำลัง = สนธิกำลัง เป็นการเอาคำมาผสมกันแบบไทย อาจแปลพอเข้าใจว่า “เอากำลังมาต่อกันเข้า”

สนธิกำลัง” เป็นศัพท์ทางการทหาร (ภาษาอังกฤษว่า integration) หมายถึงการรวมกำลังตั้งแต่สองหน่วยขึ้นไปเข้าด้วยกันเพื่อภารกิจบางอย่าง โดยปกติจะเป็นหน่วยต่างเหล่าทัพ เช่นทหารบกสนธิกำลังกับทหารเรือ หรือเป็นหน่วยงานที่ต่างกระทรวงกัน เช่น พลเรือน ตำรวจ ทหาร สนธิกำลังเข้าด้วยกัน

หลักของ “สนธิกำลัง” คือ จากเดิมที่ต่างมีผู้บังคับบัญชาของตัวเองต้องมาอยู่ภายใต้ผู้บังคับบัญชาคนเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อให้มีอำนาจในการสั่งการครอบคลุมได้หมดทุกหน่วย

ในกรณีที่หน่วยต่างๆ ไปปฏิบัติการในพื้นที่เป้าหมายเดียวกัน แต่ยังคงเป็นหน่วยอิสระอยู่ภายใต้ผู้บังคับบัญชาเดิมของตน ไม่เรียกว่า “สนธิกำลัง” (integration) แต่เรียกว่า “ปฏิบัติการร่วม” (cooperation)

จำง่ายๆ : ปฏิบัติต่อเป้าหมายเดียวกัน :

สนธิกำลัง” (integration) : ต่างหน่วยมาปฏิบัติการภายใต้ผู้บังคับบัญชาคนเดียวกัน

ปฏิบัติการร่วม” (cooperation) : แต่ละหน่วยปฏิบัติการภายใต้ผู้บังคับบัญชาเดิมของตน

ถ้าจับหลักได้ ก็จะรู้ว่า หลายๆ กรณีที่สื่อใช้คำว่า “สนธิกำลัง” ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วเป็น “ปฏิบัติการร่วม

หัวใจของการ “สนธิกำลัง” ก็คือ ต้องอยู่ในระเบียบวินัยเดียวกัน และมีเป้าหมายตรงกัน

…………..

: หัวใจของการสนธิกำลังแบบพุทธ

: คือต้องมีศีลบริสุทธิ์ และปรับความเห็นให้ถูกต้องตรงกัน

21-12-59