บาลีวันละคำ

อุภโตโกฏิ (บาลีวันละคำ 2,919)

อุภโตโกฏิ

อ่านว่า อุ-พะ-โต-โก-ติ

ประกอบด้วยคำว่า อุภโต + โกฏิ

(๑) “อุภโต” (อุ-พะ-โต)

มาจาก อุภ (สอง) + โต ปัจจัย (โดย, ตาม, ข้าง)

: อุภ + โต = อุภโต แปลว่า ทั้งสอง, สองอย่าง, ทั้งสองทาง, ทั้งสองข้าง (both, twofold, in both (or two) ways, on both sides)

(๒) “โกฏิ

บาลีอ่านว่า โก-ติ รากศัพท์มาจาก กุฏฺ (ธาตุ = คด, งอ, โค้ง; ตัด) +อิณ ปัจจัย หรือ ณิ ปัจจัย, ลบ , แผลง อุ ที่ กุ-(ฏฺ) เป็น โอ (กุฏฺ > โกฏ)

: กุฏฺ + อิณ = กุฏิณ > กุฏิ > โกฏิ

: กุฏฺ + ณิ = กุฏณิ > กุฏิ > โกฏิ

โกฏิ” (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ส่วนที่คด” (2) “การนับที่ตัดการคูณด้วยสิบ” (คือเมื่อนับถึง “โกฏิ” แล้ว ก็ตัดจำนวนที่จะนับต่อไป กล่าวคือสูงสุดแค่ “โกฏิ” เท่านั้น)

คำแปลกลางๆ ของ “โกฏิ” คือ ที่สุด (the end) แต่เมื่อใช้ในบริบทที่แตกต่างกัน ความหมายอาจแตกต่างกันไป กล่าวคือ

(ก) ใช้เกี่ยวกับระยะทาง (of space) “โกฏิ” หมายถึง ส่วนปลายสุด, ยอด, ปลายแหลม (the extreme part, top, summit, point)

(ข) ใช้เกี่ยวกับเวลา (of time) “โกฏิ” หมายถึง การแบ่งเวลา, เป็นอดีตหรืออนาคต (a division of time, with reference either to the past or the future)

(ค) ใช้เกี่ยวกับจำนวน (of number) “โกฏิ” หมายถึง “ที่สุด” ของเครื่องวัด, คือ สูงสุด เช่นสังขยาที่ใช้แทนจำนวนประมาณ 100,000 (the “end” of the scale, i. e. extremely high, as numeral representing approximately the figure a hundred thousand) ความหมายนี้ก็คือที่เราพูดกันเช่น มีเงินตั้งหลายโกฏิ คือมีเงินมากที่สุด

ในที่นี้ “โกฏิ” มีความหมายตามข้อ (ก)

อุภโต + โกฏิ = อุภโตโกฏิ (อุ-พะ-โต-โก-ติ) แปลว่า “ปลายสองข้าง” ใช้เป็นคุณศัพท์หมายถึง สิ่งที่มีปลายสองข้าง จะว่าข้างไหนเป็นต้นข้างไหนเป็นปลายก็ว่าไม่ได้ เพราะเป็นปลายทั้งสองข้าง

ขยายความ :

ในทางธรรม คำว่า “อุภโตโกฏิ” ใช้เป็นคำเรียกปัญหาหรือเรื่องราวที่มีสองเงื่อนสองแง่ ดูคล้ายกับจะขัดแย้งกันถ้าไม่เห็นเหตุผล แต่ถ้าเข้าใจเหตุผลแล้วก็จะเห็นว่าไม่ขัดแย้งกันเลย คือถูกทั้งคู่ ไม่ใช่ว่าถ้าอย่างหนึ่งถูก อีกอย่างหนึ่งต้องผิด

ในคัมภีร์มิลินทปัญหา ท่านยกเอาปัญหา “อุภโตโกฏิ” ขึ้นมาสนทนากันหลายเรื่อง เช่น

(1) พระพุทธองค์ตรัสว่า พระองค์แสดงธรรมแก่พระสาวกโดยไม่ปิดบัง แต่ก็ปรากฏเรื่องที่ว่ามีพระสาวกบางองค์ทูลถามปัญหาแต่พระองค์ไม่ตอบ (เท่ากับปิดบัง)

(2) ในพระไตรปิฎกกล่าวว่า พระพุทธเจ้าเสวยภัตตาหารของนายจุนทะ แล้วเกิดอาพาธจวนจะปรินิพพาน แต่ก็กล่าวอีกว่า พระพุทธองค์ตรัสว่า บิณฑบาต 2 คราวมีผลเสมอกัน คือ คราวเสวยแล้วตรัสรู้ กับคราวเสวยแล้วปรินิพพาน ข้อที่ชวนให้เห็นว่าขัดแย้งคือ คราวหนึ่งเสวยแล้วอาพาธหนัก ส่วนอีกคราวหนึ่งเสวยแล้วตรัสรู้ จะว่ามีผลเสมอกันได้อย่างไร

(3) ในพุทธประวัติเล่าว่าพระพุทธเจ้าของเราเมื่อยังบำเพ็ญบารมีเป็นเวลาช้านานเพื่อเป็นพระพุทธเจ้าก็เพื่อจะแสดงธรรมโปรดสัตว์ แต่ก็เล่าว่า เมื่อตรัสรู้แล้ว ทรงท้อพระทัยที่จะแสดงธรรม จนท้าวสหัมบดีพรหมต้องมาทูลอาราธนา การเป็นพระพุทธเจ้าก็เพื่อโปรดสัตว์ กับการท้อพระทัยที่จะโปรดสัตว์ ขัดแย้งกัน

(4) พระพุทธเจ้าว่าทรงมีพระมหากรุณาต่อสรรพสัตว์ และทรงเป็นสัพพัญญู รู้เหตุทั้งปวง ถ้าทรงรู้ว่าให้พระเทวทัตบวชแล้วจะทำสังฆเภท (ทำสงฆ์ให้แตกกัน) ต้องตกนรกเสวยทุกข์แสนสาหัส เช่นนี้ ที่ว่าทรงมีพระมหากรุณาต่อสรรพสัตว์ก็ผิดไป แต่ถ้าไม่ทรงรู้ ข้อที่ว่าทรงเป็นสัพพัญญูรู้เหตุทั้งปวง ก็ผิดอีก

ปัญหาลักษณะเช่นนี้แหละท่านเรียกว่า “อุภโตโกฏิ” เป็นศัพท์วิชาการทางพระพุทธศาสนา แม้จะเป็นคำใหม่สำหรับพวกเรา แต่เป็นคำเก่าที่ท่านใช้มานาน

อุภโตโกฏิ” ตรงกับภาษาอังกฤษว่า dilemma

ในภาษาไทย น่าจะเป็นคำที่เราพูดกันว่า “สองแง่สองง่าม” หรือ “สองแง่สองมุม”

ความหมายในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

(1) สองแง่สองง่าม : (คำวิเศษณ์) มีความหมายตีได้เป็น ๒ นัย ทั้งความหมายธรรมดาและความหมายที่ส่อไปในทางหยาบโลน (มักใช้ในปริศนาคำทาย) เช่นนอนสูงให้นอนคว่ำ นอนต่ำให้นอนหงาย.

(2) สองแง่สองมุม : (คำวิเศษณ์) มีความหมายตีได้เป็น ๒ นัย เช่นสาบานขอให้ตายใน ๗ วัน.

…………..

แง่คิดในคำว่า “อุภโตโกฏิ” นี้ก็คือ ของสิ่งเดียวกันหรือเรื่องราวกรณีเดียวกัน บางคนมองเห็นเป็นปัญหา เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยก็เกิดโทษ แต่บางคนมองแล้วเกิดปัญญา เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยก็ทำให้เกิดประโยชน์ได้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อาศัยทรัพย์ คนโลภจึงลงไปย่อยยับอยู่ในนรก

: อาศัยทรัพย์นั่นแหละ คนมีปัญญาจึงยกจิตใจขึ้นสู่สวรรค์กระทั่งพระนฤพาน

#บาลีวันละคำ (2,919)

9-6-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *