บาลีวันละคำ

โลกุตระ (บาลีวันละคำ 3,179)

โลกุตระ

เหนือโลก

อ่านว่า โล-กุด-ตะ-ระ

ประกอบด้วยคำว่า โลก + อุตระ

(๑) “โลก

บาลี (ปุงลิงค์) อ่านว่า โล-กะ

(ก) ในแง่ภาษา

(1) “โลก” มีรากศัพท์มาจาก ลุชฺ (ธาตุ = พินาศ) + ปัจจัย แปลง เป็น แผลง อุ เป็น โอ

: ลุชฺ > ลุก > โลก + = โลกณ > โลก แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะพินาศไป

(2) “โลก” มีรากศัพท์มาจาก ลุจฺ (ธาตุ = ย่อยยับ, พินาศ) + (อะ) ปัจจัย แปลง เป็น แผลง อุ เป็น โอ

: ลุจฺ > ลุก > โลก + = โลก แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะย่อยยับไป

(3) “โลก” มีรากศัพท์มาจาก โลกฺ (ธาตุ = เห็น, ปรากฏ) + (อะ) ปัจจัย

: โลก + = โลก แปลตามศัพท์ว่า “ร่างอันเขาเห็นอยู่

(4) “โลก” มีรากศัพท์มาจาก โลกฺ (ธาตุ = ตั้งอยู่) + (อะ) ปัจจัย

: โลก + = โลก แปลตามศัพท์ว่า “ร่างเป็นที่ตั้งอยู่แห่งบุญบาปและผลแห่งบุญบาปนั้น

(ข) ในแง่ความหมาย

(1) โลก หมายถึง ดินแดน แผ่นดิน วัตถุธาตุ หรือดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง คือโลกที่เรามองเห็นและอาศัยอยู่นี้ รวมทั้งดาวดวงอื่น

(2) โลก หมายถึง สิ่งมีชีวิต เช่น คน สัตว์ เช่นในคำว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

(3) โลก หมายถึง สังคม หมู่ชน ชุมชน เช่นในคำว่า โลกติเตียน เมตตาธรรมค้ำจุนโลก

(4) โลก หมายถึง ชีวิต อันประกอบด้วยร่างกาย จิตใจ และพฤติกรรม ของแต่ละคน ที่สำนวนเก่าเรียกว่า “โลกคือกายยาววา หนาคืบ กว้างศอก”

(5) โลก หมายถึงวิสัยหรือธรรมดาของโลก เช่น เกิด แก่ เจ็บ ตาย พบ พราก ได้ เสีย อิ่ม อด สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์

(6) โลก หมายถึง ค่านิยม ความคิดจิตใจ ความประพฤติแบบหนึ่ง ที่ตรงกันข้ามกับ “ธรรม” เช่น ดื่ม กิน เที่ยว เสพสุข เป็น “โลก” สงบ สำรวม ควบคุมขัดเกลาตนเอง เป็น “ธรรม

(๒) “อุตระ”

บาลีเป็น “อุตฺตร” (อุด-ตะ-ระ) รากศัพท์มาจาก อุ (คำอุปสรรค = ขึ้น, นอก) + ตรฺ (ธาตุ = ข้าม) + (อะ) ปัจจัย, ซ้อน ตฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ

: อุ + ตฺ + ตรฺ = อุตฺตรฺ + = อุตฺตร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องข้ามขึ้นไป

อุตฺตร” ใช้เป็นคุณศัพท์ มีความหมายดังนี้ –

(1) สูงกว่า, ดีกว่า, ยอดกว่า, เหนือกว่า (higher, high, superior, upper)

(2) ทางทิศเหนือ (northern)

(3) ภายหลัง, หลังจาก, ถัดออกไป (subsequent, following, second)

(4) เกินกว่า, เหนือไปกว่า (over, beyond)

โลก + อุตฺตร = โลกุตฺตร (โล-กุด-ตะ-ระ) แปลตามศัพท์ว่า “เหนือขึ้นไปจากโลก

โลกุตฺตร” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) สูงสุดในโลก, ดีที่สุด, ดีเลิศ (the highest of the world, best, sublime)

(2) พ้นโลก, เหนือโลก, ดีเยี่ยม (beyond these worlds, supra-mundane, transcendental)

บาลี “โลกุตฺตร” ในภาษาไทยตัด ออกตัวหนึ่งตามหลักนิยม ใช้เป็น “โลกุตร-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) และ “โลกุตระ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

โลกุตร-, โลกุตระ : (คำวิเศษณ์) เหนือโลก, พ้นวิสัยของโลก, เช่น โลกุตรธรรม เรื่องโลกุตระ.”

ขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “โลกุตระ” ไว้ดังนี้ –

…………..

โลกุดร, โลกุตตระ, โลกุตระ : พ้นจากโลก, เหนือโลก, พ้นวิสัยของโลก, ไม่เนื่องในภพทั้งสาม (พจนานุกรม เขียน โลกุตร, พึงทราบอย่างนี้ทุกแห่ง); คู่กับ โลกิยะ.”

…………..

ที่คำว่า “โลกิยะ” บอกไว้ว่า –

…………..

โลกิยะ, โลกียะ, โลกีย์ : เกี่ยวกับโลก, ทางโลก, เนื่องในโลก, เรื่องของชาวโลก, ยังอยู่ในภพสาม, ยังเป็นกามาวจร รูปาวจร หรืออรูปาวจร; คู่กับ โลกุตตระ.”

…………..

คำว่า “โลกุตระ” เมื่อพูดควบกับ “โลกิยะ” หรือ “โลกีย์” มีผู้นิยมเล่นเสียงเป็น โล-กุด โล-กี

โล-กุด คือ “โลกุตระ

โล-กี คือ “โลกิยะ” หรือ“โลกีย์

คนทั่วไปมักเข้าใจว่า “โลกุตระ” ก็คือพวกที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับโลก คือไม่ยุ่งกับสังคม ปลีกตัวออกไปอยู่ต่างหาก แต่ความเป็นจริง “โลกุตระ” เป็นสภาพหรือคุณภาพของจิต เมื่ออบรมจิตถึงระดับแล้ว จิตของผู้นั้นจะพ้นจากกระแสโลก คือแม้ถูกโลกธรรมกระทบก็ไม่กระเทือน ไม่ไหวตาม หมุนตาม หรือขึ้นๆ ลงๆ ไปกับกระแสโลก

ผู้อบรมจิตถึงระดับ “โลกุตระ” ตามปกติก็ยังอยู่ในสังคมนั่นเอง ไม่ได้หลบลี้หนีหน้าไปไหน เช่นพระพุทธเจ้าและเหล่าพระอรหันตสาวกทั้งหลาย บรรลุธรรมแล้วก็ยังอยู่ในสังคม ทำงานช่วยเหลือชาวโลกอยู่ต่อไป แต่โลกไม่สามารถครอบงำหรือมีอิทธิพลเหนือท่านเหล่านั้นได้ และเมื่อล่วงลับดับขันธ์แล้วก็ไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏอีกต่อไป

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คนเหนือโลก

: ไม่ใช่คนหนีโลก

#บาลีวันละคำ (3,179)

24-2-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย