บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง การให้ค่าแก่การเรียนบาลี

การให้ค่าแก่การเรียนบาลี (๒)

————————–

อนุศาสนาจารย์และนักภาษาโบราณ

พยานแห่งการยอมรับผู้จบบาลี

……………

ถ้าจะถามว่าทำไมต้องมีการอบรมก่อนสอบ หรือติวเข้ม หรือฟังเทป

คำตอบที่ตรงที่สุดก็คือ เพื่อให้มีโอกาสสอบได้มากที่สุด

คำตอบนี้แหละที่เป็นที่มาของคำว่า-การให้ค่าแก่การเรียนบาลี

นั่นคือถ้าถามต่อไปอีกว่า ทำไมจึงต้องการสอบได้ คำตอบก็น่าจะมาจากความจริงดังที่จะยกตัวอย่างมาเล่าดังต่อไปนี้

……………

สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๑ ไทยส่งทหารไปร่วมรบในยุโรป ในกองทหารนั้นมีบุคคลที่ทำหน้าที่ “อนุศาสนาจารย์” รวมอยู่ด้วย ๑ คน ปฏิบัติหน้าที่ได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ

เมื่อเสร็จสงคราม กองทัพไทยจึงเปิดตำแหน่ง “อนุศาสนาจารย์” ขึ้นในกองทัพ เริ่มที่กองทัพบกก่อน ต่อมาก็ขยายไปถึงกองทัพเรือและกองทัพอากาศ ในเวลาต่อมาตำแหน่ง “อนุศาสนาจารย์” ยังได้ขยายออกไปถึงกรมตำรวจ และหน่วยงานพลเรือนด้วย เช่นกรมราชทัณฑ์ และกรมการศาสนาเป็นต้น

การที่ตำแหน่ง “อนุศาสนาจารย์” ขยายตัวออกไปกว้างขวางก็เพราะเป็นที่รับรู้กันว่าอนุศาสนาจารย์เรียนมาทางบาลี และเป็นที่ยอมรับว่าคนที่จบบาลีมีความสามารถในทางนี้

นอกจากหน้าที่อนุศาสนาจารย์แล้ว คนที่จบทางบาลียังมีความสามารถทำงานเกี่ยวกับภาษาโบราณได้ดีอีกด้วย ต่อมาหน่วยงานอื่นๆ ที่ต้องการคนทำงานเกี่ยวกับศีลธรรมและภาษาโบราณก็เปิดโอกาสให้คนจบทางบาลีเข้าไปทำงานด้วย เช่น กรมธรรมการ ที่กลายมาเป็นกระทรวงศึกษาธิการ กรมศิลปากร และราชบัณฑิตยสภาเป็นต้น

ได้ข้อสรุปสั้นๆ ว่า จบทางบาลีมีทางไป

……………

ต่อมา-จนถึงปัจจุบันนี้ “ทางไป” ของคนจบบาลีก็แตกแขนงออกไปอีกมากมายหลายทาง

นี่คือเหตุผลที่คนเรียนทางบาลีต้องการสอบได้

ฟังดูก็เป็นเหตุผลสามัญ ไม่ใช่เฉพาะเหตุผลของคนเรียนบาลี

เรียนอะไรก็ต้องการสอบได้กันทั้งนั้น

แต่ที่ยกมาเล่าก็เพื่อให้มองเห็นภาพที่เป็นพื้นฐาน

พื้นฐานดั้งเดิมมาจาก-คนจบบาลีมีคุณธรรมอบรมตน และสามารถอบรมคนอื่นให้มีคุณธรรมได้ด้วย ก็จึงเป็นที่ต้องการของสังคม

แต่พอเป็นที่ต้องการของสังคมแล้ว เป้าหมายก็เคลื่อนที่จาก- “มีคุณธรรม” ไปอยู่ที่- “จบบาลี”

เหมือนกับจะเป็น ซตพ. ว่า ถ้าจบบาลีก็แปลว่ามีคุณธรรม

จนถึงทุกวันนี้ ทั้งสังคม ทั้งคนเรียนบาลี ก็เล็งไปที่จุดเดียวกัน คือ “จบบาลี” จะมีคุณธรรมหรือไม่ ไม่มีใครต้องการพิสูจน์ เหมือนกับจะ-ละไว้ฐานเข้าใจ

ทำอย่างไรจึงจะจบบาลี?

อ๋อ ก็ต้องสอบได้สิ

การเรียนบาลีโดยมุ่งแต่จะสอบได้จึงมีจุดเริ่มต้นมาจากตรงนั้น ด้วยประการฉะนี้

ทุกวันนี้ จบบาลีมีทางไปที่โดดเด่นมากขึ้นหลายทาง

อนุศาสนาจารย์กับนักภาษาโบราณอาจจะกำลังกลายเป็นตำแหน่งในตำนานไปแล้วก็ได้

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๓ มกราคม ๒๕๖๔

๑๖:๒๙

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *