บาลีวันละคำ

อนุโมทนามิ (บาลีวันละคำ 3,170)

อนุโมทนามิ

คำอุตริที่ไม่ควรพูดเล่น

โปรดทราบเป็นหลักความรู้ว่า คำว่า “อนุโมทนามิ” ไม่ใช่คำที่ถูกต้อง เป็นคำบาลีที่ไม่มีในภาษาบาลี คนที่รู้ภาษาบาลีจะรู้ทันทีว่าเป็นคำตลก แต่คนที่ไม่รู้ภาษาบาลีอาจพูดหรือเขียนเช่นนี้โดยซื่อ คือเข้าใจไปว่าเป็นคำบาลีที่ถูกต้อง

จึงต้องย้ำเป็นเบื้องต้นว่า “อนุโมทนามิ” ไม่ใช่คำที่ถูกต้องในภาษาบาลี

อนุโมทนามิ” เกิดขึ้นมาได้อย่างไร?

น่าจะเกิดเพราะเอาคำว่า “อนุโมทนา” กับคำว่า “อนุโมทามิ” มาพูดปนกัน

อนุโมทนา” กับ “อนุโมทามิ” เป็นคำคนละประเภท

อนุโมทนา” เป็นคำนาม (noun) ในภาษาบาลี

อนุโมทามิ” เป็นคำกริยา (verb) ในภาษาบาลี

(๑) “อนุโมทนา

บาลีเป็น “อนุโมทน” อ่านว่า อะ-นุ-โม-ทะ-นะ รากศัพท์มาจาก อนุ (คำอุปสรรค = น้อย,ภายหลัง, ตามหลัง, เนืองๆ) + มุทฺ (ธาตุ = ยินดี, ชื่นชม) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แผลง อุ ที่ มุ-(ทฺ) เป็น โอ (มุทฺ > โมท)

: อนุ + มุทฺ = อนุมุทฺ + ยุ > อน = อนุมุทน > อนุโมทน แปลตามศัพท์ในความหมายหนึ่งว่า “การพลอยยินดี

อนุโมทน” เป็นรูปนปุงสกลิงค์ ศัพท์นี้ + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ เป็น “อนุโมทนา” ก็มี

อนุโมทน” หรือ “อนุโมทนา” มีคำขยายความดังนี้ –

(1) “การชื่นชมยินดีภายหลังจากที่มีเรื่องดีๆ เกิดขึ้น”

(2) “การชื่นชมยินดีภายหลังจากที่รู้หรือเห็นคนอื่นทำความดี”

(3) “เรื่องดีๆ เกิดขึ้นก่อน รู้สึกชื่นชมยินดีตามหลังมา”

(4) “การชื่นชมยินดีอยู่เสมอๆ เมื่อเห็นคนทำดี”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อนุโมทน” ว่า –

“according to taste”, i.e. satisfaction, thanks, esp. after a meal or after receiving gifts = to say grace or benediction, blessing, thanksgiving (“ตามรสนิยม”, คือ ความชื่นชม, การขอบคุณ, โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังภัตตาหาร หรือหลังจากที่ได้รับเครื่องไทยทาน = กล่าวอนุโมทนา หรือให้พร, ประสาทพรให้, แสดงความขอบคุณ)

บาลี “อนุโมทน” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อนุโมทนา

บาลีเป็นคำนาม เอามาใช้ในภาษาไทยเป็นคำกริยา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อนุโมทนา : (คำกริยา) ยินดีตาม, ยินดีด้วย, พลอยยินดี; เรียกคําให้ศีลให้พรของพระว่า คําอนุโมทนา. (ป., ส.).”

(๒) “อนุโมทามิ

เป็นคำกริยา รากศัพท์มาจาก อนุ (คำอุปสรรค = น้อย,ภายหลัง, ตามหลัง, เนืองๆ) + มุทฺ (ธาตุ = ยินดี, ชื่นชม) + (อะ) ปัจจัยประจำหมวดธาตุ + มิ วิภัตติอาขยาตหมวดวัตตมานา อุตมบุรุษ เอกพจน์ (ประธานเป็น “อหํ” = ข้าพเจ้า), แผลง อุ ที่ มุ-(ทฺ) เป็น โอ แล้วทีฆะ อะ ที่ (มุ)-ทฺ เป็น อา (มุทฺ > โมท > โมทา)

: อนุ + มุทฺ + = อนุมุท + มิ = อนุมุทมิ > อนุโมทมิ > อนุโมทามิ แปลตามตัวว่า “ข้าพเจ้าชื่นชมยินดีด้วย” ตรงกับที่เรานิยมพูดกันว่า “ขออนุโมทนา

จะเห็นได้ว่า “อนุโมทามิ” รูปและเสียงใกล้เคียงกับ “อนุโมทนา” คนไม่รู้บาลีอาจเกิดความสับสนและเข้าใจผิดคิดว่าเป็นคำเดียวกัน

อนุโมทนา” เป็นคำที่คุ้นอยู่แล้ว จึงเอารูปและเสียงที่แปลกกันคือ “-ามิ” มาต่อท้าย “อนุโมทนา” เกิดคำใหม่เป็น “อนุโมทนามิ

ฝ่ายคนที่รู้บาลีเห็นแล้วก็คงนึกในทางขำขัน อาจมีใครบางคนหยิบยกขึ้นมาพูดเล่นเป็นคำตลกโดยไม่ได้คิดเป็นอย่างอื่น

แต่คนที่ไม่รู้บาลีก็อาจเชื่ออย่างจริงจังว่าเป็นคำที่ถูกต้อง จนถึงเข้าใจไปว่า คำแสดงความชื่นชมยินดีใช้ได้ทั้ง 2 คำ คือ “อนุโมทนา” ก็ได้ “อนุโมทนามิ” ก็ได้

และถ้าพูดกันมากเข้าจนกลายเป็นคำผิดติดปาก ดีไม่ดี “อนุโมทนามิ” อาจกลายเป็นคำถูกต้องตามความนิยม ทำนองเดียวกับ “อโรคยา ปรมาลาภา” ที่กำลังจะกลายเป็นคำที่ถูกต้องตามความนิยมอยู่ในเวลานี้

…………..

ดูก่อนภราดา!

เรียนบาลีก็เหมือนเรียนรัก

: ถ้ารู้เรียนที่จะรัก

: ก็ควรรู้รักที่จะเรียน

#บาลีวันละคำ (3,170)

15-2-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย