บาลีวันละคำ

มาตุลุงฺคติตฺถาราม (บาลีวันละคำ 3,166)

มาตุลุงฺคติตฺถาราม

วัดท่ามะโอ

อ่านว่า มา-ตุ-ลุง-คะ-ติด-ถา-ราม

ประกอบด้วยคำว่า มาตุลุงฺค + ติตฺถ + อาราม

(๑) “มาตุลุงฺค

อ่านว่า มา-ตุ-ลุง-คะ รากศัพท์มาจาก มตฺต (มึน, เมา, วิงเวียน) + ลุชฺ (ธาตุ = พินาศ) + (อะ) ปัจจัย, ลบ ที่ มตฺต ออกตัวหนึ่ง แล้วทีฆะ อะ ที่ -(ต) เป็น อา (มตฺต > มต > มาต), แปลง อะ ที่ เป็น อุ (มาต > มาตุ), ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุแล้วแปลงเป็น งฺ (ลุชฺ > ลุํชฺ > ลุงฺช), แปลง เป็น (ลุงฺช > ลุงฺค)

: มตฺต + ลุชฺ = มตฺตลุชฺ + = มตฺตลุช > มตลุช > มาตลุช > มาตุลุช > มาตุลุํชฺ > มาตุลุงฺช > มาตุลุงฺค (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ต้นไม้ที่เป็นเหตุให้คนหายวิงเวียนได้

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “มาตุลุงฺค” ว่า มะงั่ว, มะนาว, มะกรูด, ส้มโอ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “มาตุลุงฺค” ว่า a citron

พจนานุกรมบาลี-ไทย-อังกฤษ แปล a citron (ที่แปลมาจาก “มาตุลุงฺค”) เป็นไทยว่า มะนาวฝรั่ง, มะงั่ว

ไม่น่าเชื่อว่า พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “มาตุลุงค์” (มา-ตุ-ลุง) ซึ่งเขียนตามคำบาลีว่า “มาตุลุงฺค” ไว้ด้วย บอกไว้ว่า –

มาตุลุงค์ : (คำนาม) มะงั่ว. (ป.).

และที่คำว่า “มะงั่ว” พจนานุกรมฯ บอกไว้ดังนี้ –

มะงั่ว : (คำนาม) ชื่อไม้ต้นขนาดเล็กชนิด Citrus ichangensis Swingle ในวงศ์ Rutaceae ผลคล้ายส้มโอ รสเปรี้ยวจัด ใช้ประสมกับขมิ้นเพื่อย้อมผ้า, มะส้าน ก็เรียก.”

เป็นอันว่า “มาตุลุงฺค” อาจเป็นไม้ผลที่เรียกว่า “ส้มโอ” ได้

(๒) “ติตฺถ

อ่านว่า ติด-ถะ รากศัพท์มาจาก ตรฺ (ธาตุ = ข้าม) + ปัจจัย, แปลง อะ ที่ -(รฺ) เป็น อิ, แปลง เป็น (ตรฺ > ติรฺ > ติตฺ)

: ตรฺ + = ตรถ > ติรถ > ติตฺถ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่เป็นเครื่องข้ามฟาก” (2) “ที่เป็นที่ข้ามฟาก” (3) “ความเห็นเป็นที่ให้สัตว์ทั้งหลายกระโดดดำผุดดำว่ายอยู่ในทิฐิหกสิบสอง

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “ติตฺถ” ว่า ท่าน้ำ, ครูอาจารย์, เหตุ, ลัทธิ, ทิฐิ, น้ำศักดิ์สิทธิ์

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ติตฺถ” ดังนี้ –

(1) a fording place, landing place, which made a convenient bathing place (สถานที่ลุยน้ำข้ามฟาก, ท่าน้ำซึ่งเป็นสถานที่อาบน้ำอย่างเหมาะเจาะ)

(2) a sect (นิกายทางศาสนา)

ในที่นี้ “ติตฺถ” ใช้ในความหมายว่า ท่าน้ำ

บาลี “ติตฺถ” ภาษาไทยใช้เป็น “ดิตถ์” ตามรูปบาลีก็มี สะกดเป็น “ดิฐ” ก็มี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ดิฐ ๒, ดิตถ์ : (คำแบบ) (คำนาม) ท่านํ้า เช่น ท่าราชวรดิฐ อุตรดิตถ์, เขียนเป็น ดิษฐ์ ก็มี เช่น กาญจนดิษฐ์. (ป. ติตฺถ; ส. ตีรฺถ).”

หมายเหตุ: “คำแบบ” หมายถึง คำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป

(๓) “อาราม

บาลีอ่านว่า อา-รา-มะ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค =ทั่วไป, ยิ่ง) + รมฺ (ธาตุ = ยินดี) + ปัจจัย, ลบ , “ทีฆะต้นธาตุ” : รมฺ > ราม

: อา + รมฺ = อารมฺ + = อารมณ > อารม > อาราม แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่มายินดี

อาราม” ในภาษาบาลีมีความหมายดังนี้ –

(1) คำนาม : สถานที่อันน่ารื่นรมย์, สวน, อุทยาน (a pleasure-ground, park, garden)

(2) คำนาม : ความยินดี, ความชอบใจ, ความรื่นรมย์ (pleasure, fondness of, delight)

(3) คำคุณศัพท์ : ชอบใจ, เพลิดเพลิน, สบอารมณ์ (delighting in, enjoying, finding pleasure in)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) อาราม ๑ : (คำนาม) วัด; สวนเป็นที่น่ารื่นรมย์. (ป., ส.).

(2) อาราม ๒ : (คำนาม) ความยินดี, ความรื่นรมย์, ความเพลิดเพลิน.

ในที่นี้ “อาราม” หมายถึง วัด

การประสมคำ :

(๑) มาตุลุงฺค + ติตฺถ = มาตุลุงฺคติตฺถ (มา-ตุ-ลุง-คะ-ติด-ถะ) แปลว่า “ท่าน้ำที่มีต้นมาตุลุงค์” ซึ่งในที่นี้หมายถึง ท่าน้ำที่มีต้นส้มโอ หรือ “มะโอ”

(๒) มาตุลุงฺคติตฺถ + อาราม = มาตุลุงฺคติตฺถาราม (มา-ตุ-ลุง-คะ-ติด-ถา-รา-มะ) แปลว่า “วัดที่มีท่าน้ำมีต้นมาตุลุงค์” คือวัดที่มีท่าน้ำมีต้นส้มโอ

มาตุลุงฺคติตฺถาราม” เขียนแบบไทยเป็น “มาตุลุงคติตถาราม” อ่านว่า มา-ตุ-ลุง-คะ-ติด-ถา-ราม แปลเป็นชื่อไทยว่า “วัดท่ามะโอ”

ขยายความ :

เว็บไซต์ของวัดท่ามะโอมีข้อมูลสรุปได้ว่า 

…………..

วัดท่ามะโอ ตั้งอยู่เลขที่ 304 บ้านท่ามะโอ ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย

วัดท่ามะโอสร้างเมื่อ พ.ศ.2437 ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยพ่อค้าไม้ชาวพม่าชื่ออูจันทร์โอง ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2440 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 17 เมตร ยาว 30 เมตร และได้ประกอบพิธีผูกพัทธสีมาเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2478

วัดท่ามะโอเป็นวัดไทยที่มีการเรียนการสอนบาลีแบบดั้งเดิมสมัยโบราณที่เหลืออยู่ไม่กี่แห่งของประเทศไทย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: บาลีเหมือนกุญแจวิเศษสบสมัย

: ถ้าไม่ใช้ไขศึกษาพระธรรมวินัยก็เหมือนเศษกุญแจ

#บาลีวันละคำ (3,166)

11-2-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย