บาลีวันละคำ

กันทรลักษ์ (บาลีวันละคำ 3,171)

กันทรลักษ์

“ห้วยลำแสน”

อ่านว่า กัน-ทะ-ระ-ลัก

ประกอบด้วยคำว่า กันทร + ลักษ์

(๑) “กันทร

เขียนแบบบาลีเป็น “กนฺทร” อ่านว่า กัน-ทะ-ระ รากศัพท์มาจาก กํ ( = อุทก = น้ำ) + ทรฺ (ธาตุ = ทำลาย) + (อะ) ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ กํ เป็น นฺ (กํ > กนฺ)

: กํ + ทรฺ = กํทรฺ + = กํทร > กนฺทร (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนอันน้ำทำลาย

กนฺทร” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ถ้ำ, คูหา, เงื้อมเขาหรือเชิงเขา (a cave, grotto, generally, on the slope or at the foot of a mountain)

(2) หุบเขาแคบๆ, ช่องเขา, ทางน้ำไหล (a glen, defile, gully)

ในที่นี้ “กนฺทร” หมายถึง ทางน้ำไหล (gully)

บาลี “กนฺทร” สันสกฤตเป็น “กนฺทร” และ “กนฺทรา

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

กนฺทร, กนฺทรา : (คำนาม) ‘กันทร,’ ถ้ำ, คูหา; ‘ทรี, อทฺริโทฺรณี,’ ซอกเขา, ที่ราบต่ำระหว่างภูเขา; ลุ่มน้ำ, ท้องทุ่ง; ทางแคบ, ซอกทาง; ขอช้าง; ขิงแห้ง; a cave, a cavern; a glen; a valley; a defile, a narrow pass; a hook for driving an elephant with; dry ginger.”

บาลี “กนฺทร” ภาษาไทยเขียน “กันทร” พจนานุกรมฯ บอกคำอ่านว่า กัน-ทอน หมายถึงเมื่อใช้เดี่ยวๆ หรืออยู่ท้ายคำ แต่เมื่อมีคำอื่นสมาสข้างท้ายต้องอ่านว่า กัน-ทะ-ระ-

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

กันทร : (คำแบบ) (คำนาม) ถํ้า, ซอกเขา (ที่เป็นเองหรือช่างทําขึ้น). (ป., ส.).”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้ใหม่ ตัดคำในวงเล็บออก บอกเพียงว่า –

กันทร : (คำแบบ) (คำนาม) ถํ้า, ซอกเขา. (ป., ส.).”

(๒) “ลักษ์

บาลีเป็น “ลกฺข” (ลัก-ขะ) รากศัพท์มาจาก ลกฺขฺ (ธาตุ = กำหนด) + (อะ) ปัจจัย

: ลกฺขฺ + = ลกฺข (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งอันเขากำหนดไว้เพื่อยิง” (2) “สิ่งเป็นเครื่องอันเขาใช้กำหนดหมาย

ลกฺข” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เครื่องหมาย (a mark)

(2) เป้า (a target)

(3) เงินเดิมพันในการพนัน (a stake at gambling)

(4) จำนวนสูง, แสน (a high numeral, a lac or 100,000)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ลักขะ : (คำนาม) เครื่องหมาย, เป้า; จํานวนแสนหนึ่ง. (ป.; ส. ลกฺษ).”

ในที่นี้ “ลักข” หมายถึง จํานวนแสนหนึ่ง และใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “ลักษ์

กันทร + ลักษ์ = กันทรลักษ์ แปลตามประสงค์ว่า “ลำห้วยแสนหนึ่ง

ขยายความ :

…………..

กันทรลักษ์ : อำเภอ ขึ้น จ.ศรีสะเกษ ละติจูด ๑๔^0 ๓๘’.๕ เหนือ ลองจิจูด ๑๐๔^0 ๓๙’.๑ ตะวันออก ตั้งที่ว่าการที่ ต.น้ำอ้อม ทิศเหนือติดต่อกับ อ.ศรีรัตนะ และ อ.เบญจลักษ์ ทิศตะวันออกติดต่อกับ อ.ทุ่งศรีอุดม และ อ.น้ำขุ่น จ.อุบลราชธานี ทิศใต้จดทิวเขาพนมดงรักซึ่งแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา ทิศตะวันตกติดต่อกับ อ.ขุนหาญ การคมนาคมจากเมืองไปอำเภอโดยทางหลวงหมายเลข ๒๒๑ (ศรีสะเกษ-กันทรลักษ์) ระยะทาง ๖๒ กม. ทางด้านทิศใต้ซึ่งอยู่ติดต่อกับเขตแดนของประเทศกัมพูชา มีเส้นทางถนนสาย ๒๒๑ จาก อ.กันทรลักษ์ ไปถึงช่องโนนอาว ที่เส้นเขตแดน จากนั้นสามารถเดินทางไปยังปราสาทเขาพระวิหารในเขตของประเทศกัมพูชาได้

อ.กันทรลักษ์ เดิมเป็นเมือง ตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านห้วยลำแสนขึ้นเป็นเมืองกันทราลักษณ์ใน พ.ศ. ๒๔๑๐ ต่อมาในรัชกาลที่ ๕ ได้ยุบเมืองกันทราลักษณ์ลงเป็นอำเภอ ตั้งที่ว่าการอยู่บ้านปักดอง แล้วย้ายไปตั้งที่ ต.ปรือใหญ่ คือ ที่ตั้งเมืองอุทุมพรพิสัยเก่า อยู่ในเขต อ.ขุขันธ์ ภายหลังย้ายไปตั้งที่บ้านน้ำอ้อม เปลี่ยนชื่อเป็น อ.น้ำอ้อม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๑ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.กันทรลักษ์

อ.กันทรลักษ์ มี ๒๐ ตำบล คือ ๑. น้ำอ้อม ๒. กระแชง ๓. กุดเสลา ๔. ขนุน ๕. จานใหญ่ ๖. ชำ ๗. ตระกาจ ๘. ทุ่งใหญ่ ๙. โนนสำราญ ๑๐. บึงมะลู ๑๑. ภูเงิน ๑๒. ภูผาหมอก ๑๓. เมือง ๑๔. รุง ๑๕. ละลาย ๑๖. เวียงเหนือ ๑๗. สวนกล้วย ๑๘. สังเม็ก ๑๙. เสาธงชัย ๒๐. หนองหญ้าลาด

ที่มา: อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน

…………..

แถม :

คำว่า “ลักษ์” ในชื่อ “กันทรลักษ์” นี้ ถ้าฟังแต่เสียงและมองเผินๆ เพลินๆ ไป คนมักเข้าใจผิดคิดว่าเป็น “ลักษณ” เมื่อออกเสียง “ลัก” บางคนก็เลยสะกดเป็น “กันทรลักษณ์

ลักษ” (ลัก-สะ) ไม่ใช่ “ลักษณ” เป็นคนละคำคนละความหมายกัน

ลักษ” แปลว่า “แสน” หมายถึง จำนวนแสน คือเอาชื่อ “ห้วยลำแสน” มาแปลงเป็นคำบาลีว่า “กันทรลักษ์

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เรียนภาษาเป็นสื่อรู้ชื่อบ้าน

: รักถิ่นฐานเพาะรู้จักหลักภาษา

: ใครไม่รู้ชื่อบ้านเมืองมารดา

: อาจมีค่าแค่ครึ่งไม่ถึงคน!

————-

ญาติมิตรท่านใดมีภาพที่ว่าการอำเภอกันทรลักษ์ ถ้าจะกรุณานำมาลงไว้ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง – ขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้

#บาลีวันละคำ (3,171)

16-2-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย