บาลีวันละคำ

ชุณหปักษ์ (บาลีวันละคำ 3,180)

ชุณหปักษ์

อ่านว่า ชุน-หะ-ปัก

ประกอบด้วยคำว่า ชุณห + ปักษ์

(๑) “ชุณห

บาลีเป็น “ชุณฺหา” (ชุน-หา หรือเสียงที่ถูกต้อง ชุน-เหฺนีย) รากศัพท์มาจาก –

(1) ชุติ (ความงาม, ความสว่าง) + ปัจจัย, ลบสระหน้า คือ อิ ที่ (ชุ)-ติ (ชุติ > ชุต), แปลง เป็น ณฺ + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: ชุติ + = ชุติห > ชุตห > ชุณฺห + อา = ชุณฺหา แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่มีความงาม

(2) ชุติ (ความงาม, ความสว่าง) + นฺหฺ (ธาตุ = ผูก, มัด) + (อะ) ปัจจัย, ลบ ติ ที่ (ชุ)-ติ (ชุติ > ชุ), แปลง นฺ ที่ นฺ-(หฺ) เป็น ณฺ + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: ชุติ + นฺหฺ = ชุตินฺหฺ + = ชุตินฺห > ชุนฺห > ชุณฺห + อา = ชุณฺหา แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ผูกความงามของดวงจันทร์ไว้

(3) ชุณฺห (แสงจันทร์) + ณฺ ปัจจัย, ลบ + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: ชุณฺห + = ชุณฺหณ > ชุณฺห + อา = ชุณฺหา แปลตามศัพท์ว่า “ดีถีประกอบด้วยคืนที่มีรัศมีดวงจันทร์

(4) ชุตฺ (ธาตุ = สว่าง, รุ่งเรือง) + ปัจจัย, แปลง ตฺ เป็น ณฺ + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: ชุตฺ + = ชุตฺห > ชุณฺห + อา = ชุณฺหา แปลตามศัพท์ว่า “คืนที่สว่าง

ชุณฺหา” ในบาลีหมายถึง แสงจันทร์, คืนเดือนหงาย, ปักษ์ข้างขึ้น (moonlight, a moonlit night, the bright fortnight of the month)

บาลี “ชุณฺหา” ภาษาไทยใช้เป็น “ชุณห-” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

ชุณห– : (คำแบบ) (คำวิเศษณ์) ขาว, สว่าง. (ป.).”

(๒) “ปักษ์

บาลีเป็น “ปกฺข” (ปัก-ขะ) รากศัพท์มาจาก ปจฺ (ธาตุ = สุก) + ปัจจัย, แปลง จฺ ที่ ปจฺ เป็น (ปจฺ > ปกฺ)

: ปจฺ + = ปจฺข > ปกฺข (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “กาลเป็นเหตุสุกแห่งสิ่งที่เป็นอยู่” = ระยะเวลาครึ่งเดือน

ปกฺข” ยังมีรากศัพท์มาจากธาตุตัวอื่นอีกหลายนัย เพื่อเป็นการเสริมความรู้ ขอนำความหมายของ “ปกฺข” ตามนัยต่างๆ มาแสดงไว้ ดังนี้ –

(1) ด้านข้างของร่างกาย, สีข้าง, ปีก, ขนนก (side of the body, flank, wing, feathers)

(2) ปีกข้างหนึ่งของบ้าน (wing of a house)

(3) ปีกนก (wing of a bird)

(4) ด้านข้าง, ส่วน (side, party, faction)

(5) ครึ่งเดือนทางจันทรคติ, หนึ่งปักษ์ (one half of the lunar month, a fortnight)

(6) ทางเลือก, คำแถลงของฝ่ายหนึ่งที่มีต่ออีกฝ่ายหนึ่ง (alternative, statement)

(7) (คุณศัพท์) ร่วมกับ, ผู้เข้าร่วมเป็นพวก, ลูกศิษย์หรือลูกน้อง (associated with, a partisan, adherent)

(8) (ในคำว่า “หตปกฺข”) ผู้ถูกบาดเจ็บ ฯลฯ เข้าที่ข้างหนึ่ง, เป็นอัมพาตไปข้างหนึ่ง, คนพิการ (one who is struck on one side, paralysed on one side, a cripple)

บาลี “ปกฺข” สันสกฤตเป็น “ปกฺษ” เราใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “ปักษ์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายในภาษาไทยไว้ดังนี้ –

ปักษ-, ปักษ์ : (คำนาม) ฝ่าย, ข้าง, เช่น ปักษ์ใต้, กึ่งของเดือนจันทรคติ คือ เดือนหนึ่งมี ๒ ปักษ์ ข้างขึ้นเรียก ศุกลปักษ์ (แปลว่า ฝ่ายขาว หมายเอาแสงเดือนสว่าง) ข้างแรมเรียก กาฬปักษ์ (แปลว่า ฝ่ายดํา หมายเอาเดือนมืด), ครึ่งเดือน เช่น หนังสือรายปักษ์. (ส.; ป. ปกฺข).”

ชุณฺหา + ปกฺข ลบสระหน้า คือ อา ที่ ชุณฺหา (ชุณฺหา > ชุณฺห)

: ชุณฺหา + ปกฺข = ชุณฺหาปกฺข > ชุณฺหปกฺข แปลว่า “ปักษ์สว่าง” หมายถึง หนึ่งปักษ์ข้างขึ้น (one half of the (lunar) month, a fortnight)

ชุณฺหปกฺข” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ชุณหปักษ์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

ชุณหปักษ์ : (คำนาม) ข้างขึ้น. (ป. ชุณฺหปกฺข; ส. โชฺยตฺสฺนปกฺษ).”

ขยายความ :

คำในชุดที่เกี่ยวกับปักษ์หรือข้างขึ้น-ข้างแรม มี 4 คำ จับคู่กันเป็น 2 คู่ คือ –

ชุณหปักษ์” (ชุน-หะ-) ฝ่ายขาว คือข้างขึ้น คู่กับ “กัณหปักษ์” (กัน-หะ-) ฝ่ายดำ คือข้างแรม

ศุกลปักษ์” (อ่านว่า สุก-กะ-ละ-ปัก) ฝ่ายสว่าง คือข้างขึ้น คู่กับ “กาฬปักษ์” (กา-ละ-) ฝ่ายมืด คือข้างแรม

ไม่ควรสลับคู่เป็น “ชุณหปักษ์” กับ “กาฬปักษ์” หรือ “ศุกลปักษ์” กับ “กัณหปักษ์

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ชีวิตมีขึ้นลง

เหมือนเดือนคงมีขึ้นแรม

: มีสุขก็ทุกข์แซม

ประกอบแกมประกบกัน

: ยามขึ้นจงรู้เท่า

ยามลงเล่าจงรู้ทัน

: ดูใจเมื่อดูจันทร์

แล้วดูจันทร์ไว้เตือนใจ

#บาลีวันละคำ (3,180)

25-2-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย